วันนี้ (7 สิงหาคม 2567) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส.ของพรรคแถลงข่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เป็นเวลา 10 ปี

ชัยธวัชกล่าวเป็นคนแรกว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า พรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองและมีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายว่า ไม่มีการกระทำใดของพรรคเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็น

อีกทั้งคำวินิจฉัยนั้นจะกลายเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ ในการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่อันตราย สุ่มเสี่ยงต่อการกระทบถึงคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย จึงนับว่าเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงเสียกว่าการยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหาร

“ผลของคำวินิจฉัยสุ่มเสี่ยงในระยะยาวที่จะทำให้ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลายพันธุ์เป็นระบอบอื่นได้” ชัยธวัชกล่าว

ด้านพิธาแถลงว่า ถึงแม้ว่าจะต้องอำลาในฐานะนักการเมืองและ ส.ส. แต่ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งประชาชน จะเดินหน้าทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อทำให้บ้านเมืองดีขึ้น และจะทำให้พรรคใหม่ได้จัดตั้งรัฐบาลที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ให้ได้

“ถึงประชาชน ท่านอาจจะรู้สึกผิดหวัง โกรธแค้น พรุ่งนี้เราจะก้าวข้ามมันไป เราจะไประเบิดในคูหาทุกการเลือกตั้งต่อไป”

ขณะที่ศิริกัญญาเผยว่า รับรู้ถึงความเจ็บปวดและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่ละทิ้งความฝัน ภารกิจ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน เราจะเดินหน้าภารกิจเปลี่ยนแปลงประเทศต่อไป ตราบใดที่ประชาชนยังให้การสนับสนุน

นอกจากนั้น ศิริกัญญายังแถลงอีกว่า ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ด้วยกัน โดยยืนยันว่า อุดมการณ์ของพรรคใหม่จะยังคงเป็นเหมือนเดิม เพียงแต่วิธีการขับเคลื่อนอาจมีความยืดหยุ่นหรือเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่จะต้องมีการลดเพดานสำหรับพรรคใหม่หรือไม่ ศิริกัญญากล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลทุกคนเห็นว่า กฎหมายอาญามาตรานี้มีปัญหา อย่างไรก็ตาม รายละเอียดวิธีการแก้ไขจะต้องคุยกันให้ละเอียดมากขึ้น เพราะไม่มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ได้