วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของการเมืองไทยและความหลากหลายทางเพศ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมตินัดพิจารณาว่าจะรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่มีเนื้อหาสำคัญหลักๆ คือการเปลี่ยนข้อความในกฎหมายที่ระบุว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ สามารถสมรสกันได้ เปลี่ยนเป็น ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ สามารถสมรสกันได้ รวมถึงการเปลี่ยนคำว่า ‘สามีและภรรยา’ ให้เหลือเพียงแค่ ‘คู่สมรส’ และกฎหมายฉบับนี้จะทำให้คู่สมรสทุกคู่มีสิทธิขอรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ฯลฯ

สมรสเท่าเทียมถือเป็นเรื่องที่ค้างคามาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 วันที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างดังกล่าว แต่ไม่ได้ลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีขอเวลา 60 วัน เพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เนื่องจากเห็นว่ามีหลักการใกล้เคียงกับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เรื่องราวดำเนินมาถึงวันที่ 8 มิถุนายนนี้ วันที่สมรสเท่าเทียมจะถูกพูดถึงในสภาฯ อีกครั้ง

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อการเปิดให้ลงมติอีกครั้ง โดยหวังว่าการลงมติในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมมากขึ้นอีกขั้น

“พี่น้อง LGBTQ+ กำลังร้องขอสิทธิที่พวกเขาพึงมีเหมือนคนอื่น พวกเขาแค่ต้องการอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ไม่ได้มีเจตนาใดจะลดทอนคุณค่าหรือกอบโกยผลประโยชน์ใดจากคนอื่นๆ อย่างที่หลายคนกังวลกัน เพราะสิ่งที่ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือสิทธิทั่วไปที่ชายหญิงซึ่งเป็นคู่สมรสกันมีอยู่ตั้งแต่แรก กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้ลิดรอนสิทธิใคร และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

“ในงานไพรด์เมื่อวันก่อน ผมเห็นประชาชนจำนวนมากที่ไม่ใช่แค่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นชาย หญิง คนทุกเพศ เด็ก ผู้ใหญ่ คนวัยทำงาน ทุกคนออกมาร่วมผลักดันให้สังคมตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ ผมไม่อยากให้เรื่องราวของ LGBTQ+ เป็นแค่เครื่องมือทางการเมือง เป็นแค่การเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน แล้วพอต้องโหวตเรื่องนี้กันจริงๆ กลับไม่โหวต แล้วปล่อยให้ร่างกฎหมายถูกปัดตกไป ดังนั้น หากนักการเมืองจะแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ยอมรับในอัตลักษณ์และตัวตนของ LGBTQ+ ก็ควรที่จะต้องโหวตให้กับกฎหมายสมรสเท่าเทียม”

ณธีภัสร์แสดงความคิดเห็นว่า หลายครั้งที่สังคมจะเห็นว่าพรรคการเมืองน้อยใหญ่พูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แสดงตัวว่าสนับสนุน พร้อมผลักดันประเด็นดังกล่าว แต่การแสดงจุดยืนนี้มักมาแค่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พอเกิดการร่างกฎหมายจริงจัง ก็จะยื้อยุดกันไปมา ประวิงเวลา บ้างก็ระบุว่าต้องขอเวลาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นก่อน ทำให้การผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศของประเทศไทยไม่คืบหน้าไปไหนสักที ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองใดเคยหาเสียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ควรจะต้องทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

“ประชาชนจะจดจำนักการเมืองว่ามีส่วนร่วมในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หรือมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายมากน้อยแค่ไหน โดยไม่จำเป็นต้องยื้อหรือปัดตกร่างกฎหมาย รอให้ประเด็นนี้กลับมาใหม่ในวันข้างหน้า แล้วค่อยนำเรื่องที่ว่ามาหาเสียงอีกครั้ง แต่วันพรุ่งนี้คือวันสำคัญ เป็นวันแห่งความหวังของประชาชน เป็นวันที่ประชาชนจะจดจำนักการเมืองว่าได้ทำอะไรเพื่อพวกเขา (LGBTQ+) หรือไม่”

Tags: , , , , ,