‘ครามสกล’ ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวจังหวัดสกลนคร ซึ่ง นก’ – สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันพัฒนาต่อยอดยกระดับให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจฐานราก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย

แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยมีการต่อยอด ครามไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไล่ตั้งแต่อาหาร เวชสำอางค์ หรือแม้แต่ออร์แกนิกเซมิคอนดักเตอร์ (Organic semiconductor) ที่มีศักยภาพในทางการแพทย์ 

สะท้อนให้เห็นว่าโอทอปไม่ใช่แค่งานขายของ แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกไกล หากอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการลงทุนทางโครงสร้าง โดย ครามเป็นผลผลิตหนึ่งจากสกลนครโมเดล ซึ่งต่อยอดจากเรื่องอย่างครามไปสู่ฟ้าทะลายโจร โดยมีเป้าหมายใหญ่คือเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 หมื่นบาท

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้ฝีมือของ นก’ – สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม อดีตผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบัน Ben-Gurion University of the Negev ในคณะวิชา The Jacob Blaustein Institutes for Desert Research และ อดีตผู้ช่วยนักวิจัย สวทช.

สกุณาเริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า สกลนครนั้นเป็นจังหวัดที่ยากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ รายได้ต่อหัวต่ำ อาชีพส่วนใหญ่ของชาวสกลฯ คือทำการเกษตร ซึ่งปัญหาใหญ่เริ่มจากปัญหาทางภูมิประเทศ การจัดการน้ำ และที่ดิน

“ปัญหาเรื่องดินคือดินเค็ม เมื่อดินเค็มก็ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในชั้นบาดาล และเมื่อน้ำไม่ดี ผลผลิตทางการเกษตรก็มีปัญหา

แต่นกเคยไปอยู่และทำวิจัยที่อิสราเอล ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาเรื่องดิน น้ำ และพื้นที่ทำการเกษตรที่หนักที่สุด แต่เค้าใช้งานวิจัยและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปแก้ และมันแก้ได้ ตรงนี้เลยยิ่งทำให้นกเชื่ออย่างมากว่า ปัญหาทางการเกษตรมันแก้ได้ แต่ต้องแก้ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

เรื่องทั้งหมด เริ่มต้นจาก ครามของดีเมืองสกลฯ ที่ถูกพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เพิ่มรายได้หลักเข้าจังหวัด

ที่มั่นใจว่าแก้ได้ เพราะก่อนจะเป็น ส.ส. นกทำเรื่อง ครามมาก่อน และใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปจับทั้งนั้น

ครามหรือ ผ้าย้อมครามสกลที่สกุณาบอก คือผ้าพื้นเมืองย้อมครามที่ปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของจังหวัด ตัวเลขการส่งออก 3 ปีหลังน่าสนใจว่าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว 

ปี 2560 รายได้จากคราม อยู่ที่ 225 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้จากคราม อยู่ที่ 342 ล้านบาท 

และปี 2562 รายได้จากคราม ขึ้นไปถึง 667 ล้านบาท 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 สกุณา ในฐานะผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) พัฒนา ผ้าครามพื้นเมือง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่ใช้ความรู้ทางจุลินทรีย์เข้าไปจับ ประสานงานระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน เพื่อให้ต่างคนต่างเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ หาตลาดที่เหมาะสมทั้งในและต่างประเทศ ติดต่อประสานงานกับดีไซเนอร์มืออาชีพให้ช่วยเข้ามาออกแบบลวดลาย

และที่สำคัญ สกุณาตั้งใจใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปเจาะตั้งแต่ พื้นที่ทำกินถึง เส้นใย’ ดินแบบไหนที่เหมาะแก่การปลูกคราม, ระบบจัดการน้ำควรเป็นอย่างไร, ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บครามเพื่อให้ได้ สารอินดิแคนในปริมาณที่มากและเหมาะสมต่อการย้อมที่สุด, การพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อย่นเวลากระบวนการหมัก, พัฒนาเส้นใยให้กัน UV และกันยุงได้ในตัว กระทั่งความรู้ด้านการเกษตรอื่นๆ

ทั้งหมดนี้ทำให้ ครามสกลค่อยๆ เติบโต จนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ผ้าย้อมครามทำรายได้เข้าจังหวัดถึง 667 ล้านบาท ในปี 2562 และเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรชาวครามเพิ่มขึ้นตกเดือนละ 1 หมื่นบาท 

นอกจากครามแล้ว สกุณายังมีส่วนสำคัญในการปลูกฟ้าทะลายโจร เพื่อผลักดันสกลนคร ในฐานะเมืองแห่งสมุนไพรและยา ภายใต้ชื่อว่าเมือง ‘พฤกษเวช’ 

คนมักมองว่าสกลนครเป็นเมืองยากจน ไม่มีต้นทุนอะไรที่จะพัฒนาได้มาก คือถ้าพูดถึงกระบี่ ภาพจะชัดว่าคือเมืองท่องเที่ยว เมืองทะเล แต่กับสกลนคร ไม่ได้มีอะไรหวือหวา แต่นกไม่ได้คิดอย่างนั้น มีโอกาสอีกมากในพื้นที่โดยเฉพาะภาคการเกษตร แต่แน่นอนว่ามันต้องการการพัฒนา และสิ่งสำคัญในการพัฒนาคือการส่งโจทย์ที่ถูกต้อง เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่พอเข้าใจว่าโอกาสใหม่ๆ ของเกษตรในพื้นที่เราคืออะไร หน้าที่ของเราคือตั้งโจทย์แล้วส่งต่อให้กับมหาวิทยาลัย

อย่างเรื่องเกษตร สกลนครได้ชื่อว่าเป็นเมือง พฤกษเวชเมืองแห่งสมุนไพรและยา การจะพัฒนาก็ต้องมาดูว่าโจทย์คืออะไร ตลาดคืออะไร วันนี้ ชัดว่าตลาดกำลังพูดถึง ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิด-19 เราก็มาพัฒนากันต่อ ทำอย่างไรให้ฟ้าทะลายโจรจากสกลนครเป็นที่พูดถึง ขายได้จริง และได้รายได้ดีสกุณาเล่าให้ฟัง

 

ช่วงปี 2562 – 2563 ที่สกุณาเข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และมีแผนพัฒนาโครงการด้วยการไปดูงานที่บริษัทใหญ่ สกุณากลับขอเป็นตัวตั้งตัวตี บอกให้เริ่มทำงานด้วยการลงพื้นที่ไป ฟังและรับโจทย์จากชาวบ้าน โดยใช้เครือข่ายชาวบ้านและนักวิจัยในกลุ่ม ครามสกลเป็นตัวอย่าง ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่และเกษตรกร

สกลนครโมเดลจึงเกิดขึ้น โดยมีการพัฒนาผ้าครามและการจัดการพัฒนาสมุนไพรในนาม พฤกษเวช’ เป็นเรื่องหลัก โดยตั้งเป้าไว้ว่า เรื่องพวกนี้ต้องเพิ่มรายได้จริงให้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเดือนละ 1 หมื่นบาท

ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีบุษย์ ศรีไชยจรูญพง ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร หนึ่งในทีมวิจัย สกลนครโมเดลเล่าให้ฟังว่า อีกหนึ่งโจทย์ของ สกลนครโมเดลคือการพาเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งในความเป็นเกษตรกรนั้น บ้านบ้านหนึ่งสามารถทำได้หลายเรื่องมาก เป็นต้นว่า ทำครามคู่ไปกับการปลูกผัก ปลูกสมุนไพร

“จากทั้งหมดที่ชาวบานทำกันอยู่แล้ว เราจะเข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้และทำยังไงให้มันมีมูลค่าขึ้น โดยรีวิวตลาดแล้วพบว่าปี 2563 วงการวิชาการสนใจ แอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจร เพราะมีฤทธิ์ต้านโควิด เรามองว่าสารนี้มันมาแน่ๆ เลยไปดูว่าจะพัฒนาให้การปลูกหนึ่งครั้งได้สารตั้งต้นสูงที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างไร

ซึ่งการทำให้ สารในพืชนั้นมีปริมาณและคุณภาพสูงสุด ทั้งหมดนี้นำมาสู่การแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างการเรื่องดินและน้ำ โดยผู้รับผิดชอบประเด็นนี้คือ ทวัตชัย อัยยะรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร หนึ่งในทีม สกลนครโมเดลดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

ทวัตชัยพาทัวร์แปลงเพาะปลูกและเล่าให้ฟังว่า เดิมที สกลนครมีปัญหาเรื่องดินเค็มและน้ำไม่เพียงพอตลอดทั้งปี จึงเริ่มเข้ามาวิจัยดูว่าหากจะใช้น้ำบาดาล ควรขุดลึกที่สุดเท่าไรเพื่อไม่ไปเจอกับชั้นดินเค็มที่ทำให้น้ำเค็มตามไปด้วย เริ่มสร้างระบบปั๊มน้ำทั้งแบบน้ำพุ่งและน้ำหยด โดยคำนึงถึงการใช้งานของเกษตรตั้งแต่ไร่คราม นาข้าว และสมุนไพร ที่เกษตรกรสามารถใช้น้ำจากแหล่งเดียว แต่เวียนใช้อย่างมีประสิทธิภาพกินพื้นที่มากที่สุด และให้เหมาะกับธรรมชาติของเกษตรกรที่จะผลัดเวียนเปลี่ยนแปลงเพาะปลูกไปตามฤดูกาล

ปกติแล้วเกษตรกรจะมีน้ำใช้ไม่พอตลอดทั้งปี เราเริ่มโครงการจัดการน้ำและทดลองมาประมาณ 1 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านมา ระบบช่วยจัดการให้น้ำมีเพียงพอตลอดปี พอดินดี น้ำดี การดูแลก็ต้องมาและต้องบวกกับงานวิจัย เช่น ช่วงเวลาที่เหมาะสมของการตัดฟ้าทะลายโจร ตัดแล้วตากอย่างไร เก็บอย่างไร กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อยืนยันว่าเกษตรกรจะได้สารแอนโดรกราโฟไลด์มากที่สุด ซึ่งการตรวจประเมินที่ผ่านมา ปกติแล้วมาตรฐานแอนโดรกราโฟไลด์อยู่ที่ 1.5% ก็ผ่านแล้ว แต่ของเรามีถึง 4.5% ทำให้ฟ้าทะลายโจรของเราได้รับใบรับรองจากมหาวิทยาลัยเกษตร เพื่อใช้ใบรับรองนี้ไปหาตลาดส่งขายต่อไปได้

ไม่เพียงแต่เก็บฟ้าทะลายโจรมาขายสดๆ วิทยา ทานุมา หนึ่งในทีมวิจัย เสริมว่า ทีมวิจัยยังพัฒนาต่อยอด ทั้งการนำไปบดเป็นแคปซูลแล้วขายได้ 3,000 บาทต่อกิโลกรัม หรือหากปลูกเพื่อเอาเมล็ดอย่างเดียว จะได้ราคา 8,000–9,000 ต่อกิโลกรัม หากคำนวณรอบการปลูกของเกษตร ที่ในหนึ่งรอบใช้เวลา 4 เดือน โดยได้รอบละ 10 กิโลกรัม แปลว่าในรอบหนึ่ง หากปลูกเพื่อเอาเมล็ดอย่างเดียว ก็ได้รอบละ 8-9 หมื่นบาทเลยทีเดียว

ขณะที่สกุณาบอกว่า หน้าที่ของเธอนอกจากประสานให้นักวิชาการและเกษตรกรที่มาเจอกันแล้ว ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพาฟ้าทะลายโจรในรูปแบบแคปซูลของสกลนคร ไปสู่การได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขายจริงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาดขณะนี้

ถ้าเราทำได้จริง เป้าที่ว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 1 หมื่นบาทนั้นก็เป็นไปได้ ลองคำนวณง่ายๆ นะ ตอนนี้เรามีเกษตรกรในโครงการ 500 คน ก็เอาตัวเลขหนึ่งหมื่นนี้คูณเข้าไป แล้วถ้าขยายโครงการ ตีว่าหากมีเกษตรกรเข้ามาร่วมเพิ่ม 1 หมื่นคน GDP ของจังหวัดก็เพิ่มขึ้นมาได้ถึง 5%” สกุณากล่าว

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การพัฒนาที่ดินเพียงแค่ให้ปลูก ฟ้าทะลายโจรหรือ ครามได้ แต่คือการปรับที่ดิน จัดการระบบน้ำ เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาไปสู่สกลนคร ในฐานะเมืองที่พัฒนามาจากนวัตกรรมที่ทันสมัยและจากโจทย์ที่ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้คือฝันเล็กๆ ในฐานะ ส.ส. ของ สกุณา ที่ต้องการนำความรู้วิทยาศาสตร์ไปต่อยอด และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และไม่ว่าอะไร หากจังหวัดอื่นๆ จะนำรูปแบบนี้ไปปรับใช้บ้าง

Tags: , ,