มีเรื่องน่ายินดีมากมายเกิดขึ้นภายในขบวนไพรด์ที่จัดขึ้นโดยคณะ ‘Bangkok Pride 2023’ อะไรที่ไม่เคยเห็นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างเต็มตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ในปีนี้เราก็ได้เห็น

โชคไม่ดีที่ใจกลางของสปอตไลต์แห่งความสนใจ กลับไม่ใช่ประเด็นเรียกร้องความเท่าเทียมต่างๆ ที่ขบวนไพรด์ต้องการนำเสนอ แต่เป็นความผิดหวัง อุบัติเหตุ และข้อผิดพลาดที่อุบัติขึ้นภายในงาน

The Momentum จึงสรุป 3 ประเด็นใหญ่อันเป็นเหตุแห่งความสนุกไม่สุด ความไม่เห็นด้วย และความตะขิดตะขวงใจที่ผู้คนบางส่วนรู้สึก ต่อวิธีการจัดงาน ‘Bangkok Pride 2023’ ซึ่งทำให้ขบวนไพรด์ขนาดใหญ่ครั้งที่ 2 ของกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา มีภาพลักษณ์เป็นขบวนของ ‘ภาคเอกชน’ ที่ ‘ประชาชน’ เข้าไม่ถึงสักเท่าไร

ปมผลงานศิลปะในหอศิลป์พังเสียหาย

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ขบวนยังตั้งไม่เสร็จดี เมื่อเวลา 14.30-15.30 น. โดยประมาณ ซึ่งตรงกับเวลาเตรียมปล่อยขบวนตามกำหนดการเดิม

นักศึกษาและทีมงานบางส่วนที่รับหน้าที่ดูแลนิทรรศการศิลปนิพนธ์ครั้งที่ 53 ของนักศึกษาปี 4 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจัดขึ้นภายในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เริ่มออกมาโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเตือนให้ผู้เข้าร่วมขบวนทุกคนที่เข้ามาด้านในหอศิลป์ ระมัดระวังงานนิพนธ์ของนักศึกษาที่มาจัดแสดงมากกว่านี้ เนื่องจากเริ่มมีผลงานบางชิ้น ‘แตก’ และ ‘เสียหาย’ ไปบ้างแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการทิ้งขยะและวางของใช้ส่วนตัวบนแท่นและโต๊ะที่ใช้จัดแสดงผลงาน อีกทั้งยังนำผลงานศิลปะในรูปแบบเครื่องแต่งกายที่แจ้งชัดเจนว่าห้ามจับ ไปสวมใส่บนร่างกายโดยไม่ได้รับอนุญาต

ภายหลัง เจ้าหน้าที่จากหอศิลป์ชี้แจงว่า ทีมผู้จัดบางกอกไพรด์ติดต่อขอใช้พื้นที่ด้านนอกของหอศิลป์เป็นจุดเริ่มต้นขบวนเท่านั้น โดยไม่ได้แจ้งว่าจะใช้พื้นที่ด้านในเพื่อเตรียมตัว หรือรับรองมวลชนที่มารอร่วมขบวน นั่นหมายความว่าทุกคนที่เข้ามาในอาคาร ควรเป็นผู้ที่จ่ายเงินเข้ามาชมผลงานในหอศิลป์เท่านั้น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและความชุลมุนจากกลุ่มคนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างคับคั่ง ทำให้ไม่มีการออกมาตรการรับมืออย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ คณะผู้อำนวยการจัดงานบางกอกไพรด์และหอศิลป์กรุงเทพฯ ออกประกาศขอโทษนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการจัดงานในช่วงสายของวันที่ 5 พร้อมแสดงจุดยืนในวันที่ 6 มิถุนายน ว่าจะชดเชยค่าเสียหาย ตลอดจนถอดบทเรียนและสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของงานศิลปะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต

เมื่อผู้จัดลากไส้องค์กรที่ ‘ไม่จ่ายเงิน’ มาเดินขบวน

หลังจากกิจกรรมขบวนจบลงไม่นาน หนึ่งในคณะผู้จัดออกมาโพสต์ข้อความวิจารณ์ถึงกรณีแบรนด์ต่างๆ ที่มาเข้าร่วมขบวนโดยไม่จ่ายเงินลงในทวิตเตอร์ มีการเปิดเผยชื่อแบรนด์ดังเกินสิบแบรนด์ว่าเป็น ‘องค์กร Rainbow Washing’ ให้ประชาชนสามารถ ‘เลือกด่าได้ตามสะดวก’

ภายหลังมีการอธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกองค์กรสามารถร่วมเดินขบวนไพรด์ได้ทั้งหมดไม่ว่าจะจ่ายเงินหรือไม่ แต่หากไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงของเหล่าอาสาสมัคร ตามข้อตกลงแล้วจะต้องร่วมขบวนในนาม ‘Pride at Work’ โดยไม่เปิดเผยโลโก้หรือฉวยโอกาสทำข่าว PR ฟรีๆ

แม้ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าแบรนด์เหล่านี้สมควรถูกประณามหรือไม่ แต่ภาพการแฉที่เห็น ทำให้บุคลากรตัวเล็กๆ จำนวนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจไปร่วมขบวนในนามองค์กร รู้สึกว่าตนเองถูกผลักไสไม่ให้มีส่วนร่วมในขบวนไปพร้อมกับองค์กรด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามถึงการแปะป้ายให้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นองค์กร Rainbow Washing โดยใช้เกณฑ์เป็นการจ่ายเงินสนับสนุนเพียงอย่างเดียว เพราะในความเป็นจริง นอกเหนือจากการจ่ายเงินเป็นสปอนเซอร์แล้ว ยังมีลู่ทางอีกมากมายที่องค์กรหนึ่งจะสามารถสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศได้ เช่น จัดสรรสวัสดิการสำหรับบุคลากรผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือรณรงค์เรื่องความหลากหลายภายในองค์กร ผ่านการเลื่อนขั้นพนักงานสู่ตำแหน่งผู้นำโดยไม่แบ่งแยกทางเพศ 

เราไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่า องค์กรเท่าเทียมทางเพศที่คณะผู้จัดเชิญชวนให้ไปสนับสนุนเพราะ ‘จ่ายเงินเข้าร่วมกิจกรรมอย่างถูกต้อง’ มีการจัดการภายในองค์กรที่เท่าเทียมจริงหรือไม่ จึงมีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการสื่อสารในทวีตแฉดังกล่าวเท่าไรนัก แม้จะเข้าใจเรื่องความจำเป็นของสปอนเซอร์ในการจัดงานใหญ่ก็ตาม

ความรู้สึก ‘ไม่เข้าพวก’ ของคนทั่วไปที่ไม่ได้มาในนามองค์กร

มองผิวเผิน อาจเป็นเรื่องที่ฟังดู ‘เล็กน้อย’ ที่สุดในบรรดาทั้ง 3 หัวข้อ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ต่อภาพจำที่ผู้เข้าร่วมมีต่อขบวนไพรด์ปีนี้เป็นวงกว้างไม่แพ้กัน โดยเกิดข้อเปรียบเทียบกับงาน ‘นฤมิตไพรด์ 2022’ ที่จัดขึ้นเมื่อปีก่อนว่า ให้ความรู้สึก ‘เฟรนด์ลี่’ กับผู้เข้าร่วมทั่วไปกว่ามาก ด้วยเหตุผลหลายประการ

1. การจัดสรรปันส่วนพื้นที่ในขบวน

แหล่งข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศในคอมมูนิตี้หญิงรักหญิง (Sapphic) รายหนึ่ง ซึ่งเคยเดินทางไปร่วมกิจกรรมขบวนไพรด์ในกรุงเทพฯ มาแล้วทั้ง 2 ปี ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ถึงสัดส่วนของมวลชนในขบวน

ในปีนี้ เธอรู้สึกเหมือนเห็นแค่ขบวนของคนดัง องค์กรต่างๆ (เช่น บริษัท หรือ พรรคการเมือง) และกลุ่มก้อนที่เกิดขึ้นรวมตัวลงทะเบียนผ่านเพจต่างๆ เสียเยอะ

“ส่วนคนทั่วไปจะได้สนุกไปด้วยแค่ตอนที่ขบวนผ่านริมทางที่เขายืนอยู่เท่านั้น ไม่ได้เดินไปด้วยกัน ทำให้บรรยากาศและความคึกคัก ‘ดร็อป’ ลงจากปีก่อน จากความทรงจำ งานเมื่อปีที่แล้ว เราสามารถมองเห็นและแยกแยะได้ชัดเจนกว่าว่า ในขบวนมีคนส่วนหนึ่งที่เป็นคนทั่วไป มาเดินร่วมขบวนด้วยตัวเองโดยไม่สังกัดกลุ่มไหน”

สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนหนึ่งในโซเชียลฯ ที่บ่นว่า รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่สำหรับตนเองในขบวน โดยเฉพาะหากไปร่วมงานคนเดียว ไม่ได้สวมคอสตูมให้เข้ากับโซน หรือธีมใดในโครงสร้างขบวนตามที่ถูกจัดสรรไว้

2. เส้นทางเดินขบวนไม่เอื้ออำนวย

หากเทียบกับสถานที่ที่ใช้เดินขบวนเมื่อปีก่อน คือย่านสีลมที่ไม่พลุกพล่านเท่าและจัดการได้ง่ายกว่า เมื่อเปลี่ยนจุดเริ่มขบวนมาเป็นหอศิลป์และจุดจบเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางเมืองทั้งคู่ ทั้งที่ในวันปกติถนนเส้นนี้ก็ต้องรับรองทั้งคนและรถจำนวนมากอยู่แล้ว ประกอบกับถนนที่ไม่ได้ถูกปิดอย่างรัดกุมในวันงาน จึงส่งผลกระทบต่อการทำงานหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือไม่สามารถควบคุมเวลาปล่อยและเคลื่อนขบวนให้เป็นไปตามกำหนดการได้

3. ปัญหาด้านการสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์

แม้จะมีการเปิดให้ลงทะเบียน แต่อาจเพราะปริมาณมวลชนคนที่ล้นหลามเกินความคาดหมายของคณะผู้จัด ทำให้ข้อมูลด้านจำนวนผู้เข้าร่วมและความต้องการต่างๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพนัก

อาสาสมัครรายหนึ่งซึ่งสังกัดฝ่ายช่วยเหลือผู้พิการกล่าวว่า ในวันงานจริง ตนกลับไม่ได้ทำงานฝ่ายตามที่อาสามา วิธีการสื่อสารที่ใช้คือส่งข้อความแชตเรียกไปตามจุดต่างๆ ตามจำนวนที่ต้องการ คนส่วนหนึ่งที่ไม่มีงาน หากไม่หนีเข้าขบวน ก็ต้องยืนรออยู่ที่จุดปล่อยขบวนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด

ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ ปัญหา ‘หาทางเข้าขบวนไม่เจอ’ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้คนบางส่วน ซึ่งเดิมทีตั้งใจไปร่วมเดินในขบวน ถอดใจและเปลี่ยนแผนไปยืนรอชมขบวนตามริมทางแทน

“หากลองดูในบัญชีออฟฟิเชียลของบางกอกไพรด์ เราจะพบแค่ภาพเส้นทางรวมและกำหนดการกว้างๆ แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์จุดนัดพบที่แต่ละขบวนสีจะตั้ง ต่อให้คนสนใจเข้าร่วมขบวนตามหัวข้อที่ตนสนใจรณรงค์ แต่หากไม่มีช่องทางติดตามข้อมูลจากกลุ่มโอเพนแชตหรือเพจของคอมมูฯ ก็คงไม่ทราบว่าตัวเองต้องไปตรงจุดไหน”

4. การให้ความสำคัญกับภาพและความสวยงามขบวน มากกว่าความสนุกสนานและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

แหล่งข่าวหลายรายพูดถึงประเด็นความ ‘ไม่เฟรนด์ลี่’ ของขบวนว่า การจัดสรรให้ทีมงานรับหน้าที่จัดระเบียบและกันคนนอกออกจากขบวนสี หรือกลุ่มก้อนต่างๆ ที่ถูกจัดไว้ อาจส่งผลให้มีคนจำนวนหนึ่งตัดสินใจออกจากขบวนมายืนดูอยู่ข้างทางแทน หลังจากเริ่มเดินไปได้ไม่นาน

“สาเหตุที่ปีที่แล้วรู้สึกเฟรนด์ลี่มากกว่า เพราะในทุกขบวนสีจะมีพื้นส่วนท้ายของขบวน ซึ่งคนภายนอกขบวน ทั้งชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ก็สามารถจะเข้าไปร่วมเดินขบวน หรือเต้นด้วยกันได้ ในขณะที่ปีนี้ค่อนข้างหาช่องเข้ายาก บางจังหวะจะมีทีมงานผู้จัด (สังเกตจากเสื้อ) มายืนกันคนข้างทางไม่ให้ล้ำเข้ามาปนในขบวน”

คนส่วนหนึ่งคาดเดาว่า การจัดการรูปแบบดังกล่าวอาจเกิดจากข้อกังวลเรื่องระเบียบ ความปลอดภัยของคนมีชื่อเสียงในขบวน รวมถึงความสวยงามของภาพที่จะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อเป็นสำคัญ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ขบวนต้องหยุดเคลื่อนเพราะรอให้สื่อเก็บภาพบ่อย จนจังหวะขบวนขาดช่วงไปหลายครั้ง

“เราอยากให้งานโฟกัสที่คนทั่วไปมากกว่านี้ ทั้งปีที่แล้วและปีนี้ ทั้งสื่อและผู้จัดไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นที่ของเราเลย ทั้งที่เราแฮปปี้มากที่ได้อยู่ท่ามกลางคอมมูฯ แต่กลับไม่ได้แสดงออก ไม่ได้ความสุขเต็มที่ระหว่างอยู่ที่งาน เราเห็นงานของต่างประเทศที่คนทั่วไปเข้าร่วมได้เลย โดยที่แบรนด์และองค์กรไม่ได้มีบทบาทเสียงดังมากขนาดนี้ แล้วรู้สึกว่ามันเป็นแนวทางที่ดีกว่า”

ด้วยสเกลงานที่ใหญ่ขึ้นกว่าปีก่อนมาก อาจกล่าวได้ว่าปัญหาบางส่วนเกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้จัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการจัดการของทีมงานจากปากคำของผู้พบเห็น ก็เป็นหนึ่งในบ่อเกิดความรู้สึก ‘แปลกแยก’ และ ‘ไม่เข้าพวก’ ภายในใจของผู้ต้องการเข้าร่วมขบวน ที่ถูกทีมงานเข้ามาจัดแจง หรือแม้กระทั่งกีดกันออกไป

แม้ความคิดเห็นทั้งหมดนี้จะเป็นข้อวิจารณ์ที่หนักหน่วง แต่ก็ล้วนเป็นความรู้สึกของผู้เข้าร่วมงานในคอมมูฯ เพศหลากหลายและเหล่าแนวร่วม (Ally) ที่ติติงด้วยความหวังว่างานเฉลิมฉลองความเท่าเทียมของไทยจะเติบโตและดียิ่งขึ้นในทุกๆ ปี และความฝันว่าเทศกาลที่ได้ชื่อว่า ‘โอบรับทุกความแตกต่าง’ นี้ จะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ว่าใครก็เข้าร่วมได้อย่างแท้จริง

Tags: , , , , , ,