“ฮ่องกงคือบ้านเกิด คือสถานที่ที่เรารัก อนาคตของฮ่องกงควรให้คนฮ่องกงตัดสินใจ ไม่ใช่รัฐบาลจีน” – โจชัว หว่อง

คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อของ ‘โจชัว หว่อง’ (Joshua Wong) เด็กหนุ่มชาวฮ่องกงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ บางคนอาจเคยได้ยินชื่อเขาแบบผิวเผิน หลายคนเฝ้าดูการต่อสู้อันยาวนานของเขา บางคนมีภาพจำต่อโจชัวว่าเป็นเด็กผู้ชายใส่แว่น ท่าทางกระด้างกระเดื่องออกไปทางหัวรุนแรง 

และเวลานี้ คนไทยจำนวนมากเริ่มอยากรู้จักโจชัว หว่อง เพราะสิ่งที่ผู้ชุมนุมฮ่องกงได้เจอมา มันช่างคล้ายกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมไทยกำลังเผชิญอยู่เสียเหลือเกิน จนหลายคนอยากจะเข้าใจความคิด กระบวนการต่อสู้ และข้อเรียกร้องของชาวฮ่องกงให้มากยิ่งขึ้น

Joshua: Teenager vs Superpower คือสารคดีของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของ โจชัว หว่อง กับเพื่อน ๆ นักเรียนมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งในฮ่องกง ที่รู้สึกว่าอำนาจเผด็จการจากจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังค่อย ๆ ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็นของชาวฮ่องกง ถึงแม้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเคยบอกชาวฮ่องกงว่า พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นได้ มีเสรีภาพ และมีสิทธิในการชุมนุม แต่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย กับการรับปากว่า ในอนาคตชาวฮ่องกงจะมีสิทธิเลือกผู้นำของตัวเอง การกระทำของรัฐบาลปักกิ่งก็ชวนให้ชาวฮ่องกงบางส่วนรู้สึกว่า จีนกำลังลดทอนความเป็นฮ่องกงของพวกเขาไปทีละน้อย

สารคดีเริ่มเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้โจชัวกับเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล พวกเขาตั้งคำถามกับ ‘แผนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติปี 2012’ ที่รัฐบาลปักกิ่งแนะนำให้รัฐบาลฮ่องกงนำไปใช้ การกระทำนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่รับรู้ได้ทันทีว่าจีนกำลังพยายามเริ่มทำบางสิ่ง และสิ่งที่จีนทำจะส่งผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้

แผนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ 2012 มุ่งเน้นความคิดชาตินิยม รักในความเป็นจีน ปลูกฝังความคิดให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความสำนึกรักบ้านเกิด (จีน) ภูมิใจในความเป็นชาติ (จีน) และสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ โจชัวกับเพื่อนเพียงไม่กี่คนรวมกลุ่มกันตั้ง ‘สกอลาริซึม’ (Scholarism) ออกเดินสายแจกใบปลิว พูดคุยกับผู้คนบนท้องถนน แสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับแผนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ เพราะพวกเขามองว่าหลักสูตรดังกล่าวพยายามลบวิถีชีวิตและความคิดของชาวฮ่องกง และเกรงว่าในอนาคตอันใกล้ หลักสูตรดังกล่าวจะกลืนกินจิตวิญญาณของพวกเขาจนหมดได้จริง ๆ

เดือนมีนาคม 2012 เหลียง ชุนอิง หรือ ซีวาย เหลียง (Cy Leung) ได้รับเลือกเป็นประธานคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สิ่งแรก ๆ ที่เขาเริ่มทำคือ ประกาศเตรียมใช้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2012 เหล่านักเรียนนักศึกษาจึงต้องเร่งวางแผนเพื่อทำให้เสียงของตัวเองดังไปถึงซีวาย เหลียง หรือถ้าเป็นไปได้ เสียงจะต้องดังไปถึงรัฐบาลปักกิ่งที่ประเทศจีน

แรกเริ่ม การรวมกลุ่มรณรงค์ไม่เอาหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นจากเด็กไม่ถึงสิบคน เมื่อพวกเขาอดทนยืนหยัดอย่างมุ่งมั่น จำนวนคนที่อยู่เคียงข้างก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งเพิ่มเสริมเติมเข้ามาเป็นสิบกว่าคน จากหลายสิบคนเริ่มเดินร่วมกันบนถนนในหลักร้อย จากหลายร้อยเพิ่มขึ้นถึงหลักพัน ในตอนนี้เสียงของโจชัวกับนักเรียนนักศึกษาส่งไปถึงประชาชนชาวฮ่องกงมากขึ้น

กลุ่มนักเรียนพยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงไม่อยากเรียนหนังสือภายใต้หลักสูตรการศึกษาที่กำลังจะเริ่มอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พยายามแสดงให้ผู้คนหลากหลายช่วงวัยเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ แม้คุณจะเรียนจบและพ้นจากระบบการศึกษาไปแล้ว แต่น้องของคุณ ลูกของคุณ หลานของคุณ หรือทายาทรุ่นต่อ ๆ ไปของคุณจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขาดการตั้งคำถาม ไร้สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นหรือกำหนดทิศทางชีวิตของตัวเอง ดังนั้น การต่อต้านหลักสูตรการศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของนักเรียน หากเป็นเรื่องที่ชาวฮ่องกงทุกคนควรตระหนักให้มากขึ้น ท้ายที่สุดผู้เข้าร่วมก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนรุ่นใหม่อีกต่อไป แต่การเรียกร้องครั้งนี้คือการชุมนุมของชาวฮ่องกง เพื่อฮ่องกง

เราไม่ใช่คนจีนอยู่แล้ว เรามีเอกลักษณ์ เพราะคนฮ่องกงก็คือคนฮ่องกง”

ท้ายที่สุด การต่อสู้บรรลุเป้าหมาย รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลฮ่องกงตัดสินใจยกเลิกการใช้หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ ถึงจะจัดการปัญหาแรกไปได้ แต่ประชาชนชาวฮ่องกงต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีนอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของจีน เขามีท่าทีแข็งกร้าวในการรวมฮ่องกงและไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งตามนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ อย่างจริงจัง จนทำให้การประท้วงในฮ่องกงต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง

การประท้วงครั้งนี้ยกระดับจากครั้งก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเรียกร้องเรื่องระบบการศึกษา แต่ชาวฮ่องกงเริ่มพูดคุยถึงสิทธิที่ควรจะได้เลือกผู้นำของตัวเอง ไม่ใช่แค่รอให้รัฐบาลจีนเลือกผู้นำมาให้ พร้อมทวงถามถึงสัญญาที่จีนเคยให้ไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ว่าจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ฮ่องกง แต่จนวันนี้พวกเขาเหมือนกับถูกบีบคั้นมากขึ้นทุกที

บางช่วงบางตอนของ Joshua: Teenager vs Superpower พานให้รู้สึกว่าสิ่งที่โจชัวกับชาวฮ่องกงพบเจอ ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่หลายคนในหลายพื้นที่บนโลกพบเจอมากนัก แรกเริ่มของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องบางสิ่งมักเกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเล็ก ๆ จากนั้นจึงขยายวงกว้างจนรวมมวลชนได้มหาศาล นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการพยายามยึดสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความเร็วของผู้ชุมนุม การเดินลงถนนสลับปักหลักรอดูท่าทีของรัฐบาล ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยปราบปรามที่พากันมาเฝ้าระวังผู้ชุมนุมแล้วบอกว่า “เรามาเพื่อปกป้องพวกคุณ” ทั้งที่จริงพวกเขากำลังปกป้องชนชั้นปกครอง ไม่ได้ปกป้องประชาชนอย่างที่เคยได้กล่าวไว้ มันช่างเหมือนภาพที่ฉายวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลก

เมื่อชาวฮ่องกงถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ในตอนนั้นพวกเขามีเพียงแค่ร่มคนละคัน แต่กลับต้องใช้ร่มสู้กับแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และกระบองของเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งบอกกับผู้ชุมนุมว่ามาเพื่อดูแล รัฐบาลคงคิดว่าหากใช้กำลังปราบปราม แสดงความเด็ดขาดให้ทุกคนได้เห็น ผู้ชุมนุมจะหวาดกลัวไม่กล้าออกมารวมตัวกันอีก แต่ผลที่ได้รับกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง การกระทำรุนแรงรังแต่จะยกระดับการชุมนุม ดึงดูดผู้คนให้มาร่วมมากยิ่งขึ้น

พอได้เห็นหลายเหตุการณ์ที่ฮ่องกงเจอมาก่อนแล้วมองย้อนกลับมา นั่งพินิจปล่อยความคิดให้ตกตะกอน ก็พบว่าบางช่วงเวลาของฮ่องกงก็ไม่ได้แตกต่างจากไทยในวันนี้เท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่สารคดีเรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมชาวไทยบางส่วนเข้าใจ หรือรู้สึกมีอารมณ์ร่วมต่อสิ่งที่โจชัวและชาวฮ่องกงต้องเจอ

สารคดีเรื่องนี้คือการพาผู้ชมไปรู้จักกับ โจชัว หว่อง แกนนำม็อบฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาลจีน หลายคนจะได้รับรู้แง่มุมของเขามากขึ้นกว่าที่เคยรู้ จึงไม่แปลกที่น้ำหนักของสารคดีจะเทน้ำหนักมาทางกลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงมากกว่ารัฐบาลจีน ถึงจะเอนเอียงไปบ้าง แต่การได้ตามติดเด็กผู้ชายที่ลุกขึ้นสู้กับมหาอำนาจ ได้เห็นการต่อสู้ในรูปแบบต่าง ๆ เห็นการพยายามทุกวิถีทางเท่าที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งจะคิดออก สารคดี Joshua: Teenager vs Superpower ก็ได้เผยให้เห็นคำตอบว่าเพราะอะไรผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ถึงได้ยอมเดินตามการนำของเด็กผู้ชายใส่แว่นตัวผอมแห้งแต่ใจสู้ไม่ถอยคนนี้ไปจนสุดทาง

แม้ โจชัว หว่อง กลุ่มสกอลาริซึม นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนชาวฮ่องกงที่ตัดสินใจออกจากบ้านมาร่วมชุมนุม จะรู้ความจริงที่ยากจะปฏิเสธว่าสิ่งที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเขาต้องการ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องต่อรัฐบาลปักกิ่ง ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงถึงเป้าหมายได้รวดเร็วทันที เพราะความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดได้เพียงข้ามคืน โจชัวเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เป็นความหวังที่ใสซื่อและเกินจริง’ แต่ถึงอย่างนั้น เขากับชาวฮ่องกงทุกคนก็ยังคงเดินหน้าต่ออย่างไม่ย่อท้อ เพราะพวกเขาจะไม่ยอมให้คนรุ่นหลังต้องพบกับสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ณ เวลานี้

“พ่อแม่ของเราพูดว่า การร่วมม็อบจะทำให้เสียอนาคต แต่อนาคตแบบไหนที่เราจะมี ภายใต้ระบบการปกครองนี้” – โจชัว หว่อง

 

ที่มา

https://www.netflix.com/th-en/title/80169348

 

Tags: , , , , , , , , , , , , ,