วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) ที่ประชุมร่วมรัฐสภาปัดตกไม่ให้เสนอชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกรอบ เพราะเห็นว่าขัดกับข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 41 ที่เห็นว่าการเสนอชื่อพิธาซ้ำอีกรอบ หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาปัดตกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานั้นไม่สามารถกระทำได้

ส่งผลให้พิธาไม่อาจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยก็ในสมัยประชุมนี้ แม้ว่าพิธาจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด มีผู้ลงคะแนนให้มากที่สุด และรวมเสียงได้มากที่สุดเป็น ‘เสียงข้างมาก’ ในสภาผู้แทนราษฎร

มองย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ในวาระการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 พิธา ซึ่งในครั้งนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้ว ในฐานะ ส.ส. คนหนึ่งได้อภิปรายถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ตอนหนึ่งว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน คือความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น โจทย์สำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้และในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของใคร ซึ่งเป็นปมปัญหาใจกลางที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475

“ปัญหาใจกลางของการเมืองไทย ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องงบประมาณของ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพที่เป็นแค่ตัวหนังสือ ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้งที่หวังว่าจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก เพราะต่อให้ใครชนะเลือกตั้งได้ท่วมท้นเพียงใด พวกเราก็เป็นได้แค่เพียง ‘เด็กขี่ม้า’ ซึ่งม้าอาจพยศอีกเมื่อไรก็ได้ตามคำสั่งเจ้าของม้า

“หากยังแก้ใจกลางปัญหานี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจหลุดออกจากหลุมดำทางการเมืองได้ และคงไม่มีศักยภาพเพียงพอในการทำเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การทลายทุนผูกขาด การสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า หรือการยกเครื่องระบบการศึกษา พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้รัฐสภาเร่งเดินหน้าการจัดทำประชามติเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้แสวงหาฉันทามติร่วมกัน ว่าระบบการเมืองแบบไหนที่ประชาชนยอมรับได้ แม้จะมีความคิด ความฝัน หรืออุดมการณ์ไปกันคนละแบบ”

พร้อมกันนี้ พิธายังได้ทิ้งท้ายก่อนเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาร่วมกันโหวตเพื่อหยุดแผนการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อต่ออายุ ‘ระบอบประยุทธ์’ และในวันนั้น พิธายังได้เชิญชวนให้ร่วมมือร่วมใจกันโหวตเพื่อปิดสวิทช์ ส.ว. เปิดประตูบานแรกในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ

“หากไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ก็จะไมมีความหมาย และเป็นเพียงละครตบตาประชาชนฉากใหญ่

“ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่านที่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาตัวเองว่า ผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา”

จนถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 และ ส.ว. ยังคงเป็นใจกลางปัญหาของการเมืองไทย ปิดสวิทช์ ส.ว. ยังเป็นคำที่ทุกคนพูดถึง ทว่า ไม่มีใครทำได้จริง สุดท้ายเป็น ‘พิธา’ ที่เผชิญกับปัญหานี้ด้วยตัวเอง

ขณะที่อนาคตของประเทศไทยยังคงมืดมัว ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะหน้าตาเป็นอย่างไร และนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใคร…

Tags: