วันนี้ (8 สิงหาคม 2022) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guradian) รายงานว่า ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศ G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ยังคงปฏิเสธการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน

ในขณะที่ผลการลงคะแนนเสียงความคิดเห็นของประชาชนในปี 2022 ซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี (Asahi) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น พบว่าประชาชนกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่มีผู้สนับสนุนเพียง 41 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ว่ากันว่ามีอิทธิพลมากที่สุดในญี่ปุ่นขณะนี้ กลับมีทัศนคติในด้านลบและประณามคู่รักเพศเดียวกันว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง

เฮนนา คาวาสึ (Lenna Kawazu) หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน ว่าเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘นิยามการแต่งงาน’ ของเธออย่างสิ้นเชิง เมื่อเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อปีที่แล้ว และต้องทราบภายหลังว่า โยชิโกะ* (Yoshiko) คู่ชีวิตของเธออาจไม่มีสิทธิเข้าเยี่ยม

“ฉันคิดเสมอว่าทุกคนควรมีสิทธิแต่งงาน อย่างนั้นก็เถอะ ฉันไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการแต่งงานเพื่อสิทธิตามกฎหมายเท่าไร แต่ตอนฉันป่วย ฉันกลับมาคิดได้ว่าการแต่งงานไม่ใช่แค่ความรักและความผูกพันเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการได้รับการคุ้มครองและการมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ อย่างเรื่องสุขภาพของอีกฝ่ายด้วย”

หากกล่าวถึงความหลากหลายทางเพศ เกย์ในญี่ปุ่นนั้นถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1880 แต่กลุ่มคนส่วนใหญ่ยังคงเลือกจะไม่แสดงออกถึงเพศของตัวเองอย่างเปิดเผย หลายคนยังไม่ได้เปิดเผยแม้กระทั่งกับครอบครัว และโยชิโกะคือหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น

“ฉันมาจากชนบท พ่อแม่ของฉันก็แก่แล้ว และฉันก็ไม่คิดว่าพวกท่านจะเข้าใจ ฉันมองว่า หากการแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ผู้คนอาจจะมีความมั่นใจในการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขาได้รับการยอมรับภายใต้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม การจะกระทำแบบนั้นได้ก็ต้องใช้ความกล้าหาญพอสมควรเช่นกัน”

ในบริบทการเมืองประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่ คานาโกะ โอสึจิ (Kanako Otsuji) เป็นนักการเมืองคนแรกที่ออกมาประกาศว่าเขาเป็น LGBTQ+ ทว่าในสัปดาห์นี้ นักรณรงค์ด้านสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ ได้ออกมายื่นคำร้องคัดค้านแผ่นพับที่แจกจ่ายในการประชุมของ ส.ส. พรรคเสรีประชาธิปไตย เหตุผลที่คัดค้านเนื่องจาก ในแผ่นผับได้ให้นิยามไว้ว่าการรักร่วมเพศเป็น ‘ความผิดปกติทางจิตที่ได้มาภายหลังจากการเกิด’

ชินยะ ยามากาตะ (Shinya Yamagata) หนึ่งในชาวญี่ปุ่นที่ตั้งคำถามกับการปฏิเสธการแต่งงานของเพศเดียวกัน กล่าวว่า พรรคเสรีประชาธิปไตยยึดถือกลุ่มศาสนาและกลุ่มสนับสนุนอื่นๆ ที่ไม่เพียงแต่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่ยังเรียกกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันว่าเป็น ‘กลุ่มอาการผิดปกติ’

ย้อนกลับไปเมื่อ 15 มิถุนายน 2022 สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) รายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นของมหานครโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายที่แสดงการยอมรับและการอยู่ร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกัน (Same-Sex Partnerships) และหลายฝ่ายมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นหมุดหมายสำคัญในเรื่องการยอมรับความหลากหลายของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายฉบับนี้ได้ให้สิทธิบางอย่างกับคู่รักเพศเดียวกัน ให้เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศด้วย

เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้หมายความว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นต้นไป คู่รักเพศเดียวกันที่แสดงตนต่อระบบราชการจะได้รับสิทธิบางอย่างที่ก่อนหน้านี้ถูกปฏิเสธไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในที่สาธารณะร่วมกัน หรือการเยี่ยมกันและกันในโรงพยาบาล มากไปกว่านั้น การแสดงตนดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ถัดจากวันที่รัฐบาลกรุงโตเกียวประกาศการยอมรับการอยู่ร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกันเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่า ศาลในกรุงโอซากา (Osaka) ประเทศญี่ปุ่น กลับพิพากษาว่าการปฏิเสธการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

*โยชิโกะเป็นนามสมมติของคู่ชีวิตของ เฮนนา คาวาสึ

 

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2022/aug/08/we-are-so-far-behind-japan-laments-lack-of-progress-on-same-sex-marriage

https://www.washingtonpost.com/world/2022/06/15/tokyo-same-sex-japan-lgbtq/

https://www.asahi.com/articles/ASP3P7DSCP3MUZPS003.html

https://www.bbc.com/news/world-asia-61670667

Tags: , , ,