ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐที่ ‘ขับตัวเอง’ ออกจากพรรค พร้อมด้วย ส.ส. อีก 20 คน นับเป็นแรงกระเพื่อมเหนือความคาดหมาย หักปากกาเซียนการเมืองอย่างไม่มีใครคาดคิด และถือเป็นการพยายามรุกฆาต พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกชั้น เป็นการพลิกกระดานให้กลับมาอยู่เหนือ เข้าใกล้คำว่า ‘ผู้ชนะ’ แม้ร้อยเอกธรรมนัสและพรรคพลังประชารัฐจะถูกมองว่าเป็น ‘ผู้แพ้’ และเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดชุมพรและจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาก็ตาม
The Momentum ชวนย้อนมองที่มาที่ไปของเกมการเมืองชั้นครูรอบนี้ของฝ่ายธรรมนัส และฝ่ายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะพาไปวิเคราะห์ต่ออีกชั้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้
1. “ล้มผมได้ ก็ล้มรัฐบาลได้”
2. ยึดอำนาจ-ต่อรองเก้าอี้รอบแรก
ปลายเดือนสิงหาคม 2564 หลังฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปรากฏว่าชื่อของธรรมนัส ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หายไปจากรายชื่อรัฐมนตรีที่อยู่ในข่าย ‘ถูกเชือด’ อย่างไร้ร่องรอยและไร้เหตุผล แม้ธรรมนัสจะเป็นที่หมายตาของ ส.ส.ก้าวไกลหลายคน จากเรื่องที่สืบเนื่องจากประเทศออสเตรเลียและเรื่องการจัดสรรที่ดิน สปก. ก็ตาม
เรื่องดังกล่าวถูกเฉลยในเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 เมื่อธรรมนัสเดินสายรวบรวมเสียง ส.ส.พรรคปัดเศษ พร้อมด้วย ส.ส.พลังประชารัฐบางส่วนอย่างเงียบๆ เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจากพลเอกประยุทธ์ ด้วยความเชื่อว่า ‘มุ้งธรรมนัส’ นั้นใหญ่ไม่แพ้ใคร และสมควรได้เก้าอี้ที่ใหญ่กว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกัน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หนึ่งใน 3 ป. ก็ไม่ได้ทำอะไรให้พรรค และเป็นเรื่องยากที่พรรคจะสร้างผลงานให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหม่ หากไม่มีกระทรวงใหญ่ในมือ
เกมของธรรมนัสในเวลาคือการต่อรองว่า หากมุ้งธรรมนัสไม่ได้เก้าอี้มหาดไทย ทุกคนจะพร้อมใจกันโหวต ‘ไม่ไว้วางใจ’ พลเอกประยุทธ์ และต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ทันทีที่ศึกอภิปรายฯ จบลง ทว่าสุดท้ายในวันนั้น พลเอกประยุทธ์พลิกตัวทัน ด้วยการเรียกคุย ส.ส.พลังประชารัฐทั้งหมด รวมถึงเคลียร์ใจกับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้เป็น ‘นาย’ ของธรรมนัสได้ในนาทีสุดท้าย เป็นที่มาของการแฉกลางสภาว่าพลเอกประยุทธ์แจกเงิน ส.ส. คนละ 5 ล้านบาท เพื่อให้โหวตไว้วางใจ ซึ่งสุดท้ายสภาฯ ออกมาระบุว่า ‘ไม่มีหลักฐาน’ เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว
เมื่อพลเอกประยุทธ์ได้รับคะแนนโหวตไว้วางใจในลำดับ ‘รองบ๊วย’ ทั้งที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล เรื่องนี้ก็ไม่จบง่ายๆ ผลสุดท้ายคือการเซ็นคำสั่งปลดธรรมนัสออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสริมด้วย นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งถูกมองว่าอยู่ในเครือข่ายเดียวกับธรรมนัส แต่แท้ที่จริงแล้วทั้งสองถือเป็น ‘ลูกรัก’ ของพลเอกประวิตรด้วย
3. สนามเลือกตั้งชุมพร-สงขลา และการ ‘แทงข้างหลัง’ ในพรรคพลังประชารัฐ
วันที่คำสั่งปลดธรรมนัสออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี มาจากปลายปากกาของพลเอกประยุทธ์ และ 3 ป. กลับมารักกันดังเดิม ทุกคนต่างคาดว่าในเวลาต่อมา ธรรมนัสจะต้องถูกอัปเปหิออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และถูกลดบทบาททางการเมืองออกไปเรื่อยๆ เป็นอันจบชีวิตทางการเมือง
แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นอย่างนั้น เก้าอี้เลขาธิการพรรคยังคงเหนียวแน่น ทั้งยังมีการเชิญ ‘พี่ใหญ่’ ของธรรมนัส อย่าง พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนสนิทของพลเอกประวิตรและลูกพี่ของธรรมนัสขึ้นมาเป็นโล่ให้ธรรมนัสอีกชั้น ในฐานะประธานที่ปรึกษาของพรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน แม้จะมีการรวบรวมเสียง ส.ส.พลังประชารัฐ ขึ้นมาอีกมุ้ง เป็น ‘มุ้งประยุทธ์’ โดยมี สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหอก รวมถึงพยายามลดบทบาทธรรมนัสในการเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา โดยตั้งสุชาติเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมแทน แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ต้องดึงธรรมนัสกลับมาช่วยลงสนามในโค้งสุดท้าย เพราะธรรมนัสพาให้พรรคพลังประชารัฐชนะมาตลอด ไม่ว่าจะเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น ลำปาง หรือ นครศรีธรรมราช และมี ‘กำลังภายใน’ แน่นหนา โดยเฉพาะเรื่องทุน
หากดูกันด้วยตัวเลข เสียงของพลังประชารัฐที่แพ้ในชุมพรและสงขลาไม่ได้น่าเกลียด เพราะคะแนนทั้ง 2 เขต ต่างก็เพิ่มขึ้น แม้จะมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยลง ทว่าเรื่องดังกล่าวก็เป็นเหตุผลสำคัญทำให้สุชาติใช้ล้มธรรมนัสได้ ด้วยเหตุผลว่าภาพของธรรมนัสนั้นไม่ดี และวาทะในการปราศรัยที่สงขลาว่าด้วย “ต้องเลือกคนมีเงิน มีชาติตระกูลที่ดี” เป็นเหตุผลสำคัญทำให้พรรคพลังประชารัฐพ่ายในสนามนี้
ทั้งหมดจึงตามมาด้วยเรื่อง ‘ไลน์หลุด’ ของ สุชาติ ชมกลิ่น ให้ทำโพลชี้นำว่า เหตุที่ประชาชนไม่เลือกพลังประชารัฐ เพราะ ‘ไม่ชอบ’ ธรรมนัส หรือไม่
เอาเข้าจริงการประชุมพรรคพลังประชารัฐเพื่อขับ 21 ส.ส. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เปรียบเสมือนกับละครโรงใหญ่
ข้อเท็จจริงคือมีความขัดแย้งกันจริงระหว่างกลุ่มของสุชาติและกลุ่มของธรรมนัส หากแต่ผลลัพธ์สุดท้ายไม่ได้มีใครคาดคิดว่าจะลงเอยด้วยการขับ 21 ส.ส. ออกจากพรรค อย่างดี คงเป็นเหตุให้ธรรมนัสต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น
เรื่องที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวในช่วงสายของวันที่ 20 มกราคม 2565 ว่ามีความพยายาม ‘เรียกร้อง’ ที่มากเกินจากธรรมนัส และ ส.ส. ที่อยู่ในมือ เพื่อขอให้เปลี่ยนโครงสร้างพรรคแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องให้ทั้งหมดพ้นสภาพสมาชิกพรรค ซึ่งแน่นอนว่าไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง
ข้อเท็จจริงก็คือ มีความพยายาม ‘ทุบโต๊ะ’ ยืนยันอีกทีว่าการที่มุ้งธรรมนัสมี ส.ส. มากถึง 21 คน ควรต้องได้ตำแหน่งบางอย่างในคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนี้ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ภายหลังจากพลเอกประยุทธ์ลงนามปลดธรรมนัสและนฤมลเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และยังไม่สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีได้จนถึงวันนี้
หากพรรคชาติไทยพัฒนามี ส.ส. 7 คน และได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ 1 ที่นั่ง คือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพรรครวมพลังประชาชาติไทย มี ส.ส. 5 คน ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 1 ที่นั่ง คือที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ้งธรรมนัสที่มี 21 คน ก็ควรได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการอย่างน้อย 2 ตำแหน่ง
หากยังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐที่มีหลายขั้ว ทั้งขั้วของ ‘สามมิตร’ นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน ขั้วของ สุชาติ ชมกลิ่น มุ้งธรรมนัส จะต้องเผชิญวิบากกรรมอีกหลายขั้นตอนในการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี และจนถึงวันนี้ที่ยังแต่งตั้ง 2 เก้าอี้คณะรัฐมนตรีที่เหลือไม่ได้ ก็ด้วยความขัดแย้งเหล่านี้
ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งข้อเสนอว่า หากให้ไม่ได้ก็ขอให้แยกตัว แยกพรรค โดยวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือให้พรรคพลังประชารัฐเป็นผู้ขับออกจากพรรค เพื่อหาพรรคใหม่ ส.ส. จะได้ไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพ และเมื่อมีพรรคใหม่แล้ว ก็ไม่ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง ไม่ต้องแทงข้างหลังกันเหมือนในพรรคพลังประชารัฐต่อไป
แน่นอนว่าพรรคใหม่ที่ทุกคนพูดตรงกันว่าชื่อ ‘พรรคเศรษฐกิจไทย’ ก็มีเงาของพลเอกประวิตรอยู่เบื้องหลัง สะท้อนว่าทั้งสองไม่ได้แตกหักกัน แต่เป็นการเดินเกมอีกชั้นเพื่อให้ต่อรองง่ายขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น และในอีกแง่ก็สามารถ ‘ทำลาย’ พลเอกประยุทธ์ได้ โดยที่พลเอกประวิตรสามารถยืนยันคำเดิมว่า “ไม่รู้ ไม่รู้” และ “ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคใหม่”
หากไม่เอามุ้งธรรมนัสเข้าไปในคณะรัฐมนตรี ก็มีสิทธิ์ว่าธรรมนัสและ 20 ส.ส. อาจข้ามขั้วไปยังฝ่ายค้าน ซ้ำยังสั่งให้ ส.ส. พรรคปัดเศษโหวตสวนได้ และหากเกมในสภาแพ้เมื่อไร รัฐบาลโหวตแพ้เมื่อไร รัฐบาลประยุทธ์ก็จะมีอันเป็นไป ต้องยุบสภาทันที
หมากเกมนี้จึงเป็นหมากที่คนในแวดวงการเมืองต่างยกนิ้ว ทั้งสามารถจัดการเรื่องชุลมุนในพรรคพลังประชารัฐได้ ต่อรองเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีได้ ซ้ำยังกดดันพลเอกประยุทธ์ได้ โดยไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของ 3 ป. แตกแยก
5. ทางเลือกของประยุทธ์ในวันที่เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ
หากจำกันได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีดำเนินการจนสำเร็จนั้น เกิดขึ้นด้วยความต้องการของพรรคพลังประชารัฐและ ‘พรรคใหญ่’ ที่จะได้เปรียบในสนามการเมือง ด้วยจำนวนเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นกว่า 50 เขต ส.ส. เขต จึงเป็นหลักสำคัญอีกครั้ง
เมื่อพรรคพลังประชารัฐแตก ธรรมนัสขนเหล่า ส.ส. ซึ่งส่วนมากเป็น ส.ส. เขต ย้ายไปยังพรรคเศรษฐกิจไทย 20 คน ซ้ำยังไม่รู้ว่าจะเหลืออีกกี่คนที่เป็นคนของธรรมนัสฝังตัวอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ย่อมทำให้สถานะ ‘พรรคใหญ่’ ของพลังประชารัฐสั่นคลอน และเริ่มจะเสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ถึงจุดนี้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่เป็นพรรคใหญ่อีกพรรค อาจเข้าใกล้เป้าหมายแลนด์สไลด์ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป กลายเป็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่พลังประชารัฐเป็นผู้นำ คือหอกที่กลับมาทิ่มแทงตัวเอง
คำถามสำคัญก็คือ สุดท้ายแล้วพลเอกประยุทธ์เหลือทางเลือกหรือทางออกใดบ้างในการจัดการเรื่องชุลมุนยุ่งเหยิงนี้ อาจจะอนุมานได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
1. ใช้อำนาจความเป็นนายกฯ ยึดพรรคพลังประชารัฐเบ็ดเสร็จ โดยที่พลเอกประวิตรต้องเอาด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าในพรรคก็ยังมีคนของธรรมนัสฝังตัวอยู่
2. หา ‘งูเห่า’ จากฝ่ายค้านมาเติมให้เสียง ส.ส. เกินคำว่าปริ่มน้ำ รักษาสถานภาพรัฐบาลให้อยู่ต่อไป
3. ยุบสภา ล้างไพ่
4. ทางเลือกที่เป็นไปได้ยากแต่ก็เป็นไปได้ คือการจับมือกับทหารอีกครั้งเพื่อรัฐประหารตัวเอง ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนไม่น้อยส่งเสียงเชียร์
ทั้งหมดนี้กลายเป็นโจทย์ใหม่ของพลเอกประยุทธ์ ที่เจ้าตัวอาจไม่เคยคาดฝันมาก่อน และสะท้อนให้เห็นสถานภาพในวันที่เป็น ‘ขาลง’ ชัดเจนอย่างแท้จริง
Tags: การเมือง, การเมืองไทย, The Momentum, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พรรคพลังประชารัฐ, ธรรมนัส พรหมเผ่า, Analysis, วิเคราะห์การเมือง, ขับออกจากพรรค