คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development กลายเป็นแนวทางพัฒนากระแสหลัก ถูกอ้างอิงในแผนยุทธศาสตร์และมีอิทธิพลต่อหน่วยงานต่างๆ ทุกระดับ และถูกนิยามไว้ในรายงานของสหประชาชาติ เมื่อปี 1987 ว่าเป็น “การพัฒนาที่สามารถตอบสนองค่อความต้องการของคนรุ่นเรา โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา” 

วันนี้ (8 มีนาคม 2567) สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เข้าร่วมปาฐกถาหัวข้อ ถอดรหัสวาทกรรม ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ บนทางแพร่งสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย ในงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ครั้งที่ 19 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันทร์

The Momentum สรุปสาระสำคัญของงานเสวนาไว้ดังนี้

(1)

สฤณีกล่าวว่า สถานการณ์การพัฒนาของไทยนอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ในหลายปีที่ผ่านมายังเลวร้ายลงในทุกมิติ เพราะการกระจุกตัวของอำนาจเศรษฐกิจการเมืองที่เรียกว่า ‘ระบอบอุปถัมภ์ผูกขาด’ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

จากรายงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทยในปี 2566 พบว่าสถานการณ์ความยั่งยืนในไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ ได้คะแนน 74.7 คะแนน ถือเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อาจฟังดูดี แต่คำถามคือ ตัวชี้วัดเหล่านี้นำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนได้จริงหรือไม่

หากเจาะลึกลงในรายละเอียดจะพบว่า 

  • จากรายงาน มีการจัดเป้าหมายให้ไทยเป็นสีแดงทั้งหมด 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายการขจัดความหิวโหย (No Poverty), เป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being), เป้าหมายระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร (Life Below Water), เป้าหมายระบบนิเวศบนบก (Life on Land) และเป้าหมายสันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions)
  • หากดูในระดับตัวชี้วัดจะเห็นว่าเป็นปัญหา และสะท้อนถึงการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เช่น ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตทางท้องถนน 32 คนต่อ 1 แสนคน (ซึ่งถือว่าสูงสุดในอาเซียน) และไทยมีสัดส่วนน้ำเสียระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ได้รับการบำบัดอย่างปลอดภัยเพียง 1 ใน 4 ของน้ำเสียทั้งหมดเท่านั้น
  • การคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิผล ประเมินจากตัวชี้วัดที่ชื่อว่า ดัชนีนิติธรรม (Rule of Law Index) จัดทำโดย World Justice Report ลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยอยู่ในอันดับ 72 ของโลกในปี 2015 มาอยู่ที่อันดับ 101 ใน 2022
  • ขณะที่สัดส่วนความเหลื่อมล้ำของไทย คนที่รวยที่สุด 10% มีรายได้เกินครึ่งหนึ่งของรายได้คนทั้งประเทศและถือครองทรัพย์สินประมาณ 3 ใน 4 ของทรัพย์สินคนทั้งประเทศ
  • ปัญหาความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่ที่ 18 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ 3 เท่า
  • ในปี 2021 มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) 43.5 ล้านกิโลกรัม ถือว่าเพิ่มสูงขึ้น 15 เท่าภายในเวลา 5 ปีจาก 2016 

สฤณีกล่าวว่า ปัญหาความไม่ยั่งยืนเหล่านี้ไม่เพียงแต่คุกคามอนาคตของลูกหลาน แต่มันยังส่งผลเสียต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศอีกด้วย อีกทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ถูกผลิตในวาทกรรมการพัฒนาแบบใด และสามารถแก้ไขปัญหาความไม่ยั่งยืนของไทยได้หรือไม่

(2)

เมื่อตัวชี้วัดกลายเป็นเป้าหมาย มันก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีอีกต่อไป

ชาร์ลส์ กูดฮาร์ต (Charles Goodhart)

สฤณียกวลีอันโด่งดังของกูดฮาร์ต พร้อมกล่าวเสริมว่า ปัญหาจะแย่กว่านั้นอีกหากไม่กำหนดการแก้ไขปัญหาจากรากสาเหตุที่แท้จริงในเป้าหมายตั้งแต่ต้น ตัวชี้วัดต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดจนอาจกลายเป็นอำนาจเผด็จการเหนือความคิดและทิศทางการกำหนดนโยบายต่างๆ เพราะว่าตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขจะทำให้เรารู้สึกว่า แค่ต้องหาทางที่ทำให้ตัวเลขดีขึ้น จนอาจละเลยเป้าหมายที่แท้จริง

สฤณีจึงชวนทุกคนดูข้อจำกัดบางแง่มุมของตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs เมื่อเทียบกับสถานการณ์จริงต่อประเด็นความยั่งยืนต่างๆ ในสังคมไทย โดยสรุปออกมาเป็น 3 เรื่องใหญ่ ดังนี้

  1. เรื่องที่ ‘ดีแล้ว’ ไม่ได้แปลว่า ‘ดีพอ’ 

ในประเด็นการกำจัดความยากจนและประเด็นการศึกษาที่มีคุณภาพ ตามรายงานประเทศไทยได้รับการจัดอยู่กลุ่มสีเขียว แต่ในความเป็นจริงหากดูที่มาและวิธีคำนวณจะพบว่า สถานะสีเขียวที่ประเทศไทยได้ ช่วยให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้น้อยมาก เพราะหากดูที่เป้าหมายการขจัดความยากจน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตกค้างมาจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่กำหนดเส้นความยากจนนานาชาติของธนาคารโลกเป็นตัวชี้วัดที่กำหนดรายได้ไว้ที่ 2.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 70 บาท ไทยไม่ได้เข้าข่ายว่าเป็นประเทศยากจนตามนิยามของธนาคารโลกมานานแล้ว

ขณะที่เป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นสีเขียว มาจากตัวชี้วัด 4 ตัว ได้แก่ 1. การศึกษาเด็กปฐมวัย 2. อัตราการจบการศึกษาระดับประถม 3. อัตราการจบการศึกษาระดับมัธยมต้น และ 4. อัตราการรู้หนังสือ 

หากดูตัวชี้วัดเหล่านี้ ไทยทำได้ในอัตราสูงอยู่แล้ว แต่ตัวชี้วัดเหล่านี้บอกได้เพียงผลสัมฤทธิ์ขั้นพื้นฐานของการศึกษาเท่านั้นซึ่งมีความสำคัญน้อยมากสำหรับประเทศรายได้ปานกลางค่อนสูง (Upper-middle income country) อย่างไทย

จะเห็นว่าเป้าหมายทั้งสองที่ไทยได้สีเขียวมีความหมายค่อนข้างน้อยที่จะใช้เป็นแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน เพราะความท้าทายของไทยไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนประเทศจากสถานะยากจนเป็นรายได้ปานกลาง แต่เป็นเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากไปเป็นประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง (Inclusive Economy)

  1. เรื่องที่ว่า ‘แย่’ หลายเรื่อง ‘แย่กว่า’ 

เนื่องด้วยบางตัวชี้วัดมีข้อจำกัดด้านเทคนิคหรือตัวชี้วัดไม่ครอบคลุมสถานการณ์ที่แท้จริง

ในประเด็น ตัวชี้วัดมีข้อจำกัดด้านเทคนิค ดูที่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) ตัวชี้วัดหลักที่ใช้ คือค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนพยายามอธิบายแล้วว่า ข้อมูลจากสภาพัฒน์มาจากการสำรวจภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ซึ่งมีข้อจำกัดทางระเบียบวิธี ทำให้ไม่สามารถสะท้อนสถานะทางการเงินของคนรวย โดยเฉพาะคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศได้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนตามตัวแปรตัวนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก

และในประเด็นตัวชี้วัดไม่ครอบคลุมสถานการณ์ที่แท้จริง ดูที่เป้าหมายสันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง ตัวชี้วัดในข้อนี้มีหลายจุดที่น่าสนใจ เช่น เหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ สัดส่วนของผู้ต้องขังในเรือนจำที่ศาลยังไม่พิพากษา มูลค่าการไหลเข้า-ออกของเงินผิดกฎหมาย จำนวนคดีฆาตกรรม การอุ้มหาย การควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งไม่สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันได้อยู่ดี 

ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้นิยามได้ว่า ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม’ ตามที่ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เคยเสนอว่า ประเทศไทยไม่เคยมีหลักนิติธรรมตามหลักสากล แต่หลักนิติธรรมของไทย แท้จริงเป็นเสื้อคลุมที่ทำให้รูปลักษณ์ของอำนาจนิยมมีความน่าเชื่อถือด้วยกฎหมายและธรรมะเท่านั้น

  1. บางเรื่องไม่ดีขึ้น ก็แค่ดึงตัวชี้วัดออก 

ตัวอย่างกรณีแบบนี้คือ เป้าหมายการรับมือ Climate Change (Climate Action) ซึ่งปีล่าสุด สถานะของไทยดีขึ้นจากสีแดงเป็นสีส้ม แต่หากดูลงในรายละเอียดจะพบว่า ผลการประเมินที่ดีขึ้นนั้นมาจากการดึงเอาตัวชี้วัดผลกระทบจากภัยพิบัติออกไป เหลือเพียงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้สถานะตามการรายงานขยับขึ้น 

ทว่าความเป็นจริง ในปัจจุบันภาวะโลกรวนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขัน ความเป็นอยู่ และการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ 

ในปี 2021 Swiss Re บริษัทประกันภัยระดับโลก ประเมินว่าประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสีย GDP กว่า 1 ใน 5 หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.0 องศาเซลเซียสภายใน 2048 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ การปรับตัวรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Adaptation) เพื่อลดความรุนแรงในหลายมิติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักอย่างผู้ที่รายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย

(3)

จากตัวอย่างที่ยกไปข้างต้น สฤณีกล่าวว่า หากยอมปล่อยให้ตัวชี้วัดเหล่านี้เป็นแนวทางการมุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืนจะทำให้มองข้ามการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการพัฒนาอย่างแท้จริงไป 

เธอเห็นว่าเป้าหมาย SDGs โดยรวมตั้งอยู่บนวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบ ‘อนุรักษนิยม’ คือเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ด้วยองคาพยพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสถาบันดั้งเดิม (Status Quo) ตั้งแต่ระดับโลก-ประเทศ-ท้องถิ่น และเชื่อว่าคุณค่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถไปด้วยกันได้กับความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อมในทุกกรณี โดยไม่จำเป็นต้องคิดถึงการแลกได้-แลกเสีย (Trade-off) ของคุณค่าทั้งสองด้านนี้

วาทกรรมลักษณะการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่มากกว่าเดิม ลำพังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกคาดหวังว่าเป็นเครื่องมือหลักเพิ่มประสิทธิภาพกับใช้ทรัพยากร เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ปลดล็อคการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

ตัวอย่างวาทกรรมแบบอนุรักษนิยม หากมองย้อนไปที่เป้าหมายย่อยการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือน หรือรายได้ต่อหัว ในกลุ่มประชากร 40% ของผู้ที่มีรายได้ต่ำสุดหรือกล่าวง่ายๆ คือ คนจนที่สุด 40%

ประเด็นคือต่อให้บรรลุเป้าหมายในข้อนี้ได้ โดยเพิ่มการเติบโตรายได้คนที่จนที่สุด 40% แต่ความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายอาจจะเลวร้ายลงก็ได้ หากว่ารายได้ของคนที่รวยที่สุดเติบโตเร็วกว่ารายได้คนที่จนที่สุด

ดังนั้น วิธีลดความเหลื่อมล้ำที่น่าจะตอบโจทย์และตรงประเด็นมากกว่า คือข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้าที่มีมาอย่างยาวนานว่าจะต้อง ‘ปฏิรูประบบภาษี’ เก็บภาษีทรัพย์สินทุกชนิดอย่างเป็นธรรมและก้าวหน้า เพิ่มอัตราภาษีที่เก็บจากเศรษฐี และลดการรั่วไหลของภาษี นำมาใช้จ่ายในมาตรการกระจายรายได้และเพิ่มความเข้มแข็งระบบสวัสดิการ นักวิชาการฝ่ายซ้ายหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบ SDGs ไม่ได้ทำความเข้าใจรากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรัง มีการเสนอว่ามีแต่แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบเสรีนิยมใหม่เท่านั้นที่เป็นไปได้ 

ยังไม่นับว่าวาระการพัฒนาแบบนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบ ‘โลกสวย’ ที่มองมนุษยชาติว่าเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ทุกประเทศสามารถเดินหน้าสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกันได้ ทั้งที่โลกนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียม

อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ได้เปิดพื้นที่ให้วาทกรรมจากฝ่ายก้าวหน้าที่เรียกร้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพราะหากมองลงไปในตัวชี้วัดกว่า 200 ตัวชี้วัด จะพบร่องรอยการต่อสู้ของฝ่ายก้าวหน้า ที่พูดถึงคำว่า ‘เสมอภาค-เท่าเทียม-เป็นธรรม-ยุติธรรม’ กว่า 17 เป้าหมายย่อยในแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในเป้าหมายย่อยถือว่ามีความพยายามช่วงชิงพื้นที่ในการต่อสู้เพื่อนิยามกำหนดวาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่เป้าหมายย่อยเหล่านี้ทุกข้อใน SDGs ที่มุ่งลดความไม่เท่าเทียมกลับไม่ปรากฎอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติล่าสุด หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สฤณีตั้งข้อสังเกตว่า รัฐไทยสมาทานวาทกรรมอนุรักษนิยมมากกว่า SDGs ด้วยซ้ำไป ซึ่งมันดูเป็นความย้อนแย้งมาก เพราะถ้านิยามของการพัฒนาที่ยั่งยืนหมายถึง การพัฒนาที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นเรา โดนไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา

ความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม แต่รัฐไทยไม่เคยเหลียวแลสิ่งเหล่านี้และปล่อยให้เลวร้ายลงอย่างมากนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาผ่านการสนับสนุนอุ้มชู ‘ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด’

(4)

สฤณีกล่าวว่า เราไม่น่าจะมีวันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หากเราไม่เผชิญหน้าหาทางออกรับมือกับความอยุติธรรม ความไม่เป็นธรรม และความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งหลายที่ยังฝังลึกอยู่ในนโยบายของรัฐและการดำเนินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่บางกลุ่ม

ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ประจักษ์​ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร มือเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เคยเสนอว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างระบอบประยุทธ์ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ฝังกลไกสืบทอดอำนาจให้กองทัพและชนชั้นนำ สร้างสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนจำนวนมาก

ระบอบประยุทธ์ในที่นี้หมายถึง ระบอบคณาธิปไตยแบบใหม่ซึ่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจถูกผูกขาดอยู่ในมือของชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่หันไปรื้อฟื้นระบบศักดินา อุปถัมภ์ มาปกครองสังคม โดยกลุ่มทุนเหล่านั้นเข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร และสถานะที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจ กีดกันไม่ให้กลุ่มทุนรายย่อยเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียมได้

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจที่จะไม่เห็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งองค์กรอิสระ (รวมไปถึงตุลาการ) ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นอิสระจริงหรือไม่

สฤณีกล่าวว่า ตนสังเกตการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ สะท้อนความเกรงใจกลุ่มทุนมากกว่าเกรงใจประชาชนในหลายกรณี

“ตราบใดที่ระบอบนี้ยังคงอยู่ เราจะไม่มีวันเบนเข็มเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ เพราะระบอบนี้ไม่แยแสความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน” สฤณีกล่าว

โดยสฤณีได้ยกตัวอย่างนโยบายที่เห็นประเทศไทยมีความพยายามที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนช้ากว่านานาประเทศ ผ่านกรณีการตั้งเป้าหมายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2050 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ของโลกด้วยซ้ำ แต่เหตุใดจึงช้ากว่าประเทศอื่น

นอกจากนั้นแล้ว บทบาทของภาคการใช้ที่ดินและป่าไม้เป็นอีกช่องทางที่ดูเหมือนจะดี แต่ว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความอยุติธรรมทางสังคม โดยเฉพาะสิทธิการอยู่กับป่าและการใช้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนรายได้น้อย 

จากเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มเป็น 120 ล้านตันคาร์บอนออกไซด์ผ่านนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 55 หรือพื้นที่ป่ากว่า 70 ล้านไร่  ภายในปี 2037 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนกว่า 4 หมื่นคดีความ

(5)

อย่างไรก็ตาม สฤณีระบุว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ แต่วาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนในกระแสหลักนี้เป็นวาทกรรมแบบ ‘อนุรักษนิยม’ ที่ไม่ได้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจแต่อย่างใดและไม่ใส่ใจมากพอต่อความอยุติธรรมต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1901-1909 เจ้าของสมญานาม ‘นักทลายทุนผูกขาด’ กล่าวว่า เผด็จการที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน 99 จาก 100 ครั้งคือเผด็จการเสียงข้างน้อยเป็นเผด็จการอภิสิทธิ์ชน 

หากมองย้อนกลับมาดูประเทศไทยก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะหาทางทลายเผด็จการเสียงข้างน้อยของอภิสิทธิ์ชน เพื่อที่จะได้ออกเดินบนเส้นทางเศรษฐกิจประชาธิปไตย

‘เศรษฐกิจประชาธิปไตย’ คือเศรษฐกิจที่ให้ความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน มากกว่าพยุงความมั่งคั่งของเศรษฐีส่วนน้อย เป็นเศรษฐกิจที่ให้อำนาจประชาชนจัดการทรัพยากรในชุมชนของตนเอง มีเสรีภาพและความเท่าเทียมในสนามการแข่งขันทางธุรกิจ และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดนโยบายของรัฐ 

“หัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การกระทำอะไรก็ตามที่พุ่งเป้าไปที่การลดความอยุติธรรมเหล่านี้ จะเท่ากับการเพิ่มระดับความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไปด้วย” สฤณีกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , ,