วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากสองเหตุการณ์หลักซึ่งเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ขาดกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล 

เรื่องแรก คือลุ้นผลโหวตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยว่า ในการโหวตครั้งนี้ พิธาจะได้เป็นนายกฯ ตามที่ทุกคนหวังหรือไม่ 

อีกเรื่องหนึ่งคือความคืบหน้าของคดีถือหุ้นไอทีวี ที่พิธาถูกร้องว่าผิดรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติ ส.ส. และอาจส่งผลกระทบกับสถานะส่วนตัว ทำให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองราวซ้ำรอยแผลเก่าแบบเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เช้าวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องว่า จะให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.กรณีมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.2 หมื่นหุ้น ซึ่งตอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องเข้าไปที่ศาลในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เป็นวันก่อนลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ เพียงหนึ่งวัน โดย กกต.เห็นว่า มีมูลและพยานหลักฐานเพียงพอ ดังนั้น ประธาน กกต.จึงลงนามและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที ก่อนที่จะมีการเรียกให้พิธาชี้แจงด้วยซ้ำ

จนถึงวันนี้ ในบรรดา ส.ส. 500 คน มีพิธาเพียงคนเดียวที่ กกต.เห็นว่า เข้าข่ายมีความผิด ขณะที่อีก 499 คน ไม่มีใครโดนแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ

และในเวลาเดียวกัน เรื่องของไอทีวีก็ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นสถานะ ‘สื่อ’ ภายหลังการปิดตัวเมื่อปี 2550 การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาภายใต้ ‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’ อย่างบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ราวกับว่าตั้งใจฟื้นสภาพความเป็นสื่อ เรื่อยไปจนถึงความเร่งรีบในการเดินเรื่องนี้

ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะทราบสถานะของพิธาว่าถูก ‘พักงาน’ หรือไม่ The Momentum ชวนจับ ‘ความไม่ปกติ’ ทุกข้อกล่าวหาที่พิธาถูกร้องเรียนในประเด็นหุ้นสื่อนี้

การบิดเบือนบันทึกการประชุมและเอกสารการเงิน

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นผู้อธิบายเกี่ยวกับข้อผิดพลาดในเอกสารที่เกิดขึ้นทั้งหมด เช่น ในคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2566 ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสื่อมวลชน” แต่บันทึกการประชุมกลับระบุว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” ภายหลังจากรายการข่าวสามมิตินำคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นมาเปิด

กล่าวได้ว่า ข้อเท็จจริงค่อนข้างขัดแย้งกัน เพราะในคลิปวีดีโอบอกว่า ยังไม่มีการดำเนินกิจการใดๆ แต่ในรายงานเอกสารที่ยื่นส่งต่อตลาดหลักทรัพย์และเผยแพร่กลับบันทึกว่า บริษัทยังมีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทอยู่

ต่อมาในปี 2566 ซึ่งต้องนำส่งงบการเงิน 2565-2566 ราวช่วงกลางปีนี้ ปรากฏว่า ประเภทของธุรกิจถูกระบุว่า เป็น ‘กิจการสื่อโทรทัศน์’ ส่วนสินค้าและบริการระบุว่า เป็นสื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวให้แตกต่างจากคลิปวิดีโอการประชุม อย่างไรก็ไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดโดยบังเอิญ หรือเป็นการจัดทำเอกสารรายงานการประชุมตามแผนปกติ ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการจงใจแก้ไขให้สอดรับกับบรรดาเอกสารต่างๆ ที่จัดทำขึ้นมาภายหลังหรือไม่? นี่เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถาม

หุ้นไอทีวีในมือพิธาเป็นเพียง ‘มรดกหุ้น’

จากการตรวจสอบบัญชีและหนี้สินของพิธาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2562 พบว่า กรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธาอยู่ในฐานะของผู้จัดการมรดกโดยศาลสั่ง ไม่ได้ตั้งใจเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่ต้น

หากดูตามข้อกฎหมายที่บัญญัติพบว่า เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต หุ้นของบิดาจะกลายเป็นมรดกส่งต่อให้ทายาทโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะแตกต่างกับหุ้นที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัว และมีความผิดจนถูกศาลสั่งสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) ดังที่กล่าวอ้าง

ความพัวพันในเครือ ‘กัลฟ์-อินทัช-ไอทีวี’

รายงานประจำปี 2565 ของไอทีวีระบุว่า “กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท คือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอินทัชที่ถือหุ้นเกินกว่า 5% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมีจำนวนหุ้นกว่า 46% และมี SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE LTD กลุ่มโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ถือหุ้นอีก 24.99%”

สิ่งที่กล่าวได้ตอนนี้ก็คือ ‘กัลฟ์’ อยู่ในฐานะผู้หุ้นใหญ่ของอินทัชและครอบคลุมไอทีวีอีกทีหนึ่ง

หลังจากกัลฟ์เข้ามาเป็นเจ้าของอินทัชโดยสมบูรณ์ อินทัชมีการบริหารงานหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจสื่อสารคมนาคมไร้สายที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย ดำเนินการผ่านแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส 2. ธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ ดำเนินการผ่านไทยคม และ 3. ธุรกิจอื่นๆ ที่อินทัชเข้าไปร่วมลงทุน

และใน ‘ธุรกิจอื่นๆ’ ที่อินทัชเข้าไปร่วมลงทุน มีไอทีวีซึ่งชินคอร์ปเป็นเจ้าของนับตั้งแต่กลางปี 2543 จนกระทั่งวันที่ไอทีวีสิ้นสภาพการเป็นสื่อ และปิดกิจการในปี 2550

เมื่ออินทัชเข้าไปเกี่ยวพันกับไอทีวีในฐานะทรัพย์สินที่มีอยู่ ก็มีการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารของไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเป็นคนของอินทัช เป็นความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างอินทัชกับไอทีวี

บังเอิญว่ากัลฟ์เป็นคู่ต่อสู้สำคัญกับพรรคก้าวไกล ที่ยื่นฟ้อง รังสิมันต์ โรม และเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกลในข้อหาหมิ่นประมาทในสภาฯ สมัยที่แล้ว พร้อมเรียกค่าเสียกว่า 100 ล้านบาท จากเหตุที่ทั้งสอง ส.ส.กล่าวพาดพิงในสภาฯ

และเมื่อเกิดความผิดปกติในไอทีวี ทำให้หลายคนลากเส้นโยงไปถึงอินทัชและกัลฟ์ 

กกต.เร่งส่งศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาเพียง 3 วัน

จากสองข้อที่กล่าวมาก่อนหน้า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุม กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพิธา สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลจะวินิจฉัย โดยใช้เวลา 3 วัน ในการพิจารณาและรับฟังการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงาน กกต.และเห็นว่ามีข้อมูลและพยานหลักฐานเพียงพอ ขณะเดียวกัน อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ลงนามในคำร้องและให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที

‘จักรกฤษณ์’ ส.ส.ภูมิใจไทย ถือหุ้นไอทีวี 4 หมื่นหุ้น ซ้ำรอยพิธาหรือไม่?

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 กรกฎาคม 2566) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส.กรณีพ้นจากตำแหน่ง โดยเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ จักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ที่พ้นตำแหน่งไปเมื่อ 20 มีนาคม 2566 

ทรัพย์สินที่น่าสนใจของ ส.ส.คนดังกล่าวพบว่า มีเงินลงทุนหุ้นไอทีวีจำนวน 4 หมื่นหุ้น ระบุว่ามูลค่า 0.00 โดยเป็นสินทรัพย์ของผู้ยื่นเอง ไม่ได้เป็นการรับมรดกมาเช่นเดียวกับพิธา

สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาผู้นี้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 10 ของบุรีรัมย์ ในนามพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน และชนะไปด้วยคะแนน 39,006 คะแนน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ทั้ง ‘น่าจับตา’ และ ‘น่าจับพิรุธ’ ในทุกการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ว่าจะออกมาเป็นเช่นไร พิธาจะถูกตัดทางการเมืองในฐานะ ส.ส.หรือไม่?

เป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะตัดสินอนาคตของพิธาในฐานะนายกฯ อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้

Tags: ,