วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี อดีตนักการเมือง กล่าวตอนหนึ่งในงาน ‘เปลี่ยนคูหาให้เป็นประชาธิปไตย บทเรียนจากเทศถึงไทย’ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม We Watch และ ANFREL ว่า หากวัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีจุดประสงค์หลักคือต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่หากมองคะแนนจริงๆ จะพบว่า ‘เจตนารมณ์’ นั้นหายไป

สำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ ประชาชนเทคะแนนมายังฝ่ายค้านเดิม 292 เสียง อยู่ที่สองพรรค พรรคหนึ่ง 151 เสียง และอีกพรรค 141 เสียง แต่สุดท้ายมีการอ้างว่า สมการนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะมี ส.ว.จนต้องไปเลือกพรรคการเมืองของอีกฝ่าย ฉะนั้น การเลือกตั้งจึงไม่ตอบโจทย์ของประชาชน ด้วยกลไกบางอย่างที่มองไม่เห็นได้ ทำให้ 141 เสียงกับ 151 เสียงต้องแยกจากกัน

นาวาอากาศตรีศิธาตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ผลการเลือกตั้งนั้นชัดเจนว่า คะแนน ส.ส.เขต และคะแนนพรรคซึ่งไม่ตรงกัน

“สำหรับผม มีอะไรบางอย่างที่ Manipulate ได้ ตัวแปรน่าจะเป็นเรื่องการใช้เงิน และเงินน่าจะมีผลอยู่ บางพรรคใช้แค่ 3 แสนบาทต่อเขต แค่ติดป้ายหรือบริหารจัดการก็หมดแล้ว แต่สามารถชนะพรรคการเมืองที่ใช้ 60 ล้านบาทต่อเขตได้ ขณะเดียวกัน ยังมีอีกกรณี บางพรรคใช้ 60 ล้านบาท อีกพรรคหนึ่งใช้ 80 ล้านบาทต่อเขต แต่พอรวมกัน คะแนนแตกเป็น 2 ส่วน จนไปแพ้พรรคที่ใช้เงิน 3 แสนบาท อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้เงินบนโต๊ะด้วย แต่ทั้งหมดนี้อาจสรุปว่า การใช้เงินในปัจจุบันมีทิศทางไปทางที่ดี มีกลิ่นความเจริญเกิดขึ้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือ กลไกที่ขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน จนการเลือกตั้งวันนี้ ทำให้ประเทศจมไปอีก 4 ปีข้างหน้า คำถามก็คือ กว่าจะเลือกตั้งใหม่ ยังไม่รู้ว่ากลไกนี้จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือเปล่า หรือจะกลับมาเป็นอย่างเดิมอีก

ด้าน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งในรอบนี้สะท้อนว่า กระบวนการ ‘จับตา’ การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจบเร็วไป เพราะกระบวนการจริงๆ ไม่ได้จบเพียงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น แต่ยังลากยาวไปจนถึงช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นชัดคือในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนออย่างหนึ่ง และหลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจสะท้อนว่าในแง่ประชาสังคมมีพลังไม่มากพอ และสื่อเองก็มีพลังไม่มากพอ

“กระบวนการเลือกตั้งกับการตั้งรัฐบาลไม่ใช่กระบวนการเดียวกันในรอบนี้ ซ้ำเมื่อมีตั้งรัฐบาลแล้ว กลับไปลำเลิกว่าทุกพรรคมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ซึ่งทำให้การเลือกตั้งได้กลายเป็นเครื่องฟอกทำให้รัฐบาลนี้จัดตั้งได้”

พิชญ์ยังระบุด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ส่วนหนึ่งคือการย้อนยุคกลับไปในยุค พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยซ้ำ คือผลเลือกตั้งออกมาอย่างหนึ่ง มี ‘ข้อมูลใหม่’ ไปเปลี่ยนกันข้างใน จนหน้าตารัฐบาลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทว่าคนรุ่นนี้เกิดกันไม่ทัน ทั้งที่ความเป็นจริง เรื่องนี้คือย้อนยุคกลับไปยังทศวรรษที่ 1980

พิชญ์ยังประเมินด้วยว่า คนที่แพ้เลือกตั้งรอบนี้ พร้อมไปสู่การเลือกตั้งรอบต่อไป ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 โดยเงื่อนไขสำคัญก็คือ ต่อให้พรรคก้าวไกลจะชนะไปแล้ว บ้านใหญ่ก็ไม่ได้หายไปไหน และหลายพื้นที่บรรดาบ้านใหญ่ก็ยังอยู่

ขณะเดียวกัน การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ยิ่งเห็นชัดว่า บ้านใหญ่ยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้น ฉะนั้น เกมในรอบต่อไป ‘บ้านใหญ่’ จะกลับมาแน่ๆ ขณะเดียวกัน สิ่งที่ถกเถียงกันก็คือ ‘ซื้อเสียง’ ยังมีผลอยู่หรือไม่ เพราะโดยปกติ การซื้อเสียงจะมีเส้นที่นักการเมืองด้วยกันจะโวย แต่รอบนี้ เมื่อซื้อเสียงไปแล้ว คนที่ซื้อเสียงก็ไม่ได้ชนะอยู่ดี เพียงแต่บังเอิญว่าพรรคก้าวไกลชนะ การร้องเรียนจึงไม่เป็นประเด็นและไม่ใช่ประเด็น ทุกฝ่ายที่ซื้อเสียง ‘แพ้’ สุดท้ายเลยต้องเงียบกันหมด

Tags: ,