วันนี้ (13 กรกฎาคม 2566) ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า พรรคก้าวไกลจะปรับปรุงให้ดีได้ ต้องแก้ไขเรื่องนี้ใน 3 ปัญหา

1. ขอบเขตการบังคับใช้ – ปัจจุบันมาตรา 112 คือเรื่องการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่ข้อเท็จจริงคือมีหลายกรณีที่ถูกดำเนินคดี ตัดสินแล้วไม่เป็นธรรมว่าผิดมาตรา 112 และบางอย่างก็ไม่ได้เข้าข่ายอาฆาตมาดร้าย ดังนั้น หากจะแก้ไขมาตรานี้ พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ปรับปรุงเพื่อเขียนขอบเขตการบังคับใช้ให้ชัดเจนมากขึ้น ระหว่างการวิจารณ์โดยสุจริต ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ควรจะกระทำได้ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย กับการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย ซึ่งเป็นฐานความผิดตามกฎหมาย

2. การปรับอัตราโทษให้ได้สัดส่วนมากขึ้นจากฐานความผิด – การกำหนดโทษที่สูง 3-15 ปี เท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา เป็นโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

3. จำกัดสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษ – ปัจจุบัน การเปิดให้ประชาชนทุกคนร้องทุกข์กล่าวโทษ กลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ไม่เป็นผลดีกับสถานะของพระมหากษัตริย์ และเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับหลักสากลชัดเจน

สำหรับบรรยากาศตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลายเป็นเหตุผลสำคัญของ ส.ว.ที่จะ ‘ไม่เลือก’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งเหตุผลเรื่องการ ‘ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์’ ของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เหตุผลเรื่องการเป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ของมาตราดังกล่าว รวมถึงเหตุผลเรื่องการต้องธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติ ของ ศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ

ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ซึ่งเป็นการกำหนดไว้ภายหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

สำหรับพรรคก้าวไกลได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว หลังเกิดการชุมนุมของเยาวชนและนิสิตนักศึกษาในช่วงกลางปี 2563 และมีข้อเรียกร้องสำคัญคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาด้วยการเอาผิดนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก มีผู้ที่ถูกตั้งข้อหา 253 คน จาก 272 คดี และนักเคลื่อนไหวบางคนถูกตั้งข้อหาซึ่งรวมกันแล้วอาจต้องติดคุกรวมนับ 1,000 ปี

สำหรับนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นั้น อยู่ในแคมเปญของพรรคก้าวไกลตั้งแต่เริ่มหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลไว้ตอนหนึ่งว่า คำวินิจฉัยของศาลในหลายกรณีทางการเมือง ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นถึงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ดังกล่าว และการขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลศาลที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ข้อเสนอที่ระบุในเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ได้แก่

1. ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยให้เหลือเพียงจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระมหากษัตริย์)

2. จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) (โทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะถูกลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี เหลือแค่โทษปรับ)

3. ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว

4. บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

Tags: ,