วันนี้ (6 กันยายน 2565) คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวในวาระอภิปรายญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา

“ผมเห็นด้วยกับร่างนี้ แต่ไม่ใช่เพราะเหตุผลต่างๆ นานาที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวมา แต่เป็นเพราะคำตอบของคำถามประชามติหรือคำถามพ่วงของพี่น้องประชาชนในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

“โดยคำถามประชามติถามว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง ควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกที่มีสมาชิกรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งพี่น้องประชาชนส่วนมากก็เห็นด้วย”

คำนูณกล่าวว่า ประเทศไทยเกิดปัญหาทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2556-2557 และผู้ที่เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายมองว่าสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองครั้งนั้นได้ คือการปฏิรูปประเทศผ่านแผนแม่บทต่างๆ

สำหรับหนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คือการให้อำนาจพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา ผ่านมาตรา 270 และมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 270 ระบุว่าให้สมาชิกวุฒิสภาติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเข้ามารายงานกับรัฐสภาทุก 3 เดือน

“และในเมื่อมาตรา 270 นั้นให้อำนาจพิเศษพวกเราในการเป็นองครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศแล้ว ทำไมไม่ให้อำนาจพวกเราเลือกผู้นำของประเทศด้วยล่ะ ทั้งหมดเป็นที่มาของอำนาจในมาตรา 272 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมยืนยันว่าผมซื่อสัตย์ต่อภารกิจนี้ และพยายามอย่างเต็มที่ในการพิทักษ์การปฏิรูปประเทศ”

อย่างไรก็ตาม คำนูณกล่าวว่าเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศออกมาเปิดเผยว่าภารกิจในการปฏิรูปประเทศใกล้จะสำเร็จแล้ว รวมทั้งในปัจจุบันก็มีหน่วยงานที่คอยติดตามดูแลประเด็นด้านการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ต้องคงไว้ซึ่งอำนาจของ ‘องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ’ หรือ ส.ว. อีกต่อไป

“ในอนาคต สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศและสมาชิกวุฒิสภาทำจะสลายตัวลงไปเป็นหน้าที่ของหน่วยงานตามปกติ และส่วนหนึ่งจะสลายตัวไปอยู่ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับปรับปรุง หรือที่เรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่ 2 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2566-2580 ดังนั้นที่กล่าวมาทั้งหมด ผมจึงเห็นชอบในการแก้ไขมาตรา 272”

ขณะที่ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภาไม่มีสิ่งใดจะอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มากนัก เนื่องจากหากยิ่งชี้แจงจะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้น วุฒิสภาจึงขอฟังฝ่ายค้านอภิปรายก่อนแล้วจะชี้แจงตามหลักเล็กน้อย

ย้อนกลับไปในตอนต้นของการอภิปราย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 กล่าวว่า ขั้นตอนการยื่นแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนบัดนี้มีทั้งประชาชนถึง 64,151 คน และพรรคการเมืองหลายพรรคที่เห็นด้วย

สำหรับรายละเอียดของการแก้ไข สมชัยระบุว่า มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลประกอบด้วย 2 วรรค วรรคแรกอธิบายว่าให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และวรรคสองมีใจความว่า หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอ ให้รัฐสภาร่วมกันเสนอชื่อนายกฯ นอกเหนือจากรายชื่อที่มีได้

สมชัยกล่าวว่า ทางคณะผู้รณรงค์ขอตัดข้อความในวรรคแรกทั้งหมด แต่ยังคงข้อความในวรรคสองซึ่งอนุญาตให้สภาผู้แทนราษฎรหานายกฯ คนนอกมาได้ ด้วยมติ 2 ใน 3 หลังจากนั้นจึงให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการเลือกนายกฯ เหล่านั้นเหมือนเดิม

“กล่าวโดยสรุป พวกเราต้องการยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกฯ ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล และคงกระบวนการในการหานายกฯ คนนอกในวรรคที่ 2 ไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและจำเป็น”

ขณะที่ บุญส่ง ชเลธร รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และหนึ่งในคณะผู้รณรงค์แก้ไขมาตรา 272 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 272 ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกผู้นำของตัวเอง ผ่านการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิทัดเทียมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ส่วน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่าขณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งในการแสดงออกอย่างจริงจังว่า เรายังยึดมั่นว่าประเทศไทยยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่เสียงของประชาชนเท่านั้นที่จะกำหนดอนาคตของประเทศได้ วันนี้ขอเพียงประเด็นเดียวคือยกเลิกสิทธิของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดถือเป็นก้าวหนึ่งของการประกาศความเป็นประชาธิปไตย และยืนยันว่าเสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์

“หลายครั้งผู้แทนฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภามักอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติมาเรียบร้อยแล้ว ทว่าหากมองถึงบรรยากาศในช่วงการทำประชามติ โทรทัศน์สาธารณะทุกช่องต่างรณรงค์ให้เห็นถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างเปิดเผย ในขณะที่ผู้ที่เห็นต่าง แม้แต่ติดสติกเกอร์ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญขนาดไม่ใหญ่มากยังโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจตามถึงบ้าน แบบนี้พวกท่านยังจะกล้าอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติมาแล้วหรือ”

อมรัตน์กล่าวอีกว่า หากไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้สำเร็จ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีความหมายใดๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่สามารถบอกได้แล้วว่าผู้ใดจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป อีกทั้งหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า สภาฯ ไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ได้ สมาชิกวุฒิสภายังสามารถใช้อำนาจในการยกมือเลือกนายกฯ คนนอกได้อยู่

Tags: , , , ,