ห้องสมุดบางแห่งในมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ออกกฎปรับและห้ามผู้มีสุขอนามัยไม่ดีเข้าใช้บริการ ท่ามกลางกระแสเห็นต่างและมีเสียงวิจารณ์ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการทิ้งคนไร้บ้านไว้ข้างหลัง

ซีบีซี (CBCNews) สำนักข่าวสัญชาติแคนาเดียน รายงานในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ห้องสมุดสาธารณะในมอนทรีออลกำหนดกฎห้ามนอนหลับ ห้ามข่มขู่ผู้อื่น และอย่ากีดขวางประตูห้องสมุด รวมถึงกฎสุดแปลกคือ ห้าม ‘นำตัวเรือด’ เข้ามาในห้องสมุด หลังมีรายงานว่า สิ่งมีชีวิตข้างต้นทำลายหนังสือเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ห้องสมุดบางแห่งยังมีการใช้กฎ ‘ห้ามผู้มีสุขอนามัยต่ำ’ เข้าใช้บริการ ซึ่งให้เหตุผลว่า เป็นการรบกวนพนักงานและผู้ใช้บริการคนอื่นๆ และหากพบเจอ เจ้าหน้าที่จะปรับและไล่ออกจากพื้นที่ทันที

กฎข้างต้นทั้งหมดมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยจำแนกค่าปรับทั้งหมดเป็น 3 ระดับ เริ่มจากในกรณีทำความผิดครั้งแรก จะต้องจ่ายค่าปรับ 350-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.22-3.5 หมื่นบาท) และหากทำความผิดครั้งที่สอง จะปรับเป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7 หมื่นบาท) รวมถึงถ้าปรากฏความผิดหลังจากนี้ ต้องเสียเงินถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนบาท) 

ทั้งนี้ เอริกา อัลเนียส (Ericka Alneus) สมาชิกสภาเมือง เผยว่า มาตรการดังกล่าวจะปรับใช้ในกรณีที่ร้ายแรงเท่านั้น โดยเสริมว่า กฎนี้ปรับใช้สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ว่าทุกคนจะมาจากชนชั้นใด ห้องสมุด 45 แห่งในมอนทรีออลยินดีต้อนรับเสมอ

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมา โดย จอห์น เทสสิเย (John Tessier) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Advocacy for Montreal แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายดังกล่าวโจมตีคนไร้บ้านอย่างเฉพาะเจาะจง

“ใครจะเป็นคนกำหนดว่า อะไรคือการมีสุขอนามัยไม่ดี? ผู้คนอยากจะเอาตัวรอด และสิ่งที่พวกเขาต้องทำเป็นอันดับแรก ก็คือการหลบเลี่ยงอากาศหนาวเย็น 

“แน่นอน ห้องสมุดใหญ่โต พวกเขาไปอยู่ที่นั่นได้อย่างเงียบสงบ และทำตัวเงียบๆ ไม่มีใครสังเกต นั่นคือสิ่งที่พวกเขาอยากทำ พวกเขาไม่ได้ตั้งใจไปรบกวนคนใช้ห้องสมุดหรอกนะ” 

เทสสิเยระบุ โดยเสนอให้ทางการหามาตรการเยียวยาให้กับคนไร้บ้าน เช่น การเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว การที่รัฐอุดหนุนให้ที่อยู่อาศัยในระยะยาว หรือการอนุโลมไม่ให้ผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 2.6 หมื่นบาท) ต้องเสียค่าปรับ เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ ‘รีดเลือดกับปู’

ขณะที่ อีฟ ลากาเซ (Eve Lagacé) ผู้อำนวยการสมาคมห้องสมุดสาธารณะควิเบก เผยว่า เธอรู้สึกประหลาดใจกับกฎดังกล่าว แม้จะเข้าใจว่าบรรณารักษ์บางส่วนต้องเผชิญวิกฤตการจัดการผู้ใช้ห้องสมุด แต่เธอหวังว่ามาตรการกีดกันควรเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

ลากาเซเผยว่า นโยบายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากทรัพยากรที่จำกัดของห้องสมุด แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานทางสังคมหรือชุมชน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าถึงบริการสาธารณะ

เช่นเดียวกับ แซม วัตตส์ (Sam Watts) ผู้บริหารสูงสุดของ Hall Mission กลุ่มผู้ช่วยเหลือคนไร้บ้าน แสดงความคิดเห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวจงใจเน้นย้ำถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

วัตตส์อธิบายสถานการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านทำให้พลเมืองในมอนทรีออลหวาดกลัว แต่การออกกฎเช่นนี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น และเสริมว่า คำตอบที่ถูกต้องคือการทำให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยถาวร 

ไม่ใช่แค่ห้องสมุดในมอนทรีออลที่ออกกฎเช่นนี้ แต่ยังมีรายงานเผยว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐกำลังเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยในบริเวณรถไฟใต้ดิน โดยเจาะจงกลุ่มคนไร้บ้านที่หลบภัยความหนาวเย็น ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องระบุว่า เป็น ‘ความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง’ เมื่อรัฐผลักไสคนชายขอบในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ

อ้างอิง

https://www.vice.com/en/article/bvj3bv/montreal-libraries-smell-law-homelessness

https://www.cbc.ca/news/canada/montreal/libraries-smells-fines-montreal-1.7039748

https://www.cbc.ca/news/canada/montreal/metro-security-increase-public-space-access-1.7038421

Tags: , , , , , ,