วันนี้ (10 มกราคม 2567) ที่รัฐสภา มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … สหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดย ธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 92,978 คน
สหัสวัตกล่าวว่า หลักการและเหตุผลบางส่วนของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน และมองผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวร้าย ไม่มองที่สภาพความเป็นจริงหรือมุ่งที่จะแก้ไขต้นตอของปัญหาที่แท้จริง แต่กลับสร้างภาระให้กับผู้ดื่มและผู้ประกอบการแทน
เริ่มต้นจากปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอย่าง ‘เมาแล้วขับ’ ที่ถูกยกเป็นปัญหาต้องแก้ไขให้ถูกจุด แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกสะท้อนชัดว่า คนไทยไม่ได้ดื่มสุราเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยดื่มในลำดับที่ 64 หรือ 8.4 ลิตรต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนจะสูงถึง 2.2 หมื่นคนต่อปี แต่อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 14.1% หรืออยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น
ทั้งนี้ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ดื่มสุราสูงกว่าอย่างเยอรมนีหรือเกาหลีใต้ อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนต่ำกว่าไทยมาก สิ่งที่แตกต่างคือ ประเทศไทยไม่มีขนส่งสาธารณะที่สะดวก เข้าถึงง่าย เมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้และการแก้ไขปัญหาเมาแล้วขับก็ต้องแก้จากทุกต้นตอ ดังนั้น การปรับปรุงขนส่งสาธารณะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำ
ส่วนการโฆษณาและการห้ามขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ รวมถึงการไม่ให้สั่งเครื่องดื่มมาที่บ้าน ดูเหมือนจะย้อนแย้งกับการลดปัญหาเมาแล้วขับ และตนมองว่าการสั่งมาดื่มที่บ้านไม่ใช่ปัญหาแต่หากมีข้อกังวลว่าเยาวชนจะเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายและก่อนวัย ควรใช้การออกแบบระบบยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรืออื่นๆ แทน
ในส่วนของการห้ามหรือการจำกัดการโฆษณา โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าการห้ามไม่ให้โฆษณาจะยับยั้งให้คนไม่ดื่มสุรา หรือทำให้เยาวชนไม่รู้จักเหล้าเบียร์ได้ เพราะในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้อยู่บนโลกออนไลน์และสามารถเข้าถึงได้ง่าย และนายทุนขนาดใหญ่ที่มีสายป่านก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่กระทบกับผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่สามารถโชว์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้กับทุกคนได้
“เรามักจะได้ข่าวว่าเหล้าเบียร์ไทยได้รับรางวัลระดับโลก แต่คนไทยกลับไม่รู้จัก เพราะในชีวิตประจำวันก็จะวนอยู่แต่กับเหล้าเบียร์ของนายทุนขนาดใหญ่ รายย่อยตาย รายใหญ่ยิ้ม เพราะติดตลาดไปแล้ว” สหัสวัตกล่าว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขโดยให้ยกเลิกความในมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จาก “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทําได้ เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกําเนิดนอกราชอาณาจักร”
โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 32 ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่การโฆษณาที่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ผู้อนุญาตอาจกำหนดเงื่อนไขเฉพาะในการโฆษณาและจำกัดการใช้สื่อโฆษณาก็ได้”
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังผลิตในไทยไม่ได้ เพราะไม่มีพระราชบัญญัติสุราก้าวหน้าที่ปลดล็อกการผลิต จนทำให้ต้นทุนสูงกว่า ราคาก็สูงตาม และยังไม่มีช่องทางในการโฆษณา เรียกได้ว่าเป็นการทำให้เศรษฐกิจเสียหาย จึงมองว่าการโฆษณาเป็นเรื่องที่ควรมี โดยเฉพาะกับผู้ผลิตรายย่อย ที่รัฐควรสนับสนุนให้โฆษณาสินค้า
อย่างไรก็ตาม สหัสวัตย้ำว่า สุราไม่ใช่ของวิเศษ แต่ไม่ได้เลวร้าย ต้องทำความเข้าใจใหม่ ทั้งในเชิง วัฒนธรรม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจ ต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมการดื่มสุราอยู่คู่กับมนุษยชาติมานาน ก่อนการเกิดศาสนา การกินดื่มเป็นปกติ หลายประเทศให้ความสำคัญกับการทำโฆษณาและสร้างรายได้อย่างมหาศาล รวมถึงยังเชื่อว่าวัฒนธรรมการดื่มสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยปลูกฝังการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ
Tags: แอลกอฮอล์, สุรา, ก้าวไกล, สหัสวัต คุ้มคง