วันนี้ (11 สิงหาคม 2565) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงการควบรวมกิจการ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TRUE) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTAC) ว่าเป็นการผูกขาดขั้นสุดที่ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าบริการและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันคนไทยต้องทำงานเฉลี่ย 2 วันครึ่ง จึงจะได้ค่าแรงเพียงพอมาจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต 

ศิริกัญญาตั้งคำถามถึงการทำงานตลอดระยะเวลา 8 ปี ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์การควบรวมการผูกขาดกิจการและส่งเสริมความร่ำรวยของเจ้าสัวหรือไม่ เพราะช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เจ้าสัวที่ร่ำรวย 50 อันดับแรกของไทย มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน จำนวนหนี้ครัวเรือนของประชาชนกลับเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเงินของประชาชนที่หายไปได้ถ่ายเทไปเป็นความร่ำรวยของเจ้าสัวหรือไม่

การที่ประเทศไทยกำลังจะมีระบบผูกขาด อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและปัญหาใหม่ที่เรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวิกฤตหลังโควิด-19 ที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น การกระจุกตัวของภาคธุรกิจกลายเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประเทศจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดการร่วมมือและแข่งขันของภาคประชาชนไปจนถึงผู้ประกอบการรายเล็ก

“กรณีควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทคที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นการผูกขาดขั้นสุดที่ประชาชนต้องแบบรับค่าบริการที่กระทบต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน กลับมีรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดนี้ออกมาพูดจาสนับสนุนการควบรวมกิจการว่าเป็นสิทธิของเอกชน ซึ่งตอนนี้มีปัญหาใหม่ล่าสุดอีกปัญหา คือการขออนุญาตควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) และบริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB)”

ศิริกัญญาตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ว่า เศรษฐกิจในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการผูกขาดของนายทุนหรือไม่ มีการกระจุกตัวของเศรษฐกิจหรือเปล่า และรัฐบาลมีนโยบายเรื่องการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันการค้าที่เป็นธรรมบ้างหรือไม่

จากการจัดอันดับของ International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งเปรียบเทียบการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและค่าครองชีพของประเทศไทย พบว่าค่าบริการของประชาชนที่ใช้แพ็กเกจน้อยๆ ไม่ได้ใช้งานมาก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 111 จาก 182 ประเทศ ส่วนแพ็กเกจที่มีการใช้บริการเยอะ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 87 จาก 179 ประเทศ หากมาดูการเปรียบเทียบราคาอินเทอร์เน็ตและค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยจะพบว่า ประชาชนในประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 25GB ต่อเดือน หากคิดจากค่าแรงขั้นต่ำในประเทศคนไทยต้องทำงานประมาณ 2 วันครึ่งถึงซื้ออินเทอร์เน็ตได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทำงานไม่ถึง 1 วันหรือมากสุดก็ทำงานเพียง 1 วันเท่านั้น

หากทรูและดีแทคควบรวมกิจการ ค่าบริการที่สูงอยู่แล้วจะสูงเพิ่มหรือไม่?

ศิริกัญญาเปิดเผยผ่านผลการศึกษาและสำรวจ 5 แห่ง ทุกผลการศึกษาชี้ชัดว่าการควบรวมกิจการจะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น ได้แก่ 

1. ผลการศึกษาจากที่ปรึกษาของทรูและดีแทค (ทรูและดีแทคจ่ายเงินเพื่อให้ทำผลการศึกษา) พบว่าหากมีการควบรวมเกิดขึ้น ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ 

2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ 

3. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่าค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 33% 

4. 101 Public Policy Think Tank กล่าวว่า หากไม่มีการฮั้วผลประโยชน์เกิดขึ้น ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23 เปอร์เซ็นต์ หากมีการฮั้ว ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 66-120 เปอร์เซ็นต์ 

5. คณะอนุกรรมการ กสทช. กล่าวว่า หากไม่มีการฮั้วผลประโยชน์เกิดขึ้น ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 2-15 เปอร์เซ็นต์ หากมีการฮั้ว ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 49-200 เปอร์เซ็นต์

“หมายความว่า หากวันนี้เราจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตจำนวน 100 บาท เราอาจต้องจ่าย 150-250 บาท หรือใครที่เคยจ่าย 300 บาท ราคาแพ็กเกจอาจจะขึ้นถึง 600 บาท กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนอย่างเต็มที่และจะซ้ำเติมวิกฤตเงินเฟ้อในประเทศวันนี้ด้วย

“ยิ่งมีผู้ประกอบการน้อย มันยิ่งฮั้วกันง่ายขึ้น ส่วนการที่บอกว่าเราสามารถกำกับดูแลราคาได้ สิ่งนี้มันคุ้นมาก หากย้อนไปสมัยที่มีการประมูลราคาเครื่อง 3G ก็มีการพูดแบบนี้ มีการประกาศว่าจะมีการกำกับดูแลราคาให้ถูกลง ผลปรากฏคือหน่วยงานดูแลกำกับที่ดูราคาของแต่ละเจ้า กลับเอาทุกแพ็กเกจมารวมกันและหารเฉลี่ย และจะมีแพ็กเกจหนึ่งที่ถูกมากแต่ไม่มีใครใช้ออกมาเป็นโปรโมชันลับ โปรโมชันพิเศษ โปรโมชันที่ไม่มีใครรู้ ออกมาเพียง 3 วันก็เก็บกลับไป 

“สุดท้ายแล้วราคาที่อยู่หน้ากระดาษของ กสทช. ถูกจริง แต่มันเป็นโปรโมชันที่ประชาชนไม่ได้ใช้ แล้วแบบนี้เราจะไว้ใจเชื่อมั่นว่า กสทช. จะสามารถกำกับราคาได้อย่างไร เราจะหวังพึ่งให้ควบรวมไปก่อนและค่อยไปกำกับดูแลราคาทีหลังไม่ได้ เวลาทั่วโลกเจอการตกลงแบบนี้ รัฐบาลเขาออกมามีบทบาทนำตลอด เช่น การควบรวมบริษัทโทรคมนาคมที่แคนาดา ก็เป็นรัฐบาลเองที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการควบรวมในครั้งนั้น แม้สุดท้ายบริษัทจะยอมคลายคลื่นและยอมผ่านดีลในที่สุด และมีอีกหลายกรณีที่ดีลไม่ผ่านเลย เช่น กรณีของ AT&T และ T-mobile ของสหรัฐฯ เพราะหน่วยงานกำกับดูแลเข้มแข็งมาก”

จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในประเด็นดังกล่าว หากจำเป็นจะต้องหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาแทนดีแทคที่จะถอนหรือลดการลงทุนจากภูมิภาคนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่ทางเลือก คือ 

1. ให้รัฐวิสาหกิจ เช่น NT มาเทกโอเวอร์ 

2. ดึงดูดนักลงทุนในประเทศรายใหม่ 

“คำถามคือรัฐบาลได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถหรือยังในการใช้อำนาจที่มีอยู่คุ้มครองผู้บริโภคจากวิกฤตครั้งนี้ และขอตั้งข้อสงสัยว่าการที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เป็นเพราะท่านหรือคนในรัฐบาลได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้” ศิริกัญญาทิ้งท้าย

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบกระทู้สดครั้งนี้ว่า “ผมไม่เชื่อว่าใครจะได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ และไม่มีใครมีส่วนเกี่ยวข้อง เอกชนคุยกันเอง เป็นสิทธิเสรีภาพของเขาที่ทำธุรกิจ และรัฐบาลมีกฎหมายต้องดูแล มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำ” 

Tags: , , , , , , , ,