เมื่อวานนี้ (31 มีนาคม 2566) เครือข่ายภาคประชาสังคม และไทยแอ็ค จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘การรวมกลุ่มของประชาชนในสายตาพรรคการเมือง’ มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมกว่า 12 พรรค ร่วมกันพูดคุยถึงนโยบายและแนวทางที่เป็นไปได้ของการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมโดยต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งสาระสำคัญคือทั้ง 12 พรรคการเมืองต่างยืนยันว่าจะไม่มีการปิดปากประชาชนที่ต้องการเรียกร้องหรือออกความคิดเห็น และการออกกฎหมายหรือนโยบายใดๆ ต้องสนับสนุนไม่ใช่ปิดกั้นควบคุมอย่างที่ผ่านมา

เริ่มต้นงานเสวนา ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty) กล่าวถึงสถานการณ์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ในการที่ประชาชนจะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้อง รณรงค์หรือเคลื่อนไหวทางสังคม พร้อมกับตั้งคำถามถึงความพยายามของรัฐบาลในชุดปัจจุบันที่ต้องการจะออก พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร ซึ่งเป็นการปิดกั้น และควบคุมการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของของประชาชน และบั่นทอนการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร

“ขออย่าได้พยายามที่จะผลักดันกฎหมายมาปิดปากประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม แม้ว่าพวกเขาจะส่งเสียงที่แตกต่างจากผู้นำประเทศก็ตาม”

ปิยนุช ยังกล่าวอีกว่าหากภาครัฐพยายามที่จะทำลายองค์กรภาคประชาสังคม ย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ ที่ตอนนี้การเมืองในประเทศไทยต่างเต็มไปด้วยความหวังขององค์กรภาคประชาสังคม มากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะประเทศรอบข้าง

ทั้งนี้ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การคุกคามการรวมกลุ่มทางสังคม ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเมือง ตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่งมีประชาชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ถึงแม้ว่าภายหลังจะสิ้นสุดยุค คสช. แต่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ ก็ยังมีการร่างกฎหมายออกมาเพื่อคุกคาม โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ต่อมาเป็นการพูดคุย และแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองถึงนโยบายและแนวทางที่เป็นไปได้ของการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคม ซึ่งทั้ง 12 พรรคต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันในการสนับสนุนการรวมกลุ่มของภาคประชาชนแต่แตกต่างกันออกไปตามนโยบายของพรรค 

เริ่มต้นด้วย เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อธิบายถึงความพยายามจะออกกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมในอดีตที่ผ่านมาว่า เป็นการออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน  ไม่ได้มีเจตนาในการกดขี่ หรือริดลอนเสรีภาพการทำงานของประชาสังคม แต่การออกแบบกฎหมายนั้นต้องออกแบบให้มีขอบเขตที่กว้างเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนสำหรับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงจากการการชุมนุมสาธารณะเหมือนในอดีต พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการปิดปากประชาชนไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ตาม

ด้าน ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารพื้นที่ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การรวมกลุ่มของประชาชนสามารถทำได้ และควรให้การสนับสนุนพวกเขา แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้นเป็นเผด็จการซ่อนรูป จึงใช้อำนาจในกฎหมายเพื่อมาปิดปากประชาชน และหากนักการเมืองในวันนี้ให้ความสำคัญจริงๆ กับเสรีภาพของประชาชน ก็ควรจะทำให้ได้ตามที่พูด

ขณะที่ แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เน้นว่าทางพรรคให้ความสำคัญกับการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง และพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยร่วมกับการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อต่อต้าน ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรม’ เพราะการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง แม้ความพยายามออกกฎหมายต่อต้านการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งพรรคเห็นด้วย ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยไปถึง จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ว่าอาจได้รับคำสั่งมาจากนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนนอกพรรคอีกทีเช่นกัน ในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว

ในขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอ 3 เรื่องสำคัญคือการมีส่วนร่วมและการรวมตัว คืออุดมการณ์หลักของพรรคก้าวไกล และพรรคมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง กับการรวมกลุ่มของประชาชนอยู่ 30 ข้อ ประเด็นหลักอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิทธิของชุมชน การแก้ไขกฎหมายฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พร้อมย้ำอีกว่า พรรคก้าวไกลไม่รับกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าพรรคจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม

ต่อมา สุรพงษ์ พรมท้าว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ได้แถลงอย่างชัดเจน ไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคสนับสนุน ให้ประชาชนควรมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อจิตสำนึกประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม เพื่อเป็นการปฏิรูปองค์การทางการเมืองให้มีความเข้มแข็ง

เช่นกันกับ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่าหัวใจสำคัญของภาคประชาสังคมคือ การให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา และต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ จึงจะทำให้มีประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ 

ด้าน อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า มองว่า

การชุมนุมของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรี และไม่ก่อให้เกิดปัญหาทุนผูกขาด ในขณะเดียวกันรัฐควรเปิดรับข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ใช่ไปควบคุมแต่ควรที่จะสนับสนุนการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกัน สูฮัยมี ลือเเบซา ตัวแทนพรรคประชาชาติ พยายามชี้ให้เห็นปัญหาของกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม ซึ่งพรรคประชาชาติจะไม่ยอมให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาโดยเด็ดขาด เพราะมองว่า จะยิ่งทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถควบคุมภาคประชาสังคมให้อยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ภาคประชาสังคมคือกลไกสำคัญในการเข้าถึงคนในพื้นที่

วสันต์ พานเงิน เลขาธิการพรรคแรงงานสร้างชาติ มองประเด็นนี้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการรวมกลุ่มของประชาชน ดังนั้นเราจึงควรมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ถึงจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้

สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน และพรรคสนับสนุนการรวมตัวกันของประชาชนในทุกรูปแบบ

ฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวชัดเจนว่า พรรคต้องการแก้ไขร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม ให้เป็นการสนับสนุนและ ให้เสรีภาพต่อองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสามารถทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศได้ง่ายขึ้น รวมทิ้งเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคม

ระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ปิดท้ายการแถลงนโยบายโดย รศ.ดร.รงค์  บุญสวยขวัญ กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ  ที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นว่า สนับสนุนหรือต่อต้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม และร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชน  

 

Tags: , ,