*มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ 

คืนนั้นเซซิเลียลุกตื่นกลางดึก แอบลอบสังเกตว่าสามียังหลับสนิทดีอยู่หรือเปล่าหลังจากโดนวางยาไป เธอเดินย่องเบาเข้าไปเก็บข้าวของ ลงไปชั้นใต้ดินเพื่อตัดระบบกล้องวงจรปิด จากนั้นเธอกลับขึ้นมาเบี่ยงทิศทางกล้องตัวหนึ่งให้จับจ้องไปที่เตียง ต่อภาพเข้ากับมือถือ เพื่อให้แน่ใจว่าสามีของเธอยังคงหลับอยู่ตลอดเวลาที่เธอดำเนินการหนี แต่ด้วยความเชื่อไม่ได้ของสิ่งมีชีวิต ระบบเตือนภัยดังขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เธอปีนออกจากรั้วบ้านหรูหราออกมาพบน้องสาวจอดรถรออยู่ สามีของเธอวิ่งตามมาติดๆ เขาไม่ให้เธอไป ไม่ยอมให้ใคร ‘ออกนอกการควบคุม’ ของเขา แต่เธอก็หนีมาได้อบ่างฉิวเฉียดในที่สุด

หลังจากนั้นเธอถูกนำตัวไปพักที่บ้านน้องเขยนายตำรวจผิวสี เธอไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าแม้แต่จะออกไปหยิบจดหมายหรือหนังสือพิมพ์ เธอหาขี้ผึ้งมาปิดทับกล้อง พยายามไม่ติดต่อกับน้องสาว เธอกลัวว่าเขาจะตามรอยเจอ 

เวลาผ่านไป แต่เธอยังคงหวาดวิตก หากวันหนึ่งน้องสาวเอาข่าวสำคัญมาบอกว่าทุกอย่างจบลงแล้ว เธอเลิกกลัวได้แล้ว เธอเป็นอิสระโดยแท้จริง ได้เวลาของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทุกอย่างดูเหมือนจะค่อยๆ ดีขึ้นจากนั้น หากลึกลงไปเธอยิ่งเริ่มรู้สึกเข้มข้นว่ามีบางสิ่งจับตาเธออยู่ เธอรู้สึกได้แต่มองไม่เห็น บางสิ่งควบคุมเธอจากที่ไกล บางสิ่งที่แกล้งเธอตอนเธอหลับ หรือบางสิ่งวางแผนสร้างเรื่องให้เธอต้องซวย วางยาเธอ ทำให้เธอค่อยๆ เป็นคนบ้า และเป็นอาชญากร มันอาจจะเป็นอาการประสาทหลอนของปัจเจกบุคคล หรืออาจจะมีผีที่เธอมองไม่เห็นจ้องมองเธอ เขาอาจจะยังอยู่ คราวนี้ไม่ใช่ในบ้านของเขา แต่เป็นทุกหนแห่ง

ดัดแปลงอย่างหลวมๆ จากบทประพันธ์คลาสสิคของ H.G. Wells โดยอาศัยเพียงชื่อ Griffin นักวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์สภาวะล่องหน จากบทประพันธ์ดั้งเดิมที่พูดเรื่องตัวของมนุษย์ล่องหนที่พยายามจะกลับมาปกติขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากการเป็นมนุษย์ล่องหนในการประกอบอาชญากรรม ฉบับใหม่นี้ โฟกัสของหนังกลับย้ายมาอยู่ที่ ผู้หญิงของมนุุษย์ล่องหน เหยื่อของมนุษย์ล่องหน คนที่ล่องหนเช่นกัน เพราะไม่ถูกมองเห็นว่ากำลังทุกข์ทนและพยายามดิ้นรนเพื่อจะถูกมองเห็นอีกครั้งในฐานะของเหยื่อของความรุนแรงภายในครอบครัว

เราอาจพูดได้ง่ายๆ ว่านี่คือหนังที่พูดถึงความรุนแรงในครอบครัวหนังในทำนอง ‘เลือกผัวผิดคิดจนตัวเกือบตาย’ แบบที่ทำให้นึกถึง Sleeping With the Enemy หนังทริลเลอร์ ที่ไม่ค่อยดังของ Julia Roberts แต่คนจำได้อยู่ไม่น้อย หนังเล่าเรื่องคล้ายๆ กันว่าด้วยหญิงสาวพบชายในฝันที่ต่อมาจะรู้ว่าเขาเป็นไอ้ขี้หึงตีเมีย และลามไปจนถึงเป็นโรคจิต จนต้องหนีออกมา 

แต่ The Invisible Man ฉบับนี้ไม่ได้โฟกัสความพลิกผันของฝันหวาน หรือแม้แต่การตระหนักรู้ว่าฝันสลาย หนังไม่ได้พูดถึงการหนี แต่พูดถึงการ ‘หนีไม่พ้น’ ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม เขาที่ไม่ out of sight is out of mind หากตามติดไปในทุกที่ 

เราอาจจะบอกได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่พอลองพิจารณาเรากลับพบว่ามันอาจใช้เป็นภาพแทนของการจัดการพลเมืองโดยรัฐสมัยใหม่ รัฐแบบรัฐที่คอยสอดส่องพลเมืองของตนตลอดเวลา ประดุจดัง panopticon หรือหอคอยกลางคุกที่ผู้คุมใช้จับตานักโทษได้ตลอดเวลา ในทฤษฎีเกี่ยวกับชีวอำนาจ (Biopower) ของ Michele Foucault 

ดังที่บทความจากประชาไทกล่าวไว้ว่า

“แนวคิดเรื่อง ‘อำนาจ’ (Power) ที่ Foucault เสนอได้กลายมาเป็นรูปแบบของอำนาจที่มีลักษณะเฉพาะตัวและฉีกออกไปจากแนวการนำเสนอแนวคิดเรื่องอำนาจในก่อนสมัยใหม่ และเป็นอำนาจที่มีกลไกการทำงานซับซ้อนกว่าอำนาจในมุมมองแบบดั้งเดิม ที่ยังคงติดอยู่กับประเด็นเรื่องของการบีบบังคับ (Coercion) การขู่เข็ญ การใช้กำลัง (Hard Power) หรือ แม้แต่การเจรจาต่อรอง จูงใจ ชักจูง หรือใช้เงินในการเป็นเครื่องมือต่อรอง (Soft Power) [1] แต่จะอำนาจจะทำงานในรูปแบบของการควบคุมโดยสร้างกลไกอะไรบางอย่างเพื่อให้ผู้ถูกควบคุมอยู่นั้นมีลักษณะเหมือนกำลังควบคุม บริหารจัดการตนเอง ให้อยู่ภายใต้อำนาจ ซึ่ง Foucault เรียกอำนาจในลักษณะนี้ว่า “Biopower” อันเป็นอำนาจที่เข้ามาควบคุมกำกับเหนือชีวิต (Power over Life) ของประชากร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านของเทคนิคของอำนาจที่ควบคุมชี้ขาดให้เกิดความตายในรูปแบบเก่า มาสู่อำนาจในรูปแบบของการบริหารจัดการร่างกายและกำกับชีวิต (Administration of Bodies and Management of Life) ของประชากร ตั้งแต่ด้านการเกิด ด้านการย้ายถิ่นฐาน ด้านการเรียน ไปจนถึงด้านความเป็นอยู่และสุขภาพ

อำนาจในรูปแบบดังกล่าวนี้จะเข้ามาควบคุมชีวิตในทางอ้อม ผ่านการปลูกฝังองค์ความรู้บางอย่าง (เช่น ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรค ความเจ็บป่วย โรคภัยไข้เจ็บ ที่จะทำให้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องบีบบังคับ) ผ่านสถาบันทางสังคมรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างให้ประชากรนั้นเกิดวินัยแล้วจัดการควบคุมตนเองผ่านวินัยที่ถูกสร้างขึ้น (Self-Disciplinary) และอำนาจดังกล่าว (Biopower) จะทำให้เกิดการตอกย้ำความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่างความปกติ และผิดปกติ ขึ้นมาหลังการสร้างวินัยและความรู้ที่ได้เข้าไปควบคุมกำกับชีวิตแล้ว สังคมจะกลายเป็นสังคมที่มุ่งหาแต่ความปกติ (ที่ถูกสร้างขึ้น) และจะมองความผิดปกติ (Abnormal) ในฐานะ ‘ความป่วย’ (Illness) ที่จำเป็นต้องถูกกำจัด ถูกบำบัด ให้กลับมามีสถานะเป็นความปกติให้ได้ (Normalization) ด้วยเหตุนี้สังคมจึงกลายเป็นสังคมแห่งการจ้องมอง สอดส่อง แอบดู (Surveillance) เหมือนกับหอสังเกตการณ์นักโทษที่อยู่กลางเรือนจำ (Panopticon) อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในการสังเกตการณ์พฤติกรรมของนักโทษ โดยผู้คุมจะสามารถมองเห็นทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเหล่านักโทษ ทำให้นักโทษรู้สึกว่าตนถูกจ้องมองอยู่ และระแวงสงสัยที่จะกระทำการอันผิดแผกไปจากความปกติ”

หนังเริ่มต้นจากการหลบหนี เริ่มต้นจากการไปจากอำนาจแบบเก่า หากเราอุปมาความสัมพันธ์ของรัฐกับกับพลเมืองดั่งความสัมพันธ์ผัวเมียในรูปแบบที่สามี /ความเป็นชาย/อำนาจรัฐ มีอำนาจเหนือภรรยา/ความเป็นหญิง/พลเมือง สังคมภายในของซิซีเลียและกริฟฟิน ที่อาศัยอยู่ในบ้านสุดหรูริมทะเล กริฟฟินเป็นนักวิทยาศาสตร์สายทัศนศาสตร์ที่มีชื่อเสียง จึงอุปมาคล้ายสังคมทุนนิยมที่การใช้อำนาจบังคับแบบเดิมๆ จบสิ้นลง ผ่านการต่อต้านของพลเมือง ด้วยการหนีไป เรื่องที่เหลือทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของกลไกการจัดการอำนาจของรัฐแบบใหม่ผ่านการสอดส่องโดยไม่มีตัวตน การใช้ชีวอำนาจในการบังคับ ขูู่เข็ญสร้างทางเลือกให้กับพลเมือง 

อุปกรณ์สำคัญในการณ์นี้มีอยู่สามอย่าง หนึ่งคือเงิน สองคือกฎหมาย ทั้งสองอย่างมาในรูปแบบของมรดกตามพินัยกรรมและข้อกำหนด เงิน/รายได้ ผูกเราไว้ให้ต้องเล่นตามเกม/กฎ/กฎหมายของสังคม เพื่อให้เรามีตัวตน ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่สองสิ่งนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญน้อยกว่าสิ่งที่สามนั่นคือเครื่องแบบ แต่เครื่องแบบเปลี่ยนจากเครื่องแบบตำรวจของรัฐแบบเก่า ที่สอดส่องเท่าไรไม่ทั่วถึง เครื่องแบบมีไว้ให้มองเห็นและจัดจำแนกว่าใครคือผู้บริหารอำนาจของรัฐ แต่เครื่องแบบก็ง่ายสำหรับการเสแสร้งและต่อต้าน การสร้างเครื่องแบบที่มองไม่เห็นจึงสำคัญ และเครื่องแบบของมนุษย์ล่องหนในรอบนี้ไม่ได้เป็นม้วนผ้าพันแผลรอบใบหน้าเพื่อให้ถูกเห็นแบบเดียวกับนิยายของ H.G.Wells แต่มันคือกล้องจำนวนมากที่ในทางหนึ่งประมวลสิ่งที่มันเห็นเพื่อสร้างภาพของการไม่ถูกเห็น แต่กล้องจำนวนมากในชุดอันน่าเกลียดน่ากลัวก็มีลักษณะเหมือนดวงตาจำนวนมากจ้องมองมา เป็นภาพแทนที่ชัดเจนของกล้องจำนวนมากที่ติดตามที่ต่างๆ คอยสอดส่องผู้คน ให้คะแนนและหักคะแนแน กำกับควบคุม ชีวิตของซีซีเลีย จึงเป็นชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวจีนที่ถูกสอดส่องผ่านกล้องจำนวนมากในประเทศและใช้ชีวิตด้วยความกังวลถึง social credit ของตนตลอดเวลา 

ความเป็นเสรีชนในรัฐเสรีจึงเป็นทั้งความจริงและความลวงในเวลาเดียวกัน หนังค่อยๆ ให้เราเห็นว่าชีวิตของซีซีเลีย หลังจากการปลดปล่อยตัวเองจากการควบคุมแบบเก่าไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เราเข้าใจ รัฐย้ายการควบคุมไปสู่การควบคุมที่มองไม่เห็น รัฐกำหนดว่าพลเมืองควรจะทำมาหากินอย่างไร ด้วยการเล่นตลกกับการสมัครงานของเธอ ควบคุมได้กระทั่งกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ทั้งความสัมพันธ์ของเธอกับหลานสาว (การออกทุนให้ และการกำหนดความไว้เนื้อเชื่อใจของเธอกับหลาน) ด้วยการเล่นเกมแบบทุนนิยมที่กำหนดชัดเจนว่าให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันถึงภาพของพลเมืองที่ยอมรับได้ และคนนอกที่ต้องสงสัย การผลักความป่วยไข้ทางจิตให้เป็นข้อยกเว้น ยกเว้นทั้งการไม่ต้องทำงาน และการให้ความสามารถในการจับกุมคุมขังคนป่วย 

รัฐสามารถวางยาพลเมืองผ่านทางข้อกำหนดหยุมหยิมมากมายเพื่อความมั่นคงของสังคมเหล่านี้ รัฐสามารถกำหนดได้ว่าอย่างไรเรียกว่าพลเมืองดี อย่างไรเรียกพลเมืองบ้า รัฐให้เงินเราและแน่นอนทำให้เราเป็นคนบ้าได้ (อันที่จริง นี่เป็นวิธีการที่รัฐจีนใช้กับการจัดการปัญหาหลายๆ ครั้ง ในสารคดี Pettition (2009) ของ Zhao Liang หนังติดตามเหล่าผู้ร้องเรียนที่เดินทางมาจากทุกสารทิศ ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ มาอยู่รวมกันแออัดในหมู่บ้านผู้ร้องเรียน วิธีหนึ่งที่รัฐใช้จัดการกับข้อร้องเรียน ไม่ใช่การรับข้อร้องเรียนแล้วแก้ไข แต่คือการบีบคั้น ใส่ร้ายจนผู้ร้องเรียนระเบิดอารมณ์ออกมา รัฐก็ใช้ข้อกำหนดการเป็นบุคคลวิกลจริต ยัดผู้ร้องเรียนเข้าไปในโรงพยาบาลบ้าแทนการขังคุก) ในขณะเดียวกันรัฐสามารถสร้างให้เราเป็นอาชญากรรมได้ด้วย หลักฐานที่รัฐสร้างจากการมองเห็น ผ่านกล้องของรัฐ ในมุมมองกรอบภาพที่รัฐต้องการให้เห็น

รัฐแห่งการสอดส่อง จึงเป็นการแลกระหว่างความมั่นคงในสังคมกับการถูกควบคุมโดยรัฐ วิธีการสร้างสมดุลของสิ่งนี้คืออะไร มันคือการทำให้รัฐที่มองไม่เห็น ‘ถูกมองเห็น’ หรือเปล่า ในช่วงไคลแมกซ์ การต่อสู้ของของซีซีเลียคือความพยายามในการเปิดโปงรัฐที่มองไม่เห็น โดยอาศัยอำนาจการมองเห็นของรัฐ (กล้องวงจรปิด) แต่ดูเหมือนการสร้างรัฐที่โปร่งใสจากรัฐที่โปร่งแสงไม่เพียงพอในการต่อสู้ เพราะอำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่ ดังนั้นเมื่อเธอสามารถกำจัด มนุษย์ล่องหนรายแรกได้ มันจึงยังไม่เพียงพอเสมือนดั่งการฆ่าตำรวจไม่อาจพังทลายอำนาจรัฐ เพราะตำรวจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของอำนาจรัฐและเขาเองก็ตกในอำนาจรัฐด้วย 

ฉากสุดท้ายของหนังจึงเป็นการใช้อำนาจรัฐเอาคืนอำนาจรัฐ อีกครั้งผ่าน ‘มุมมอง’ อันหมายถึงมุมมองของกล้อง ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นอาชญากรเพราะมุมมองของกล้อง แต่เธอสามารถกลายเป็นเหยื่อผ่านมุมมองของกล้อง อันคือสายตาของรัฐได้เช่นกัน 

หนังอาจจะจบแบบเอาใจคอหนังสยองขวัญมากกว่าจะเป็นหนังแบบจำลองทางสังคม (ซึ่งดีแล้ว) แต่การที่หนังเลือกจบโดยการให้เธอได้ลองควบคุมอำนาจรัฐผ่านเครื่องแบบดูบ้างก็เป็นทางเลือกที่สองแง่สองง่ามมากทีเดียวว่าการบริหารอำนาจของเธอจะนำไปสู่สิ่งใด 

เราอาจบอกได้ว่า Parasite เป็นหนังทริลเลอร์ที่สะท้อนภาพสังคมชนชั้นแบบสังคมโลกที่สามได้อย่าน่าทึ่ง เราก็พอจะบอกได้เหมือนกันว่า The Invisible Man เป็นหนังที่อธิบายภาพอำนาจรัฐแบบอุดมคติของโลกที่หนึ่งได้ (แม้ว่าแบบจำลองที่ชัดเจนที่สุดที่หนังเอาไปใส่ได้คือแบบจำลองของจีน ก็ตาม) และไม่ว่าหนังจะตั้งใจหรือไม่ นี่คือภาพจำลองที่ชวนขนลุกอย่างยิ่ง

Tags: , , ,