วันนี้ (15 กันยายน 2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมกับขอเปิดทางให้พรรคเลือก ส.ส.คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคแทน เพื่อทำหน้าที่ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ของสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ พิธาให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็น ส.ส.และต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง ทว่าตนเองยังอยู่ภายใต้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในฐานะ ส.ส.และไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในเวลาอันใกล้

“ขณะเดียวกัน ผมได้หารือกับคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลแล้วเห็นว่า บทบาท ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบรัฐสภา และสมควรเป็นบทบาทที่รับผิดชอบโดยหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านหลักในสภาฯ ซึ่งตอนนี้คือพรรคก้าวไกล ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จะเปรียบเสมือนหัวเรือที่กำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาฯ ของฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ยังตกหล่นจากนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ เพื่อเปิดทางให้พรรคเลือก ส.ส.ที่สามารถทำหน้าที่ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในสภาฯ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนที่ผม

“ผมขอยืนยันกับทุกท่านว่า ไม่ว่าสถานะของผมจะเป็นอย่างไร ผมไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังคงทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลและพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังและสุดความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาร่วมกัน

นอกจากนี้ พิธายังเชิญสมาชิกพรรคก้าวไกลให้รวมตัวกันในงาน ‘ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน’ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น ดินแดง ในวันที่ 24 กันยายน 2566 นี้ โดยระบุว่า เพื่อสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งไปด้วยกัน

สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรต้องมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับเสียง ส.ส.มากที่สุด ที่ไม่มี ส.ส.ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นรัฐมนตรี โดยผู้นำฝ่ายค้านมีบทบาท เช่น เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการวินิจฉัยกฎหมายปฏิรูปประเทศ รวมถึงสามารถขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ