หลังจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผ่านไปไม่ถึงสองสัปดาห์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 เปอร์เซ็นต์ จนปัจจุบัน (15 มีนาคม) อยู่ที่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังวิกฤติซับไพรม์เมื่อ พ.ศ. 2551 แม้ว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานหรือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม และการระบาดของโควิด-19 ยังไม่รุนแรงนัก

นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังปัดฝุ่นมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) กลับมาใช้อีกครั้งนับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเข้าทำการซื้อตราสารหนี้ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน (mortgage-backed securities) ด้วยวงเงินกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้มั่นใจว่าตลาดเงินจะหมุนไปได้โดยไม่มีสะดุด

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังจับมือกับธนาคารกลางในอีกหลายประเทศ เช่น ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มวงเงินสวอป (Swap Line) เงินตราระหว่างประเทศรวมถึงลดอัตราดอกเบี้ย โดยวงเงินดังกล่าวเป็นเส้นทางการให้กู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกับเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศปลายทางเพื่อป้องกันการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลก 

การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ สอดรับกับความกังวลถึงความไม่แน่นอนในระยะสั้นและระยะกลางซึ่งสะท้อนผ่านแรงกดดันในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างน่าใจหาย ชีพจรเศรษฐกิจทั่วโลกต่างหยุดชะงักเนื่องจากคนส่วนใหญ่กักตัวเองอยู่ที่บ้านและหลีกเลี่ยงการพบปะเข้าสังคมซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพารายได้จากผู้ใช้บริการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร บาร์ สถานบันเทิง ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า ภาวะดังกล่าวอาจทำให้ธุรกิจเหล่านั้นเผชิญกับภาวะขาดสภาพคล่อง และอาจต้องปิดกิจการลงหากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อหาเงินมาหมุนได้ทัน 

ทั้งนี้ ทั้ง 3 มาตรการเป็นวิธีที่สหรัฐอเมริกาเคยใช้เมื่อคราววิกฤติซับไพรม์ เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนสินเชื่อ หรือเครดิตครันช์ (Credit Crunch) ที่จะทำให้วิกฤติลุกลามอย่างรวดเร็ว

เจอโรม โพเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุในการแถลงข่าวว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจนกว่าพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะบรรเทา อย่างไรก็ดี เขามองว่านโยบายดอกเบี้ยติดลบซึ่งเป็นไปได้ในทางทฤษฎี คงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้จริงในสหรัฐอเมริกาพร้อมระบุว่าธนาคารกลางยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยระบุว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ “ทำให้ผมยินดีมาก” ขณะที่โพเวลล์ได้เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์หรือสภาคองเกรสตัดสินใจดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี มาตรการกู้วิกฤติของธนาคารกลางสหรัฐฯ กลับทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ติดลบ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการขยับตัวครั้งใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณว่าสภาพเศรษฐกิจในอนาคตอาจย่ำแย่กว่าที่คิด

 

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2020/03/15/economy/federal-reserve/index.html

https://www.washingtonpost.com/business/2020/03/15/federal-reserve-slashes-interest-rates-zero-part-wide-ranging-emergency-intervention/

https://www.nytimes.com/2020/03/15/business/economy/federal-reserve-coronavirus.html

https://www.marketwatch.com/story/stock-market-sinks-after-emergency-fed-rate-cut-if-this-doesnt-work-what-will-2020-03-15

ภาพ:  REUTERS/Brendan McDermid

 

Tags: , ,