สถานการณ์ในฮ่องกงเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อมีรายงานตัวเลขผู้อพยพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเรียกได้ว่าฮ่องกงกำลังเข้าสู่ ‘ภาวะสมองไหล’

รัฐบาลจีนและรัฐบาลฮ่องกงจะทำอย่างไร หลังการประท้วงใหญ่ทำให้รัฐต้องออกกฎหมายเข้มงวด จับกุมคุมขังคนที่เห็นต่าง เข้าควบคุมสื่อ ควบคุมเนื้อหาเชิงวิชาการ รวมถึงความพยายามเปลี่ยนวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของชาวฮ่องกงผ่านการปฏิวัติการศึกษา เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ใหม่ในแบบของตัวเอง ทำให้เมื่อคนรุ่นใหม่ในเขตบริหารพิเศษหมดใจกับบ้านเกิด

คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ควรเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ เลือกออกจากถิ่นฐานเดิม ไปดิ้นรนยังต่างแดนเพื่อไขว่คว้าเสรีภาพและชีวิตใหม่ดีกว่า

เกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกงกันแน่?

 

‘หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ 2012’ ความพยายามลบอัตลักษณ์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ไม่กี่ปีก่อน โลกได้เห็นการเคลื่อนไหวของชาวฮ่องกง นำโดยกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลายและนักศึกษาที่เกิดความรู้สึกว่าบ้านเกิดของตัวเองเริ่มมีความเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่เชื่อคำกล่าวของรัฐบาลจีนที่ยืนยันว่าทุกคนจะมีชีวิตได้อย่างอิสระ มีเสรีภาพ มีสิทธิตามที่ประชาชนคนหนึ่งควรได้รับ เพราะตั้งแต่จำความได้ คนรุ่นใหม่ไม่มีสิทธิแม้แต่จะเลือกผู้บริหารแผ่นดิน พานให้คิดว่ารัฐบาลจีนไม่ได้หยิบยื่นเสรีภาพ แต่กำลังค่อยๆ พรากอัตลักษณ์และตัวตนของชาวฮ่องกงไปทีละน้อย

จุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มเยาวชนรู้สึกว่าความคิดของพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงสมมติฐานลอยๆ ส่วนหนึ่งมาเหตุการณ์ในปี 2012 รัฐบาลฮ่องกงนำโดย ซีวาย เหลียง (Cy Leung) เตรียมปฏิรูปการศึกษาภายใต้ ‘หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ’ ที่รัฐบาลจีนแนะนำให้รัฐบาลฮ่องกงบังคับใช้อย่างจริงจัง หลักสูตรที่ว่านี้จะเน้นไปยังความคิดชาตินิยม สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน สร้างความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวระหว่างจีนกับฮ่องกง

หลักสูตรการศึกษาดังกล่าวได้รับเสียงต่อต้านจากกลุ่มเยาวชน สกอลาริซึม (Scholarism) ที่มี โจชัว หว่อง (Joshua Wong) เป็นหนึ่งในสมาชิกหลัก พวกเขาทำใบปลิวแจกประชาชน ปราศรัยตามท้องถนนว่าหลักสูตรการศึกษาใหม่ที่รัฐบาลจะใช้ส่งผลอะไรกับลูกหลานชาวฮ่องกงบ้าง พวกเขาเชื่อมั่นว่าแผนการศึกษาแบบใหม่จะลบอัตลักษณ์ ลบวัฒนธรรม ลบวิถีชีวิตเดิม เพื่อให้ฮ่องกงกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างแท้จริง

กลุ่มสกอลาริซึมพยายามอธิบายให้ชาวฮ่องกงเข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงไม่อยากเรียนหนังสือภายใต้หลักสูตรการศึกษาใหม่ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ แม้บางคนจะพ้นจากระบบการศึกษาไปแล้ว แต่คนรุ่นหลังที่เป็นคนในครอบครัวกำลังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ การศึกษาแบบใหม่กำลังทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างไร้การตั้งคำถาม ไร้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ต้องเชื่อทุกอย่างตามที่รัฐบาลจีนเขียนไว้ และการต่อต้านหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเยาวชน แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก

การปราศรัยบ่อยครั้งของกลุ่มเยาวชนได้รับเสียงตอบรับเป็นวงกว้าง จากการรวมกลุ่มกันไม่กี่สิบคน เริ่มกลายเป็นร้อยคน พันคน จากการชุมนุมแบบไม่ค้างคืน กลายเป็นการชุมนุมแบบปักหลักค้างคืน เสียงกดดันจากทุกสารทิศทำให้รัฐบาลยอมยกเลิกใช้หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ ทุกอย่างดูเป็นไปด้วยดีจนกระทั่งรัฐบาลจีนมีผู้นำคนใหม่ชื่อ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้ที่พยายามทำให้นโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ มั่นคงด้วยกฎหมายที่เด็ดขาด

การเมืองในยุค สี จิ้นผิง ยังคงใช้ข้อบังคับที่ระบุว่าชาวฮ่องกงจะยังคงไม่มีสิทธิเลือกคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่ากับว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้นำและคณะรัฐมนตรีของตัวเอง จนทำให้การประท้วงแต่เดิมที่เป็นแค่เรื่องการศึกษา แปรเปลี่ยนเป็นการประท้วงในประเด็นการเมืองระดับชาติที่ยืดเยื้อนานหลายปี

 

‘กฎหมายความมั่นคง 2020’ ข้อบังคับที่มีขึ้นเพื่อปราบปรามเสรีชน

การประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเป็นทั้งแรงบันดาลใจ เป็นทั้งกรณีศึกษา เป็นทั้งบทเรียนให้กับประชาชนทั่วโลกที่พยายามต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ โลกได้เห็นการปฏิวัติร่ม (Umbrella Revolution) ในเดือนกันยายน 2014 เห็นการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง เห็นประชาชน เด็ก คนชรา ถูกจับกุมคุมขัง จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2020 รัฐบาลจีนให้รัฐบาลฮ่องกงภายใต้การนำของ แคร์รี แลม (Carrie Lam) บังคับใช้ ‘กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่’ ที่กลายเป็นหนึ่งในกระบวนการพลิกเกมให้จีนควบคุมฮ่องกงได้เบ็ดเสร็จ

หลังรัฐบาลฮ่องกงออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามล่านักการเมืองฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ประชาชน สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม 2020 สหราชอาณาจักรออกหนังสือเดินทางบริติชโพ้นทะเล British National (Overseas) แก่ชาวฮ่องกงมากกว่า 216,398 เล่ม หรือคิดเป็น 5 เล่มต่อหนึ่งนาที คล้ายกับว่าผู้คนเริ่มมองลู่ทางใหม่ในต่างแดนมากขึ้น

ต่อมาในเดือนมกราคม 2021 รัฐบาลอังกฤษเตรียมออกวีซ่าให้แก่ชาวฮ่องกงอีก 5.4 ล้านคน คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร โดยวีซ่าดังกล่าวมีชื่อว่า Hong Kong British National (Overseas) ครอบคลุมถึงผู้ถือหนังสือเดินทางบริติชโพ้นทะเล British National (Overseas) อีก 2.9 ล้านคน เปิดโอกาสให้ชาวฮ่องกงที่สนใจย้ายถิ่นฐานได้พำนักอยู่ในอังกฤษนาน 5 ปี โดยแจ้งวัตถุประสงค์ด้านการทำงานหรือการศึกษา ก่อนจะทำเรื่องขออยู่ต่ออีก 12 เดือน เพื่อเข้ารับการพิจารณาเปลี่ยนสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษ

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้ฮ่องกงที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมได้มีทางเลือกที่สอง หลังรัฐบาลไล่ตามจับแกนนำและนักการเมืองฝ่ายค้าน 52 คนในครั้งเดียว จับนักเคลื่อนไหวที่พยายามล่องเรือข้ามไปยังไต้หวันอีก 12 คน รวมถึงความพยายามตามตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้กลับมารับโทษอีกจำนวนมาก

การกระทำของอังกฤษสร้างความไม่พอใจแก่จีนเป็นอย่างมาก จ้าว ลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลจีนไม่อาจยอมรับสถานะหนังสือเดินทาง BNO ของชาวฮ่องกงได้ แสดงความคิดเห็นว่าอังกฤษกำลังล่อหลอกชาวฮ่องกงเพราะขาดแคลนแรงงาน ผู้ที่หลงเชื่อข้อเสนอเย้ายวนใจจะตกเป็นพลเมืองชนชั้นสองในต่างแดน ทำให้หนังสือเดินทาง BNO ถูกใช้งานอย่างผิดวัตถุประสงค์ เป็นเพียงสิ่งที่ยืนยันถึงความเย่อหยิ่งของเจ้าอาณานิคมล้าสมัย

ในช่วงปี 2019 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมย้ายถิ่นฐานกันเท่าไหร่นักเพราะติดเหตุผลหลายประการ เช่น เงิน ภาษา อายุ การปรับตัวทางวัฒนธรรม รวมถึงเหตุผลน่าสนใจอย่างความต้องการอยู่ต่อ เพื่อต่อสู้จนกว่าดินแดนฮ่องกงจะมีประชาธิปไตยแท้จริง

แม้จำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานจะยังไม่มากจนเห็นได้เด่นชัด แต่ภาพภาวะสมองไหลในฮ่องกงเริ่มก่อร่างสร้างตัว และยิ่งหนักขึ้นเมื่อรัฐบาลเตรียมปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหลังล้มเหลวไปเมื่อปี 2012

 

‘หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ 2021’ แผ่นดินใหญ่พยายามสร้างประวัติศาสตร์ใหม่อีกครั้ง

หลังการประท้วงครั้งใหญ่เผยให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมทุกอย่างได้ รัฐบาลจีนและรัฐบาลฮ่องกงไม่ทำเพียงแค่ออกกฎหมายปราบปรามผู้เห็นต่าง แต่พยายามหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวด้วยการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หาวิธีทำให้คนรุ่นหลังไม่ลุกขึ้นมาประท้วงอีกด้วยการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาใหม่ วิชาที่เด็กๆ ต้องเรียน เช่น ประวัติศาสตร์ สังคม ชีววิทยา พลศึกษา ดนตรี ฯลฯ ต้องเปลี่ยนใหม่หมด คู่กับการทำลายหนังสือและเอกสารประกอบการเรียนที่เข้าข่ายขัดต่อความมั่นคง โดยรัฐบาลให้เหตุผลที่ต้องทำว่า “เราไม่สามารถถกเถียงหรือประนีประนอมเรื่องความมั่นคงของชาติได้”

โรงเรียนอนุบาลทั้งของรัฐและเอกชนจะต้องปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนให้มากขึ้น เพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์จีน วัฒนธรรมจีน การศึกษาด้านศีลธรรม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของเด็กๆ ในฐานะชาวจีน เด็กชาวฮ่องกงที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับเนื้อหาทางวิชาการฉบับปรับปรุงใหม่เพื่อทำความรู้จักกับกองทัพจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความพยายามปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลฮ่องกง กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญทำให้ชาวฮ่องกงบางส่วนตอบรับคำเชิญของอังกฤษ กระแสย้ายถิ่นฐานถูกนำมาเป็นหนึ่งในบทสนทนามากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเสนอทางเลือกเพิ่มแก่ชาวฮ่องกงด้วยการมอบพื้นที่หลบภัยชั่วคราวแก่ผู้ที่ประสงค์ออกจากเขตบริหารพิเศษ

สหรัฐฯ ให้เหตุผลคล้ายกับอังกฤษด้วยมองว่าจีนกำลังละเมิดเสรีภาพประชาชน ละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ จำกัดเสรีภาพสื่อ ซ้ำยังจับกุมประชาชนมากกว่าร้อยราย สหรัฐฯ จึงไม่สามารถนิ่งดูจีนทำผิดสัญญาที่เคยให้ไว้กับฮ่องกงและประชาคมโลก อนุญาตให้ชาวฮ่องกงสามารถพำนักอยู่ในสหรัฐฯ 18 เดือน พร้อมกับสิทธิการขอใบอนุญาตจ้างงาน จนรัฐบาลจีนออกมาประณามสหรัฐฯ ว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน เพราะฮ่องกงคือส่วนหนึ่งของจีนไม่ต่างกับไต้หวัน

การเมืองไร้เสถียรภาพ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกีดกันผู้แทนชาวฮ่องกงในสภา การสั่งขังผู้คนไม่เว้นแต่ละวัน ความพยายามปฏิวัติการศึกษา รวมถึงวิธีการจัดการกับโควิด-19 ที่แปลกประหลาด เหตุผลทั้งหมดมีส่วนทำให้ตัวเลขผู้อพยพออกนอกเขตบริหารพิเศษเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ภาวะสมองไหลของฮ่องกงเริ่มเด่นชัดมากขึ้นในปี 2022

ผู้เขียนเคยเล่าถึงสถานการณ์ด้านการศึกษาในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 เอาไว้ในบทความ ‘หรือจีนกำลังเข้าใกล้เส้นชัย? เมื่อฮ่องกงถูกกลืนกินอัตลักษณ์ ส่วนไต้หวันต้องเผชิญภัยคุกคามทางทหาร’ การปรับแบบเรียนที่วางแผนไว้ในปี 2021 เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เห็นได้จากแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า “ฮ่องกงไม่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ”

ระบบการศึกษาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของ จอห์น ลี (John Lee) ที่ถูกเลือกโดยรัฐบาลจีนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังระบุอีกว่ากลุ่มผู้ประท้วงในช่วงไม่กี่ปีมานี้เป็นมวลชนหัวรุนแรงที่พยายามล้มล้างรัฐบาล เป็นภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ส่วนรวม รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปราบปราม เร่งนำความสงบสุขคืนสู่สังคม

ย้อนกลับไปยังปี 2021 หน่วยงาน Youth I.D.E.A.S. ผู้จัดการปราศรัย อภิปราย เสวนาทางการเมืองในฮ่องกง เผยผลสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีต่อบ้านเกิดของตน พบว่ามีปัจจัยหลัก 3 อย่าง ถูกเลือกให้เป็นเหตุผลที่ทำคนอยากย้ายออกจากฮ่องกงมากที่สุด ได้แก่

1. เลือกย้ายถิ่นฐานเพราะต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการแบ่งเวลาตามแนวคิด  work life balance และความต้องการใช้ศักยภาพที่มีไปกับการทำงานที่ตัวเองต้องการ

2. เลือกย้ายถิ่นฐานเนื่องจากนโยบายต้อนรับชาวฮ่องกงของหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา โดยมองว่าประเทศเหล่านี้จะให้โอกาสที่ดีกว่าในหลายด้าน

3. เลือกย้ายถิ่นฐานเพราะต้องการอยู่ในเขตแดนหรือประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เมื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวรวมเข้ากับข้อมูลตัวเลขประชากรฮ่องกง ทำให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แรงงานในเขตบริหารพิเศษลดลง 3.75 ล้านคน คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ตัวเลขที่ว่านี้คือจำนวนที่น้อยที่สุดในรอบทศวรรษ และในเดือนเมษายน 2022 มีแรงงานหายไปกว่า 33,700 คน กลายเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 ที่รัฐบาลเริ่มเก็บข้อมูล

ข้อมูลแรงงานอาจยังไม่ให้ภาพที่ชัดเจน แต่ถ้าลองดูตัวเลขจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะพบว่าครึ่งแรกของปี 2018 ตม. อนุมัติวีซ่าทำงาน 20,314 ฉบับ แต่ครึ่งแรกของปี 2022 ตัวเลขลดลงอย่างเห็นได้ชัดเหลือเพียง 5,701 ฉบับ สวนทางกับจำนวนผู้คนที่เลือกทิ้งบ้านเกิดไปใช้ชีวิตอยู่ยังพื้นที่อื่น เพราะตัวเลขประชากรในปี 2022 ลดลงจากเดิม 7.41 ล้านคน เหลือ 7.29 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลงติดต่อกันนาน 3 ปี ตัวเลขนี้ถือว่ามากที่สุดในรอบ 60 ปี เท่ากับว่าประชาชน 121,500 หรือ 1.6 เปอร์เซ็นต์ เลือกย้ายออกจากเขตบริหารพิเศษ

การจัดการกับโควิด-19 ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญไม่แพ้กับการปราบปรามทางการเมือง บริษัทข้ามชาติหลายแห่งตัดสินใจย้ายฐานการทำงานออกไป พวกเขาให้เหตุผลว่าขณะที่ทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศ เปิดน่านฟ้า กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ฮ่องกงยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่บนโลกที่ยังคงใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด ขณะที่ยังไม่ปลดล็อกมาตรการใดๆ รัฐก็ไม่ได้มีวิธีรับมือที่ดีกว่า รวมถึงประเด็นที่ว่าการที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมทุกด้าน ทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงใกล้ชิดกับจีนมากจนเกินไป

แม้ตัวเลขประชากรจะลดลงติดต่อกันทุกปี แตกต่างจากตัวเลขประชาชนที่อพยพออกนอกประเทศ แต่รัฐบาลยังคงเชื่อมั่นว่าฮ่องกงกำลังเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เห็นได้จากแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2022 ที่ระบุว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกำลังค่อยๆ ฟื้นฟูเสถียรภาพอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงของแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนทั้งคนที่เป็นพลเมืองรวมถึงนักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในรัฐบาล ฮ่องกงจะยังคงเป็นมหานครที่เปิดกว้าง มีชีวิตชีวา ปลอดภัย และเป็นมิตรกับทุกคน”

 

อ้างอิง

https://www.scmp.com/news/hong-kong/society/article/3125412/hong-kong-brain-drain-threat-nearly-quarter-university

https://www.scmp.com/news/hong-kong/hong-kong-economy/article/3125233/hong-kongs-it-sector-facing-shortage-skilled

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-18/hong-kong-talent-pool-drained-further-as-graduates-join-exodus

https://edition.cnn.com/2022/08/12/asia/hong-kong-population-record-fall-covid-intl-hnk/index.html

https://www.aljazeera.com/news/2022/8/13/whats-going-on-in-hong-kongs

Tags: , , , , , , , , , , , ,