วันนี้ (23 พฤษภาคม 2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา และแถลงความคืบหน้าในฐานะ คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่เข้าประชุมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อออกแบบนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับการเซ็นลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค พิธากล่าวว่าเป็นเพียงการทำงานร่วมกันขั้นต่ำเพื่อหาวาระร่วม ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็น 23 ข้อตามที่แถลงในการลงนามเมื่อวานนี้ โดยส่วนของพรรคก้าวไกลเอง ก็ยังคงผลักดัน 300 กว่านโยบายที่เคยได้หาเสียงไว้ให้สำเร็จลุล่วงต่อ 

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะถูกผลักดันผ่าน 2 กลไก คือผ่านกลไกการบริหารในฐานะที่ พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงผ่านรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่อยู่ตามกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่ไม่ได้อยู่ใน MOU หรือหากตัวแทนจากพรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นหัวหน้ากระทรวง ก็ยังสามารถผลักดันผ่านการทำงานในฐานะรัฐบาลร่วม  เพื่อให้วาระของพรรคก้าวไกลสำเร็จเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกส่วนคือ กลไกนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติน้ำประปาสะอาด และพระราชบัญญัติรับรองคำนำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ ที่พรรคก้าวไกลได้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ว่าจะผลักดัน ซึ่ง ส.ส. 152 คน ของพรรคก้าวไกลจะมีหน้าที่ผ่านกฎหมายในส่วนนี้  

“ย้ำอีกครั้ง MOU เป็นเพียงวาระร่วมขั้นต่ำ ที่พี่น้องประชาชนจะสามารถคาดหวังได้ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนั้น แต่ในประเด็นอื่น ก็จะมีวาระเฉพาะที่จะสามารถผลักดันได้” 

เรื่องต่อมาคือ การหารือในนามคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่มีการประชุมครั้งแรกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งก็มีการหารือกันหลายเรื่อง ทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, การสนับสนุนเอสเอ็มอี, การหาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของประเทศ, การเพิ่มประสิทธิภาพของค่าแรง และการขึ้นค่าแรงและความสม่ำเสมอของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่พรรคก้าวไกลได้เสนอ 450 บาทต่อวัน ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอที่ 400 บาทต่อวัน 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ก็เสนอนโยบายสนับสนุน สมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก หรือหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่าใน 2 ปี สามารถที่จะหักภาษีได้ หรือแม้แต่การลดภาษี SME จาก 20% เป็น 15% จาก 15% เป็น 10% ก็เป็นอีกส่วนที่ผ่านการพูดคุย เพียงแต่ไม่ได้นำเสนอผ่านสื่อมวลชน

ในการสัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พิธาให้สัมภาษณ์ความเห็นของ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในประเด็นการตัดข้อความเรื่องการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองออกไป ว่าเข้าใจความกังวลในส่วนนี้ดี แต่ก็ขอยืนยันว่าข้อความในเอ็มโอยูนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่น่ามีข้อผิดพลาดอะไร

ส่วนเรื่องปัญหาตลาดหุ้นปิดในแดนลบอย่างหนักหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา พิธากล่าวว่าจากการพูดคุย สิ่งที่นักลงทุนกังวลไม่ใช่ศักยภาพของประเทศไทย แต่เป็นความไม่แน่นอนทางการเมือง ความไม่แน่นอนของระบอบทางการเมือง ที่หากเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คนที่ชนะเลือกตั้งก็ต้องได้เป็นคนจัดตั้งรัฐบาลอยู่ แต่เนื่องด้วยการใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 อยู่เช่นนี้ ทำให้หลักการนี้ไม่ชัดเจน 

“หากจะทำให้เกิดเสถียรภาพในเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ต้องพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติในการเปิดสภา และสามารถทำให้เจตจำนงของพี่น้องประชาชนไม่สูญเปล่า ถ้าเรื่องนี้ชัดเจน ผมว่าตลาดหุ้นไปต่อ” 

โดยหลังจากนี้ พิธา และคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะเดินสายรับฟังปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมและพี่น้องประชาชน เพื่อทำนโยบายร่วมและเตรียมแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

ภาพ: พรรคก้าวไกล

Tags: , ,