สิ่งหนึ่งที่ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) คนทำหนังชาวเยอรมันสำรวจเรื่อยมาผ่านภาพยนตร์ของเขา คือภาวะแหลกสลายของผู้คนและการกระเสือกกระสนใช้ชีวิตต่อไปเท่าที่จะทำได้ และสิ่งนี้ปรากฏอยู่ในหนังลำดับล่าสุดของเขาอย่าง Perfect Days (2023) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (ญี่ปุ่น-เยอรมนี) ที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนหนังจากประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม หลังหนังได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งนักแสดงนำอย่าง โคจิ ยาคุโช (Koji Yakusho) ก็คว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลนี้อีกด้วย

Perfect Days ว่าด้วยเรื่องราวอันเรียบง่ายของ ฮิรายามะ (แสดงโดย ยาคุโช) ชายที่ทำหน้าที่ขัดส้วมสาธารณะในญี่ปุ่น ชีวิตของเขาเรียบง่าย มีกิจวัตรที่แน่นอนเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่ตื่นในเวลาเดิม แปรงฟัน รดน้ำต้นไม้ แต่งตัวแล้วออกไปกดกาแฟจากตู้กดน้ำสาธารณะหน้าที่พัก ขับรถแล้วเปิดเพลงจากเทปคาสเซ็ตฟัง มุ่งหน้าไปยังห้องน้ำจุดที่ใกล้ที่สุด แล้วลงมือทำความสะอาดอย่างพิถีพิถัน เขาลงมือขัดทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่บานประตูไล่ไปจนถึงอ่างล้างหน้า ใต้ชักโครกที่ไม่มีคนก้มไปมอง หรือซอกหลืบต่างๆ ที่ไม่มีคนเห็น จากนั้นเขาจะไปกินอาหารกลางวันง่ายๆ ที่สวนสาธารณะ ถ้าเห็นอะไรสวยงาม เช่น แสงแดด ต้นไม้ หรือสัตว์เล็กๆ เขาจะถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม จากนั้นกลับมาทำงานกะบ่ายอีกหน ตกเย็นออกไปอาบน้ำพักผ่อนที่โรงอาบน้ำสาธารณะ กินอาหารร้านเดิมๆ และอ่านหนังสือก่อนจะเข้านอนอย่างเป็นสุข

“ฮิรายามะชอบดูแลผู้คน เขารักงานของเขา และชอบบรรยากาศรอบๆ ตัวด้วย เพราะอย่างที่เห็นกันว่า ห้องน้ำสาธารณะเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ มีต้นไม้ มีแดดส่อง” เวนเดอร์สว่า “เขารักต้นไม้ ความหลงใหลที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตเขาคือต้นไม้ และเขายังชอบแสงด้วย เขาถึงได้ถ่ายภาพแสงที่ลอดผ่านต้นไม้หรือตอนมันตกกระทบพื้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่างแสนจะเป็นญี่ปุ่นเหลือเกิน เขาเป็นคนที่มีความสุขนะ ได้ทำทุกอย่างที่ชอบ ได้ฟังเพลงที่อยากฟัง ทุกเย็น เขานั่งอ่านหนังสือ ไปห้องน้ำสาธารณะเพราะที่พักของเขาไม่มีห้องอาบน้ำ และเขาก็อิ่มใจกับทุกสิ่งที่เขาทำและทุกสิ่งที่เขามีด้วย”

“สำหรับฮิรายามะ คนทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครไร้ตัวตน ในสายตาของเขา เขาเองก็ไม่ใช่คนที่ไร้ตัวตนเช่นกัน ดังนั้น เขาจึงจดจำทุกๆ คนรอบตัวเขาได้ เช่นตัวละครคนไร้บ้านก็ถือเป็นคนสำคัญในสายตาของเขา เพราะฮิรายามะมองเห็นเขา และเราในฐานะคนดูก็ได้เห็นเขา ได้เห็นว่าเขาน่ามหัศจรรย์แค่ไหน ชวนให้สงสัยว่าเขามีชีวิตอันอัศจรรย์หรือเปล่า ผมเคยทำหนังเรื่อง Land of Plenty (2004) เราเข้าไปถ่ายในชุมชนที่คนไร้บ้านอยู่กัน และได้รับฟังเรื่องราวชวนหัวใจสลายมากมาย คนที่เคยเป็นศาสตราจารย์ คุณครู หรือนักศึกษามหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ลงเอยที่ข้างถนนทั้งสิ้น มันจึงไม่มีใครหรอกที่ไร้ตัวตน” เวนเดอร์สกล่าว

หากไปอยู่ในมือผู้กำกับคนอื่น Perfect Days อาจกลายเป็นหนังสายลมแสงแดดที่ว่าด้วยการ ‘มองโลกให้สวยงาม’ ของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่เมื่อมาอยู่ในมือของเวนเดอร์ส เขาก็ทำให้มันกลายเป็นหนังที่สำรวจชีวิตที่เหลือแต่ซากของมนุษย์คนหนึ่ง และการจะกอบเศษชีวิตเหล่านั้นกลับมาได้คือการลงมือทำงานบางอย่าง สร้างระเบียบชีวิตใหม่ขึ้นมา และโยนตัวเองเข้าไปในระเบียบนั้นเพื่อไม่ให้ตัวเองแหลกสลายไปเสียก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากครึ่งหลังของเรื่อง เมื่อหนังสำรวจปูมชีวิตของฮิรายามะผ่านตัวละครหลานสาว หรือการที่เขาไม่อาจหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีก การออกมาเป็น ‘คนขัดห้องน้ำ’ ถือเป็นทางเลือกที่มีความสุขที่สุดที่ฮิรายามะเลือกให้ตัวเองแล้ว

กล่าวถึง Land of Plenty อันที่จริงก็เป็นหนังที่ถูกพูดถึงค่อนข้างน้อยของเวนเดอร์ส (เทียบกับงานเรื่องอื่นๆ ของเขา) หากแต่น่าสนใจที่มันเป็นหนึ่งในหนังที่อยู่ในขบวน ‘หลังเหตุการณ์ 9/11’ เพราะถ่ายทำและออกฉายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9 กันยายน 2001 เพียงไม่กี่ปี และในเรื่องราวแสนเจ็บปวด เวนเดอร์สก็ยังมอบสายตาอ่อนโยนที่มนุษย์คนหนึ่งมีต่อเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งผ่านตัวละคร ลานา (แสดงโดย มิเชลล์ วิลเลียมส์) หญิงสาวชาวอเมริกันที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในตะวันออกกลางหลายปี และกลับมาที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เพื่อทำงานช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน พร้อมกันนั้น พอล (แสดงโดย จอห์น ดีลห์) น้าชายที่เป็นอดีตทหารจากสงครามเวียดนาม และมีภาวะเจ็บปวดกับความทรงจำเหล่านั้นอยู่ก็ตระเวนไปทั่วเมือง เก็บข้อมูลของคนอาหรับซึ่งยังใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ อย่างยากลำบากหลังเหตุวินาศกรรม เรื่องเริ่มยากลำบากเมื่อสองน้าหลานปะทะกันเรื่องทัศนคติที่มีต่อคนอาหรับ กระทั่งเมื่อทั้งคู่เป็นประจักษ์พยานการตายของเด็กชายปากีสถานคนหนึ่ง โลกของทั้งคู่ก็เปลี่ยนไป

Land of Plenty ถือเป็นหนังสกุลต่อต้านสงครามที่น่าจับตา เพราะประเด็นมันช่างหนักหน่วงและรุนแรง ทว่าเวนเดอร์สก็มีวิธีเล่าอย่างอ่อนโยน เขาหยิบจับเอาความเป็นมนุษย์จากคนที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามอย่างจอห์น, คนที่เฝ้ามองจากระยะใกล้อย่างลานา ไปจนถึงคนที่ตกอยู่ท่ามกลางวังวนความเกลียดชังอย่างคนไร้บ้าน ออกมาตีแผ่ได้อย่างมีหัวใจและฉายให้เห็นว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเดินหน้ามีชีวิตต่อไป 

และมันจะเป็นชีวิตที่พอทนได้ก็เมื่อเราต่างโอบกอดกันและกันไว้เท่านั้น

กลับมาที่ Perfect Days ก่อนหน้านี้เวนเดอร์สก็เคยสำรวจชีวิตของคนที่พังทลายมาแล้วจาก Paris, Texas (1984) หนังร่วมทุนสร้าง 4 สัญชาติ (เยอรมนีตะวันตก-ฝรั่งเศส-สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา) ที่ส่งเวนเดอร์สคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมเกรียวกราวถึงงานกำกับภาพสุดมหัศจรรย์ของ ร็อบบี มุลเลอร์ (Robby Müller) ช่างภาพชาวดัตช์ หนังเล่าถึง ทราวิส (แสดงโดย แฮร์รี ดีน สแตนตัน) ชายปริศนาที่เดินเลอะเลือนอยู่กลางทะเลทรายก่อนจะหมดสติไป ก่อนจะได้หมอคนหนึ่งช่วยรักษาร่างกายให้และถูกวินิจฉัยว่าเป็นใบ้เนื่องจากทราวิสดูสื่อสารไม่ได้เลย ถึงที่สุดหมอจึงตัดสินใจค้นกระเป๋าเงินเขาและติดต่อรายชื่อที่อยู่บนนามบัตรที่เขาพบ และกลายเป็นว่าปลายสายคือ วอลต์ (แสดงโดย ดีน สต็อกเวลล์) น้องชายของทราวิสที่ขับรถเพื่อรับพี่ชายกลับไปบ้าน หลังไม่ได้ข่าวคราวกันอยู่ 4 ปี และไม่ได้เปิดปากบอกว่าเขากับภรรยารับอุปการะ ฮันเตอร์ ลูกชายของทราวิสมาเลี้ยง เพราะนอกจากทราวิสจะหายตัวไปแล้ว เจน (แสดงโดย นัสตัสยา คินสคี) แม่ของเด็กและภรรยาของทราวิสก็หายตัวไปเช่นกัน

เวนเดอร์สเล่าเรื่องผ่านความทรงจำเลือนจางของทราวิส ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง คนดูเริ่มได้คำตอบว่าอะไรทำให้ทราวิสไปอยู่กลางทะเลทรายแล้งไร้และหายตัวไปจากครอบครัว และเป็นคำตอบด้วยอีกเช่นกันว่า ทำไมการหวนกลับมาเจออดีตของตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดอย่างยิ่งสำหรับเขา 

หากฮิรายามะหันหลังให้อดีตของตัวเอง และกอปรสร้างชีวิตที่เขาพึงมีขึ้นมาใหม่ด้วยการเป็นคนขัดห้องน้ำ ทราวิสก็เลือกหายไปในโลกไร้ทิศทางอย่างทะเลทราย และเลือกลบความจำทิ้งด้วยการเดินหายไปจนสุดขอบโลก แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าทราวิสสร้างชีวิตของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกหน แต่การเลือกเดินจากไปก็นับเป็นอีกหนึ่งทางของการกระเสือกกระสนมีชีวิตอยู่ต่อในแบบของเขา

หากจะมีหนังสักเรื่องที่ถือเป็นชิ้นโบแดงที่หากอยากรู้จักเวนเดอร์สแล้วควรหามาดูคือ Wings of Desire (1987) หนังที่ส่งเขาคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ว่าด้วยเทวทูตที่คอยดูแลเหล่ามนุษย์ พวกเขาล่องหนอยู่รอบตัวพวกเรา คอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรม เฝ้ามองมนุษย์สุข และเศร้าอยู่ห่างๆ โดยไม่เอื้อมมือมาขัดขวางหรือวุ่นวายกับกิจการใดของโลกมนุษย์ หญิงท้องแก่ใกล้คลอดบนรถพยาบาล, โสเภณีสาวที่ยืนเหม่อลอยอยู่ข้างถนน, คนที่สิ้นหวังและคนที่เปี่ยมสุข, ผู้คนนับร้อยในเบอร์ลิน, เยอรมนีหลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่อัปลักษณ์และชวนหดหู่มากที่สุดของมนุษยชาติ เทวทูตเหล่านี้เฝ้ามองดูเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่ยื่นมือไปขัดขวางหรือชี้นำ เพราะไม่ใช่กิจการพวกเขา 

ขณะที่หนังนำเสนอความเน่าเฟะของโลกตั้งแต่องก์แรกของเรื่อง ดาเมียล (แสดงโดย บรูโน กันซ์) ก็เป็นเทวทูตที่หลงใหลในตัวมนุษย์อย่างยิ่ง เขาสนใจใคร่รู้ในตัวมนุษย์ ความสลับซับซ้อนของอารมณ์ ความลุ่มหลง ความโศกเศร้า ฯลฯ ที่ผลักดันให้มนุษย์ทำทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่เลวร้าย มิหนำซ้ำ เขายังไปตกหลุมรัก มาเรียน (แสดงโดย ซอลไวก์ ดอมมาร์ติน) นักกายกรรมสาวคนหนึ่ง และทางออกเดียวที่เขาคิดออก คือการที่เขาจะสละพลังต่างๆ ของการเป็นเทวทูต ทั้งความสามารถในการล่องหน, การอ่านใจคน รวมทั้งการเป็นอมตะ เพื่อกลายเป็นมนุษย์และอยู่กินกับเธอ

เวนเดอร์สฉายภาพเบอร์ลินในแง่มุมหดหู่ ทรุดโทรมหลังสงคราม ผู้คนแหลกสลายจากความพ่ายแพ่ กระนั้น สิ่งที่ตัวละครยังมีหวังและขับเคลื่อนไปได้คือความรัก ความรู้สึกที่เชื่อมั่นสุดหัวใจว่าโลกจะดีขึ้นได้ก็เมื่อทุกคนมอบความรักให้แก่กัน และมันก็ไม่ใช่มุมมองที่ฉาบฉวย เพราะความรู้สึกเจ็บปวด ความเกลียดชังของมนุษย์ในเนื้อเรื่องเป็นของจริง เพียงแต่ทุกคน รวมทั้งดาเมียลเอง ก็ยังมีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในเมืองอันผุพัง พวกเขาเชื่อว่าสักวันมันจะกลับมาเรืองรองอีกหน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำหนังที่โอบกอดบาดแผลและสำรวจความงามเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตโดยไม่ให้มันกลายเป็นหนังสายลมแสงแดดหรือเพ้อฝัน หากแต่เวนเดอร์สทำได้ และสิ่งนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเขาไม่ได้มีสายตาอันอ่อนโยนที่พร้อมโอบรับทุกความงามเสมอมาเช่นนี้

Tags: , , , , , ,