หลังถกเถียงและปรึกษาหารือกันหลายรอบ ในที่สุดวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 วันสุดท้ายของเส้นตายการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวดที่ 5 ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีทั้งหลายโล่งใจไปตามๆ กัน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งัดอำนาจพิเศษมาตรา 44 ออกคำสั่งให้พักหนี้ค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล กล่าวคือหลังจากนี้หากผู้ประกอบการรายใดจ่ายไหวก็จ่าย แต่ถ้าจ่ายไม่ไหวก็สามารถผัดผ่อนออกไปได้

          สำหรับเนื้อหาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามอำนาจมาตรา 44 มีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ

           1)  “พักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล” โดยกําหนดระยะเวลาการพักชําระค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 3 ปี โดยช่องทีวีดิจิทัลที่ไม่สามารถชำระค่าใบอนุญาตได้ให้แจ้งไปยัง กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ และให้ กสทช. พิจารณาการพักชําระค่าใบอนุญาต

          2) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตฯ เป็นจํานวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าใช้โครงข่ายฯ เป็นระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ โดยให้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มาใช้

          3) อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกําหนด

           หลังคำสั่งฉบับนี้ประกาศใช้มีช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 20 ช่อง ยื่นความต้องการเข้าร่วมใช้สิทธิพักชำระค่าใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี ต่อ กสทช. ยกเว้น “ช่อง 7” และ “ช่อง Workpoint” ที่จ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 เป็นจำนวน 372 ล้านบาท และ 387 ล้านบาทตามลำดับ

คำสั่งศาลปกครองคดีช่องเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล สะเทือนธุรกิจทีวีดิจิทัล

           อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลรอดยาก ที่ผ่านมาผลประกอบการทีวีดิจิทัลประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง มีเพียงไม่มีช่องเท่านั้นที่พอจะมีกำไรได้ ในหลายปีที่ผ่านมาช่องทีวีดิจิทัลหลายช่องต้องปรับโครงสร้างลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนพนักงานเพื่อทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้การทำธุรกิจที่รายจ่ายมากกว่ารายรับส่งผลให้หลายช่องเริ่มมีความคิดว่าอยากจะคืนช่อง แต่ก็ติดที่หากคืนช่องจะถูก กสทช. ยึดแบงค์การันตี ทำให้ผู้ประกอบส่วนใหญ่ไม่ขอเสี่ยงเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป

           “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ พันธุ์พิทา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริษัทไทยทีวี  ไหวตัวตั้งแต่ปีแรกยอมปล่อยให้ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือไทยทีวี และโลก้า จอดำหลังพบว่าดำเนินธุรกิจไปหนึ่งปีมีแต่เงินจม ทางออกของเธอคือ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย พร้อมโดน กสทช. ยึดแบงค์การันตี แต่เธอไม่ยอมเดินหน้ายื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลทีวีดิจิทัลของเธอเป็นโมฆะ โดยอ้างเหตุว่า ที่ทีวีดิจิทัลขาดทุนกันส่วนหนึ่งก็เพราะ กสทช. ทำงานช้าและขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเปลี่ยนจากการดูทีวีระบบเดิมมาสู่ระบบใหม่ เท่ากับเป็นการผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจทีวีดิจิทัล

           วันที่ 13 มีนาคม 2561 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า การที่ กสทช. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ใช้ทีวีดิจิทัลอย่างทั่วถึงตามที่ได้สัญญาไว้ ทำให้บริษัทไทยทีวีมีสิทธิบอกเลิกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่งให้ กสทช. คืนแบงค์การันตีให้บริษัทไทยทีวี งวดที่ 3 – 6 เป็นเงินรวมกว่า 1,500 ล้านบาท ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด ผลของคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ส่งผลให้รัฐบาลต้องหารือกับ กสทช. และบรรดาทีวีดิจิทัล จนนำมาสู่การใช้มาตรา 44 รอบล่าสุด

 ทำตัวไม่ถูกใจ กสทช. อาจไม่ได้พักชำระค่าธรรมเนียม

           พลันที่ประกาศใช้ คำสั่ง หัวหน้า คสช. 9/2561 ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี 20 ช่อง ก็เข้ายื่นขอพักชำระค่าธรรมเนียมฯ และทุกช่องจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่าย แต่คำสั่งฉบับนี้ไม่ได้มีผลโดยทันที ช่องทีวีดิจิทัลใดจะได้รับการพิจารณาพักชำระค่าใบอนุญาตจะต้องผ่านการพิจารณาจาก กสทช. ก่อน โดยฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน กล่าวถึงแนวทางพิจารณาว่า

           “ใครที่ทำผิดเงื่อนไข ดำเนินการใดๆ ที่ผิดเงื่อนไขต่างๆ สำนักงาน กสทช. เองจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เป็นผู้พักชำระหนี้ในระยะเวลา 3 ปี และได้รับค่าสนับสนุนในการเช่าโครงข่ายหรือไม่ … แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดเงื่อนไขบ่อยหรือมีเหตุอื่นในการดำเนินการ เราจะมีหนังสือแจ้งตอบไปว่าไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว จะต้องนำเงินมาชำระพร้อมอัตราดอกเบี้ย”

           แม้จะผ่านการพิจารณาจาก กสทช. แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ก็ได้กำหนดเงื่อนไขในการออกอากาศ โดยข้อ 9 ระบุว่า ให้ช่องทีวีดิจิทัลต้องให้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจนมีสาระและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื้อหารายการมีความหลากหลาย ไม่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยหาก กสทช. เห็นว่าช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมโครงการช่องใดไม่ปฏิบัติตามกำหนด ให้ กสทช. พิจารณายกเลิกการพักชําระค่าใบอนุญาต และให้ชําระค่าใบอนุญาตในงวดที่เหลือให้ครบถ้วนต่อไป

 เพิ่มเครื่องมือใหม่ให้ กสทช. ควบคุมเนื้อหาทีวีดิจิทัล

           แน่นอนว่านี่เป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการควบคุมสื่อที่ คสช. มอบให้ กสทช. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มอบประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ กสทช. ควบคุมสื่อและยังได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาอีกด้วย ประกอบกับสถานการณ์ช่วงท้ายของ คสช. ที่จะต้องมีเปลี่ยนการเมืองไปสู่การเลือกตั้งการนำเสนอข่าวการเมืองที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นซึ่ง คสช. เป็นตัวละครหลักที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการกล่าวถึง ดังนั้น คำสั่งหัว คสช. ฉบับที่ 9/2561 จึงเป็นมากกว่าการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลแต่คือการควบคุมไปพร้อมๆ กัน

           หลังรัฐประหาร คสช. ให้อำนาจ กสทช. เข้ามาควบคุมการนำเสนอของสื่อมวลชนโดยเฉพาะในประเด็นการเมืองอย่างเข้มข้น สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ช่องวอยซ์ทีวีได้รับผลกระทบมากที่สุด ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุ วอยซ์ทีวี ถูก กสทช. ลงโทษจำนวน 19 ครั้ง ด้วยหลายรูปแบบ เช่น การตักเตือน ระงับการออกอากาศรายการ ระงับการดำเนินรายการของพิธีกร หรือหนักสุดคือระงับการออกอากาศทั้งสถานี 7 วัน

           จากกรณีที่วอยซ์ทีวีถูกเรียกตักเตือนและถูกลงโทษหลายครั้ง จึงเป็นข้อที่น่าห่วงกังวลว่าหาก กสทช. ใช้การตีความอย่างเข้มงวด อาจทำให้วอยซ์ทีวีเข้าข่ายที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระค่าใบอนุญาตของ คสช. 

ไม่ใช่แค่ความผันผวนทางธุรกิจที่ทำให้ทีวีดิจิทัลไปไม่รอด

           การดำเนินงานของ กสทช. ที่ไม่สามารถทำให้ทีวีดิจิทัลเข้าถึงผู้ชมจำนวน 22 ล้านครัวเรือน ตามที่ประกาศไว้คือความเสียหายทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่วอยซ์ทีวีในฐานะช่องทีวีดิจิทัลที่ถูกผู้มีอำนาจจับตามากที่สุด การสั่งระงับการออกอากาศบ่อยๆ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า และกระทบต่อการเข้าถึงของผู้ชม ซึ่งเป็นความเสียหายทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

           สำหรับอนาคตของวอยซ์ทีวี เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.วอยซ์ทีวี จำกัด ระบุว่า เตรียมวางแผนด้านธุรกิจไว้บ้าง แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของช่องขึ้นอยู่ที่การตีความและขอบเขตอำนาจที่กว้างขวางของ กสทช. ซึ่งนั้นทำให้ลูกค้าเสียความเชื่อมั่น การทำงานที่ผ่านมาถูกพิจารณาเนื้อหาอย่างเข้มงวด และด้วยการใช้อำนาจและการตีความอย่างกว้างของ กสทช. ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า จะนำเสนอเนื้อหาได้แค่ไหนเพียงใด การกำกับเนื้อหาอย่างเข้มข้นทำให้ทำงานไม่เต็มที่ ทั้งในแง่ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ และในแง่ของเสรีภาพเนื้อหาก็ไม่เต็มที่

           เมื่อถามว่า ถ้าไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือหากถูกปิดช่องหรือปิดรายการอีกจะทำอย่างไร “จุดยืนของวอยซ์คือ เสรีภาพของสื่อ และประชาธิปไตย” 

           “แต่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่นี้ เมื่อถูกกำกับดูแล ยังให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งศาลปกครองเพื่อคุ้มครองในกรณีที่ไม่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรี ในส่วนของการพัฒนาธุรกิจของวอยซ์ทีวีนั้น สิ่งที่จะทำต่อไปคือ การสร้างเนื้อหาที่แข็งแกร่งในทุกแพลตฟอร์มที่มี ปรับสัดส่วนของเนื้อหาให้สอดคล้องกับผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายซึ่งแตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม ถ้ามีปัญหา วอยซ์ก็ต้องเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามเงื่อนไขที่มีอย่างเต็มที่ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์”

           “เราจะปรับ ให้ความร่วมมือในกรอบที่ปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าปิดรายการหรือปิดช่อง จะเดินหน้าสู่ศาลปกครองเพื่อให้เกิดการวินิจฉัยและวางหลักในการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ” เมฆินทร์ กล่าว

 

อ้างอิง:

https://freedom.ilaw.or.th/blog/voicetvsuspension

https://freedom.ilaw.or.th/blog/Statistics-on-media-punishments-by-NBTC-since-2014coup

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10160529868250551

https://www.thairath.co.th/content/1227333

https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_618997

Tags: , ,