หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีมาสองมาตรการด้วยกัน นั่นคือ การเลื่อนกำหนดชำระหนี้สำหรับเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท และมาตรการที่สองคือการสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าที่วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี และไม่ต้องชำระใน 6 เดือนแรก 

ซึ่งธนาคารไทยทั้งรัฐและเอกชนต่างก็ขานรับกับมาตรการดังกล่าว เรารวบรวมมาตรการช่วยเหลือของแต่ละธนาคารมาไว้ให้ 

ธนาคารไทยพาณิชย์                                           

เริ่มต้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท แบบอัตโนมัติ​ โดยไม่ต้องติดต่อกับธนาคาร มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป รวมทั้งให้วงเงินสินเชื่อ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี แต่ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท

ก่อนหน้านั้นมีมาตรการสำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจรายย่อย ที่วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท สามารถขอพักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลา 4 เดือน และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี นาน 2 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท 

ธนาคารกสิกรไทย    

ด้านธนาคารกสิกรไทยก็มีมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท แบบอัตโนมัติเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าได้รับสิทธิอยู่ประมาณ 140,000 ราย รวมทั้งให้วงเงินกู้เสริมสภาพคล่องลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าสามารถกู้ได้ 20% ของยอดวงเงินเดิม คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และไม่ต้องชำระเงินต้นใน 6 เดือนแรก

ก่อนหน้านั้นก็มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่ให้วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 20 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 5 ปี โดยใน 2 ปีแรก ดอกเบี้ยคงที่ 2% และจ่ายแต่ดอกเบี้ย กับโครงการ SMEs สร้างไทย โดยมี บสย.ค้ำประกัน วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี

ธนาคารกรุงไทย

ส่วนธนาคารกรุงไทยก็เข้าร่วมมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน คือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนสำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท และให้วงเงินกู้เสริมสภาพคล่องไม่เกิน 20% ของยอดคงค้าง คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ระยะเวลากู้สูงสุด  5 ปี และพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอื่นๆ ได้แก่ ลูกค้าวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สามารถขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน และถ้ามีผลกระทบจนมีรายได้ลดลง สามารถขอพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อกรุงไทยต้านภัยโควิด-19 ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้น 2% คงที่ 2 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม บสย.ค้ำประกันสิน 4 ปี

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน และให้เงินกู้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสามารถกู้เพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องชำระดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

นอกจากนี้ยังมีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ปรับลดจำนวนเงินผ่อนค่างวดสูงสุดไม่เกิน 12 เดือนเช่นกัน

ธนาคารกรุงเทพ

สำหรับลูกค้าธนาคารกรุงเทพ ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยนาน 6 เดือน รวมทั้งให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องสูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี คงที่ 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท 

ส่วนมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังมีการพักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และให้สินเชื่อเพิ่มตามโครงการ สินเชื่อบัวหลวง SMEs วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1% หรือพิจารณาผ่อนผันตามความเหมาะสม และธุรกิจเอสเอ็มอีที่วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท พักจ่ายเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยนาน 3 เดือน

ธนาคารออมสิน

ส่วนธนาคารออมสินพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 6 เดือน สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น พักเงินต้น 2 ปี จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน 50% – 100% ขยายระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี และ Cash back 20 % ให้แก่ลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ย 100% เมื่อชำระหนี้ได้ตามสัญญาทุก 6 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ให้ลูกค้าเดิมกู้วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักประกัน ดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อเดือน (Flat rate) ปลอดชำระ 6 เดือน ชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 5 ปี (ระยะเวลา 16 มีนาคม 2563  – 31 ตุลาคม 2563)

ธนาคารทหารไทยและธนชาต

สำหรับลูกค้าธนาคารทหารไทยและธนชาตมีมาตรการช่วยเหลือคือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 6 เดือน และพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 12 เดือน สำหรับลูกค้าลูกค้าวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมทั้งให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องสูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี คงที่ 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ นาน 6 เดือน สำหรับลูกค้าวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมทั้งให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องสูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี คงที่ 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท 

รวมทั้งยังมีมาตรการพิเศษ เช่น ปรับลดดอกเบี้ย สินเชื่อวงเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นต้น

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีมาตรการเลื่อนกำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ นาน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน 2563 เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่มีก่อนหน้านี้คือ พักชำระเงินต้นทันทีนาน 3 เดือน ลดดอกเบี้ยลง 1 % นาน 1 ปี และการขยายเวลาชำระหนี้นานสูงสุดถึง 5 ปี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

เช่นกันที่ ธ.ก.ส. ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ นาน 6 เดือน สำหรับลูกค้าวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมทั้งให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องสูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี คงที่ 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท 

Tags: , , , , , , , , , , ,