หากใครเคยฟังเรื่องราวนิทานหรือตำนานปรัมปราใดๆ ตำนานเหล่านี้มักจะมีความคล้ายคลึงกันในเรื่อง ‘มหาบุรุษคนหนึ่ง’ ที่สามารถก้าวขึ้นมาเพื่อกระทำสิ่งยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ โดยทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วว่าให้มหาบุรุษคนนั้นครองความยิ่งใหญ่ และเป็นขวัญใจมวลชนไปช้านาน ทั้งหมดนี้ถูกสรุปไว้อยู่ภายใต้ของ ‘Great Man Theory’ หรือ ‘ทฤษฏีมหาบุรุษ’ ที่บอกว่าความสามารถในการเป็นผู้นำนั้นมีมาแต่กำเนิด
ตามทฤษฎีนี้ การที่ใครสักคนจะเป็นผู้นำจะต้องมีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำมาตั้งแต่เกิด และคำว่ามหาบุรุษที่ถูกนำมาใช้ก็เพราะในขณะนั้น ภาวะผู้นำยังถูกมองว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ชายเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความเป็นผู้นำทางทหาร
ทฤษฎีมหาบุรุษเริ่มได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 19 บรรดาผู้นำที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก เช่น อับราฮัม ลินคอล์น, จูเลียส ซีซาร์, หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช ต่างก็มีส่วนสนับสนุนแนวคิดว่าผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็นผู้ที่ถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่เกิด มากกว่าถูกสร้างหรือฟูมฟักขึ้นมา
หลายตัวอย่างในอดีตดูเหมือนจะสามารถพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของทฤษฎีนี้ได้ เนื่องจากในอดีตมีมหาบุรุษมากมายที่เฉิดฉายปรากฏตัวขึ้นมาในวินาทีคับขันอย่างน่าอัศจรรย์ เพื่อควบคุมสถานการณ์และนำกลุ่มคนไปสู่ความปลอดภัยหรือความสำเร็จ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง โทมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle) เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้เป็นอย่างมาก เขากล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ของโลกเป็นเพียงชีวประวัติของผู้ยิ่งใหญ่” หรือผู้นำที่มีประสิทธิภาพคือผู้ที่ได้รับการดลบันดาลจากสวรรค์ (Divine Inspiration) และมีคุณลักษณะที่เหมาะสม
แต่งานวิจัยแรกเริ่มที่สนับสนุนทฤษฏีมหาบุรุษ ส่วนใหญ่จะศึกษาเฉพาะผู้นำที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ซึ่งรวมไปถึงผู้ปกครองของชนชั้นสูงที่มักจะได้สิทธิ์ในการเป็นผู้นำมาแต่กำเนิดเป็นส่วนใหญ่ และใครก็ตามที่มีสถานะทางสังคมน้อยกว่า เท่ากับมีโอกาสฝึกฝนความเป็นผู้นำได้น้อยกว่าลงไปด้วย สภาพสังคมในเวลานั้นจึงมีส่วนสำคัญเหมือนกันที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า ความเป็นผู้นำเป็นความสามารถโดยธรรมชาติ
นอกจากนี้ การที่ชุดความคิดดังกล่าวสามารถสืบต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน อาจเพราะคนเรามักจะมองคุณลักษณะนิสัยภายนอกของใครบางคนเพียงอย่างเดียวแล้วตัดสินว่าใครเหมาะ หรือไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำโดยยังไม่ได้คำนึงปัจจัยอื่นๆ ในการเป็นผู้นำในตัวคนคนนั้นด้วย นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) จึงเสนอความเห็นว่า การเปฺ็นผู้นำถือเป็นผลผลิตของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่
“คุณต้องยอมรับว่าการกำเนิดของชายผู้ยิ่งใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับอิทธิพลอันซับซ้อนที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งได้ก่อให้เกิดเชื้อชาติที่เขาปรากฏตัว และสภาพสังคมที่เผ่าพันธุ์นั้นดำเนินเติบโตไปอย่างช้าๆ เพราะว่าก่อนที่เขาจะสร้างสังคมใหม่ได้ สังคมของเขาต้องสร้างเขาขึ้นมาเสียก่อน”
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของ Great Man Theory คือ ไม่มีอะไรจะสามารถการันตีได้ว่าคนที่มีลักษณะนิสัยของผู้นำตามธรรมชาติ (Natural Born Leader) จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดีได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นใครก็ตามที่มีคุณสมบัติดังกล่าวคงก้าวขึ้นมารับบทบาทผู้นำในทุกที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่
ประเด็นนี้ บทวิจัยของแกรี ยูเคิล (Gary Yukl) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการและความเป็นผู้นำมหาวิทยาลัยประจำรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ขยายความเพิ่มว่า ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างน่าประหลาดใจ และมีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของผู้นำคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะเฉพาะของกลุ่ม ผู้นำในอำนาจ และสถานการณ์ทั้งหมดมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อกำหนดลักษณะของผู้นำที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ดังนั้น คำกล่าวว่า “Leaders are born, not made” อาจควรแทนที่ด้วยคำว่า “Leaders are made, not born” มากกว่า เพราะการเป็นผู้นำย่อมไม่ใช่สิทธิ์ที่เราจะสามารถมอบให้ใครได้ง่ายๆ โดยยังไม่ได้ผ่านบทพิสูจน์ และการเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่สมควรได้รับมาจากความพยายามอย่างหนัก ซึ่งเป็นราคาที่เราทุกคนต้องจ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ที่มา
– https://collaborativeleadershipteam.com/blog/leaders-are-made
– https://www.verywellmind.com/the-great-man-theory-of-leadership-2795311#citation-2
– https://www.motivii.com/blog/great-leaders-born-made
– https://www.themuse.com/advice/real-talk-are-leaders-born-or-made
Tags: Wisdom, Great Man Theory