เมื่อคืนวันที่ 11 กันยายน 2566 จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงสนับสนุนให้ตั้งหน่วยงานกลาง Thailand Creative Content Agency (THACCA) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยโดยเฉพาะ

จิราพรอภิปรายสนับสนุนนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุไว้ในนโยบายหน้าที่ 9 เพื่อยกระดับพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยให้สร้างมูลค่าและรายได้

จิราพรกล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่เท่ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องไม่ดูเฉพาะมิติของการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพูดถึงการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่ให้มีอำนาจโน้มน้าว ให้คนอยากจะมาใช้สินค้าและบริการสินค้าที่ใช้ความสร้างสรรค์ของคนไทย โดยระบุว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดจิ๊กซอว์สำคัญสองตัว ได้แก่

1. การพัฒนาคนให้เข้าสู่อุตสาหกรรม

2. การทำให้สินค้าและบริการของไทยออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งต้องใช้การต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น จึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะทำโครงการ ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่แม้จะมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการคิดใหญ่เกินไปหรือไม่ที่จะสร้างแรงงานทักษะ 20 ล้านคน แต่ตนมองว่า พรรคเพื่อไทยต้องการใช้นโยบายนี้ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

“ที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นปัญหาใหญ่ เราก็ต้องคิดใหญ่ ถ้าคิดเล็ก เราไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ที่ได้เลย ซึ่งโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยพัฒนาคน โดยใช้ทักษะด้านซอฟต์พาวเวอร์ในการอัปสกิล รีสกิล พัฒนาแรงงานไทย ให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง ทำให้อย่างน้อยหนึ่งคนจากทุกครอบครัวจากทุกประเทศ มีโอกาสที่จะเข้ารับการอบรมฟรี ตั้งแต่ระดับชุมชน อำเภอ จังหวัด ประเทศ ไปจนถึงระดับสากล กลายเป็นเพชรเม็ดงามที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยตั้งแต่ฐานรากระดับประเทศไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้ประโยชน์จากนโยบายซอฟต์พาวเวอร์”

นอกจากการพัฒนาคนผ่านโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ จิราพรมองว่า ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อรองรับแรงงานทักษะ จึงสนับสนุนให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานที่ชื่อ Thailand Creative Content Agency หรือเรียกสั้นๆ ว่า THACCA ขึ้นมา ให้เป็นหน่วยงานกลางที่ต้องมีองค์ความรู้ มีอำนาจในการสั่งการ มีงบประมาณเพียงพอ เพื่อผลักดันทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะ ทำให้ทุกองคาพยพขยับไปในทิศทางเดียวกัน และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ร่วมแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา รวมถึงการบริหารงบประมาณร่วมกัน

“ดิฉันคิดว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์โดยหน่วยงาน THACCA ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการขับเคลื่อนมหาศาลเหมือนที่หลายท่านคิด เพราะแม้งบประมาณภาครัฐจะมีจำกัด แต่เงินในภาคเอกชนมีมหาศาล ดังนั้น หน้าที่ภาครัฐคือการอำนวยความสะดวก ส่งเสริมภาคเอกชน งบประมาณภาครัฐควรถูกใช้ไปในการชี้นำการลงทุน ทำให้เอกชนเห็นโอกาสและมั่นใจที่จะลงทุน เราก็จะมีเม็ดเงินอีกมหาศาลจากภาคเอกชน เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์

“และที่สำคัญที่สุด หน่วยงาน THACCA ต้องใช้กฎหมายพระราชบัญญัติในการจัดตั้ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการทำนโยบาย ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล หน่วยงานนี้ก็ยังคงอยู่ สามารถสานต่อนโยบายได้ในอนาคต ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา”

ช่วงท้ายของการอภิปราย จิราพรระบุว่า นับแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่เคยวางรากฐานในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยเอาไว้ ผ่านการสร้างศูนย์ TCDC โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการ OTOP โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น และอีกหลายโครงการ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

“ดิฉันคิดว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกหลังจากรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีรัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง จึงขอส่งกำลังใจไปยังรัฐบาลให้ทุ่มเททำงานหนักเต็มกำลัง ผลักดันนโยบายคิดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างความกินดีอยู่ดีให้พี่น้องประชาชน”

นอกจากนี้ จิราพรเกริ่นถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ดังนั้น การค้าระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก ตนจึงเห็นด้วยที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเร่งเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายระยะกลางและระยะยาว เพื่อสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตให้คนไทย ซึ่งปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีหน้าที่ 6-7

จิราพรเสริมว่าปัจจุบัน ไทยมีความตกลงเสรีทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว 14 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น FTA ที่สรุปการเจรจาและลงนามในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย แต่น่าเสียดายที่ 8-9 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มี FTA ฉบับไหนเจรจาจบเลย ผ่านมาเกือบทศวรรษ มีเพียงแค่ความตกลงการค้าอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (ASEP) ที่สรุปการเจรจาและมีการลงนาม

“จากนี้ไป เพื่อเร่งการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ดิฉันสนับสนุนให้รัฐบาลชุดนี้ใช้รูปแบบแบบสมัยไทยรักไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้มีผู้แทนการค้าไทย เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายจากฝ่ายบริหาร ไปพร้อมกับการเจรจาทางการค้า ซึ่งจะทำให้การเจรจาการค้าสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น แตกต่างจากการใช้หน่วยงานราชการ หรือระบบราชการปกติในการเจรจาไปเรื่อยๆ ทำให้ล่าช้า กินเวลานาน ไม่ทันกับการใช้ประโยชน์ นี่จึงเป็นงานใหญ่อีกชิ้นที่จะท้าทายฝีมือรัฐบาลชุดใหม่นี้เป็นอย่างมาก”

Tags: