วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการแถลงข่าวที่รัฐสภา กรณีควบรวมบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย ระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบริษัทโทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น (DTAC) ว่า จากข้อสรุปของคณะอนุกรรมการ 4 คณะที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อศึกษากรณีการขอควบรวมกิจการ พบว่าทั้ง 4 คณะอนุกรรมการต่างมีมติไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท อีกทั้งยังให้ข้อมูลด้วยว่า กสทช. มีอำนาจเต็มที่ในการยับยั้งไม่ให้การควบรวมกิจการเกิดขึ้น
“หากทั้ง 2 บริษัทสามารถควบรวมกิจการสำเร็จ ค่าโทรศัพท์มือถือของพี่น้องประชาชนอาจแพงขึ้น 12-40 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมีการผูกขาดของผู้ให้บริการ โอกาสในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลก็จะน้อยลง การแข่งขันน้อยลง แรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ก็น้อยตามลงไป อีกทั้งหนึ่งในคณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยียังให้ความเห็นว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีสามารถทำได้โดยไม่ต้องเกิดการควบรวม”
ทั้งนี้ พิธายกตัวอย่างว่า หากปัจจุบัน ประชาชนต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เดือนละ 500 บาท ค่าโทรศัพท์อาจเพิ่มถึง 700 บาทก็เป็นได้ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความลำบากของประชาชนในยุคที่ของแพง-ค่าแรงถูกอยู่แล้ว และช่วงเวลานี้ รัฐบาลควรจะลดค่าครองชีพให้กับประชาชน มากกว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด โดยพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าจะเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อทำทุกวิถีทางในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AIS) ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด รองลงมาคือ TRUE และ DTAC
ทั้ง 3 ผู้ให้บริการมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 97 เปอร์เซ็นต์ และหากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC สำเร็จ จะทำให้มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เหลือเพียง 2 บริษัทใหญ่ด้วยกัน โดยส่วนแบ่งตลาดอีกราว 3 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เป็นของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง CAT กับ TOT ในอดีต
ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์เกี่ยวกับการควบรวมกิจการในภาพรวมว่า ตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยมีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว ดังนั้น การควบรวมครั้งนี้หากสำเร็จจะทำให้ผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย
“หากการควบรวมสำเร็จ จะเกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เชิงบวกคือผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองจะได้ประโยชน์ ในขณะที่ผลกระทบเชิงลบจะเกิดกับผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป ธุรกิจต่างๆ รัฐบาล และผู้เสียภาษี รวมทั้งเศรษฐกิจไทยด้วย ”
ด้าน ซิกเว เบรกเก้ (Sigve Brekke) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ DTAC เคยกล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ‘Equal Partnership For Thailand’s Digital Transformation’ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ว่า ในปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมไม่ใช่เพียงธุรกิจที่ผู้ให้บริการเพียงเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือด้านการติดต่อสื่อสารเท่านั้น ทว่าอินเทอร์เน็ต 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แม้กระทั่ง อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of things) หรือการที่อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในในอุตสาหกรรมนี้ด้วย นั่นหมายความว่าคู่แข่งในการทำธุรกิจไม่ได้มีเพียงบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกต่อไป แต่ยังมีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Microsoft ด้วย
“ดังนั้น DTAC จึงต้องปรับตัวเองเป็นบริษัทด้าน Telecom-Tech Company เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ และการร่วมมือกับ TRUE จะช่วยทำให้บริษัทมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อยกระดับเทคโนโลยีในประเทศไทยให้ขึ้นไปอยู่แถวหน้าในระดับประเทศได้”
ที่มา
https://tdri.or.th/2021/11/true-dtac-merger-press-con/
https://investor.truecorp.co.th/wp.html/t/vdoonly/e/equal-partnership
Tags: Report, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์