สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังคงไม่ดีขึ้นมากนัก จำนวนผู้ป่วยในทวีปยุโรปและอเมริกายังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว เป็นเวลาที่เหมาะกับการออกไปท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติยิ่งนัก แต่ในยามนี้เราได้แต่มองธรรมชาติตาปริบๆ From Home เท่านั้น
ว่ากันว่าการอยู่ใกล้ธรรมชาติแค่ 5 นาที ต่อวันช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้น สำหรับคนที่โชคดีกว่าอาจจะมีสวนหน้าบ้านให้ชื่นชม แต่การเข้าใกล้ธรรมชาติได้มากที่สุดของฉัน คือชะโงกหน้าออกไปดูต้นไม้ที่เกาะกลางถนน หรือเลื่อนฟีดอินสตาแกรมดูความเป็นไปของสถานที่โปรดไปพลางๆ ปีก่อนฉันตาม #wisteriahysteria ไปชมดอกวิสทีเรียตามบ้านเรือนในกรุงลอนดอนได้สมใจ ทว่าปีนี้กลับทำได้แค่กดถูกใจเฉยๆ เลยลองหาวิธีการสัมผัสธรรมชาติผ่านหน้าจอว่าทำอะไรได้บ้าง
เดินสวนเซ็นทรัล พาร์ก ผ่าน Virtual Reality
การเดินทางกรุงเทพ-นิวยอร์กใช้เวลาเกือบ 1 วัน แต่ในตอนนี้ สวนสาธารณะขนาดยักษ์ใจกลางแมนฮัตตันอย่างเซ็นทรัล พาร์ก (Central Park) อาจจะใกล้มากกว่าที่คิด ผ่านประสบการณ์การเดินเล่นผ่าน Virtual Reality
เซ็นทรัล พาร์กมีทางเข้ามากกว่า 20 ทางหลัก ซึ่งเจ้า Virtual Tour นี้จะให้เราเดินสวนผ่านทาง West 72nd ถนนที่ตัดผ่าน Upper West Side และ Upper East Side ที่เดินเข้ามาสามารถมองเห็นอาคาร The Dakota ที่อยู่อาศัยของเหล่าคนดังได้ แต่ความสนใจหลักของฉันอยู่ที่การแยกความแตกต่างของ River Birch และ Himmalaya Birch ตามคำแนะนำของไกด์ทัวร์ ทั้งยังมีสวนสตรอว์เบอร์รี ที่ไม่ใช่สวนจริงๆ แต่ตั้งจากชื่อเพลง Strawberry Field Forever เพื่อระลึกถึงจอห์น เลนนอน มาดึงความสนใจไปอีก ตลอดการเดินสวน มีลูกศรกำหนดเส้นทางในการเดินให้เราไม่หลง มีไกด์คอยอธิบายความสำคัญของจุดแลนด์มาร์ก 11 จุด รวมถึงต้นไม้ต่างๆ ที่ทำให้เซ็นทรัลพาร์กพิเศษแล้ว และยังมีรูปภาพ วิดิโอ มาประกอบให้เราเห็นภาพ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก็เดินจบ ทว่าฉันเพิ่งรู้ว่านี่เป็นแค่ไม่ถึง 10% ของเซ็นทรัล พาร์กเท่านั้น ไม่เชื่อลองกดเข้าไปเดินดูสิคะ หรือแค่พิมพ์ www.youvisit.it/vr/centralpark ลงไปใน Browser ก็ไดเรคไปยังแอปพลิเคชั่นได้แล้ว
แผนที่การเดินคร่าวๆ กับ 11 จุดพัก
รูปภาพจากส่วนหนึ่งของแผนที่ใน www.youvisit.com/tour/centralpark
พิชิตแสงเหนือ ณ เมืองเชอร์ชิลล์ รัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา ผ่านเว็บแคมตลอด 24 ชั่วโมง
แสงเหนือปรากฏขึ้นผ่านหน้าจอ หลังจากรอมา 3-4 วัน
อากาศคมกริบจนบาดปอดยามหายใจเข้า มือที่สั่นรัวๆ จากการรอจังหวะลั่นชัตเตอร์ ระยะเวลาการคอยและการเตรียมการ ที่ท้ายสุดอาจต้องอาศัยปัจจัยที่เรียกว่า “ดวง” เท่านั้น ประสบการณ์การล่าแสงเหนือเหล่านี้ฉันได้แต่รับฟัง ยังไม่มีโอกาสที่จะได้ทำให้มันเป็นจริงด้วยตนเองสักที ยิ่งในช่วงเวลา กักตัวเองอยู่บ้านแบบนี้ ฉันทำได้มากที่สุดแค่ผ่านการรับชมแสงเหนือผ่าน Live Stream วิดีโอตลอด 24 ชั่วโมง จาก Explore.org ที่ตั้งกล้องถ่ายทอดสด ณ Churchill Northern Studies Centre เมืองเชอร์ชิลล์ บนละติจูดที่สูงทางตอนเหนือของรัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา ที่ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิเป็นอีกโอกาสทองในการล่าแสงเหนือ
ทาง Explore.org มีเลขบอกจำนวนผู้เข้าชมกำกับไว้ด้วย
อย่างที่บอกว่าเป็นการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ทุกครั้งที่เปิดดูจะได้เห็นแสงเหนือสมใจ เนื่องจากเวลาที่เชอร์ชิลล์ห่างกับเรา 12 ชั่วโมง อาจจะเห็นเพียงแสงอาทิตย์ตัดกับหิมะสีขาวโพลนแทนก็ได้ ถ้าโชคดีจังหวะที่ดูเริ่มพอจะมีหวัง แสงเหนือที่ปรากฏก็มีความแตกต่างขึ้นอยู่กับความมืดของท้องฟ้า ออกซิเจน และไนโตรเจนในอากาศ (อะตอมออกซิเจนในอากาศจะปล่อยพลังงานในรูปแบบแสงสีเขียวหรือแดง ขณะที่ไนโตรเจนจะเป็นสีออกฟ้า ซึ่งบางครั้งการผสมของธาตุทั้งสองก็ทำให้แสงเหนือมีสีแปลกๆ) การรับชมดูออนไลน์ก็พอจะสัมผัสกับการรอคอยได้บ้าง มีคอมเมนต์ด้านล่างของผู้ร่วมชะตากรรม มาบอกเล่าว่าได้เห็นแสงเหนือตอนไหนบ้าง มาอวดรูปแสงเหนือที่ตัวเองเจอพร้อมบันทึกเวลาเสร็จสรรพ มีข้อมูลสำคัญนอกเหนือจากที่ทางเว็บไซต์จัดแสดงไว้ บางคนก็แค่บอกว่า ที่บ้านเขาตอนนี้เป็นเวลากี่โมง ก็เพลินไปอีกแบบ อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่แค่เราที่รอ ไปอยู่รอเป็นเพื่อนฉันได้ ตรงนี้
ธรรมชาติบำบัดทุกวันกับการไลฟ์สดต้นไม้จาก Volunteer Park Conservatory
ภาพจาก Volunteer Park Conservatory
ฉันได้รู้จักกับสวนพฤกษศาสตร์ Volunteer Park Conservatory ขนาดเล็กแห่งเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกาจากข่าวการ Live Stream ต้นไม้ และพืชพันธ์ต่างๆในสวนผ่านทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม หลังจากที่ต้องปิดทำการชั่วคราวตามมาตรการด้านสาธารณสุขของ Seattele Park & Recreation Department จุดประสงค์หลักของการถ่ายทอดสดเพื่อเป็นการทำ ธรรมชาติบำบัด ให้แก่ผู้ที่รับชมทางบ้าน
ตารางการ Live จะขึ้นอยู่กับตารางงานของพี่ๆ คนสวน ง่ายๆ ว่าทำสวนเสร็จเมื่อไร ถึงถ่ายได้นั่นแหละ การถ่ายทอดสดในบางวันก็จะเริ่มช่วงเที่ยงหรือบ่ายสองโมง ตามเวลาท้องถิ่น ดังนั้นฉันเลยไม่เคยได้ชมถ่ายทอดสดจริงๆจังๆ เพราะอยู่รอตอนตี 4 ไม่ไหว แต่ยังสามารถชมย้อนหลังได้
Nature Therapy Live Stream ยังมีให้ชมผ่านเฟซบุ๊ก
ในบรรดาการสัมผัสธรรมชาติผ่านหน้าจอ Nature Therapy ทางไลฟ์วิดีโอของ Volunteer Park Conservatory ค่อนข้างถูกจริตฉันมากที่สุด ด้วยความเข้าถึงง่ายและมุมมองที่ถ่ายทอดแต่ละวัน ก็ดึงเอาจากแต่ละมุมในทั้ง 5 พื้นที่หลักของสวนพฤกษศาสตร์ รวมถึงเรือนกระจกพืชพรรณประจำฤดูกาลอีกด้วย เหมือนมีคนพาไปเดินสวน มีเสียงน้ำตก เสียงฝนแทรกเป็นระยะๆ ด้วยคนที่เดินนำเราคุ้นเคยกับที่นี่เป็นประจำ มุมมองเล็กๆ ที่ปกติเรามองข้ามไปก็ถูกยกขึ้นมา
เสียดายที่มารู้จักช้าไปนิดเดียว ปัจจุบันทางสวนต้องงดการถ่ายทอดสดชั่วคราวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยกฏข้อบังคับเพิ่มเติมด้านสาธารณสุขในการจำกัดจำนวนคนภายในอาคาร แต่พืชพันธ์ต่างๆยังมีคนสวนคอยดูแลอยู่ทุกวันตามปกติ โชคดีที่มีการเก็บรวบรวมวิดิโอที่เคยถ่ายทอดสดไว้ให้เรารับชมได้ไปพลางๆ ทางเฟซบุ๊ก Volunteer Park Conservatory ลองกดเข้าไปดูได้ ที่นี่
ชมซากุระบานทางบ้านผ่าน Bloom Cam
ตัวแทนฤดูใบไม้ผลิที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ดอกซากุระ ที่ระยะเวลาการบานเพียงช่วงสั้นๆ เรียกความสนใจจากผู้คน พื้นที่สื่อ รวมถึงการวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อพยากรณ์การบานของดอกซากุระในหลายประเทศ แต่ปีนี้ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก ทำให้ดอกซากุระในหลายประเทศบานก่อนเวลาอันควร หรือหิมะตกไปบานไปก็มี
ภาพจาก National Cherry Blossom Festival
ความนิยมในซากุระไม่ลดลงแม้แต่น้อยทั้งในสภาพอากาศที่แปรปรวนและในวิกฤตโควิด-19 อย่างที่เราเห็นผ่านข่าวการปิดสวนหลายแห่งในญี่ปุ่นเพื่อลดการรวมตัวของผู้คน ซากุระทั่วโลกกำลังบาน และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดให้พวกเราพร้อมก่อนค่อยร่วงโรย บางที่จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการหาช่องทางการเสพธรรมชาติ แต่ยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมไว้ด้วย อย่างเช่น ที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นได้มีการถ่ายทอดสดการบานของดอกซากุระไปเมื่อเดือนก่อน และกรุงวอชิงตัน ดีซี ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสวรรค์ของการชมซากุระ (ของขวัญจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1912) ที่เทศกาลประจำปีอย่าง National Cherry Blossom Park อาจขรุขระไปบ้างจากโรคระบาด จึงมีช่องทางการชมการบานของดอกซากุระผ่านการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง ช่องทางที่เรียกว่า Bloom Cam ด้วยความร่วมจาก Earth Cam และ Trust for the National Mall
ตลอด 24 ชม. กล้องจะตัดไปมาทุก 1 นาที
เริ่มแรกเราเข้าใจว่าน่าจะเป็นการตั้งกล้องแบบทื่อๆ ไว้มุมใดมุมหนึ่ง แต่เมื่อด้วยการเปลี่ยนมุมกล้องทุกนาที ให้เห็นซากุระครบทุกต้นในสวน Tidal Basin ไม่เว้นแม้แต่ตอนกลางคืน และยังสามารถกดชมซากุระได้ 3 มุม ยังไม่รวมมุมพาโนรามาอีกด้วย เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนข้อจำกัดบางอย่าง ด้วยการบันทึกลักษณะของซากุระไว้ทุกวัน ทำให้เห็นข้อแตกต่าง ความบานและการเปลี่ยนแปลงของมัน แม้การชมซากุระจะขาดโสตประสาทด้านกลิ่นและสัมผัสมันก็ยังทำให้รู้สึก “จรรโลงใจ”
เทศกาล National Cherry Blossom มีถึงวันที่ 12 เมษายน สามารถรับชมได้ ที่นี่
ไปว่ายน้ำในตอนเย็น คลุกตัวอยู่กับธรรมชาติ และพบปะกับกวางมูส ผ่าน Virtual Reality ของสวีเดน
แม้สวีเดนอาจมีแนวทางปฏิบัติท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ได้สวนกระแสโลก โดยไม่มีการประกาศ Lockdown ก็ตาม แต่หากวัดจากจำนวนการรวมตัวของคนใน Kungsträdgården ที่มีดอกซากุระบานฉ่ำไวกว่าที่คาดไว้เกือบ 1 เดือนนั้นถือว่าลดลงไปมาก
ภาพที่ถ่ายห่างกัน 2 สัปดาห์จากจาก Kungsträdgården
ที่ซากุระอาจจะบานไม่เท่ากัน แต่จำนวนคนยังบางตาเหมือนเดิม
ยิ่งในช่วงนี้หลังฤดูหนาว (ที่ปีนี้ไม่ค่อยจะหนาว) ผ่านพ้นไป แสงอาทิตย์ก็อ้อยอิ่งอยู่นานขึ้นทุกวัน เหมาะในการออกไปชื่นชมธรรมชาติมากที่สุด แต่ตอนนี้ฉันทำได้แค่ดื่มด่ำธรรมชาติทางวิดีโอ Virtual Reality ที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการของสวีเดนอย่าง Visit Sweden จัดทำไว้เท่านั้น
ธรรมชาติ 3 รูปแบบ
แต่ละวิดีโอรูปแบบ VR ของ Visit Sweden ใช้เวลาเพียงสั้นๆ ไม่เกิน 3 นาทีในการรับชม แต่อาจต้องอาศัยความร่วมมือในการร่วมสำรวจธรรมชาติ และเอ็นจอยกับกิจกรรมในวิดีโอด้วยการเคลื่อนกล้องไปรอบๆ สักหน่อย เพื่อความสมจริงในการสัมผัสประสบการณ์ทางธรรมชาติทั้ง 3 รูปแบบได้แก่ การว่ายน้ำกลางแจ้ง กิจกรรมยอดนิยมในช่วงฤดูร้อน การตั้งแคมป์ตามจุดธรรมชาติของสวีเดน และการเข้าเฝ้า เดอะ คิง ที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ที่ไหน แต่คือ กวางมูส ราชาแห่งผืนป่าสวีเดนนั่นเอง ส่วนตัวเราชอบการเดินผืนป่าไปพร้อมกับกวางมูสมากที่สุด ด้วยคำโปรยที่ว่า “อภิสิทธิในการเป็นราชาแห่งผืนป่า คือการเดินเล่นในป่า หาอาหาร สัมผัสธรรมชาติ เช่นเดียวกับคุณ”
ยิ่งในช่วงกักตัวข้อความนี้มันช่างตรงใจ เพราะแค่ได้ออกไปใช้ชีวิตแค่นี้มันก็เป็นพรีวิลเลจแล้ว เยี่ยมชมธรรมชาติของสวีเดนทาง VR ได้ ที่นี่
ทั้ง 5 ประสบการณ์ธรรมชาตินี้อาจจะพอแก้ขัดให้นั่งดูผ่านหน้าจอได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่เงยหน้าขึ้นมา ฉันหวังเสมอว่าจะได้ออกไปเที่ยวใหม่แบบจริงๆ สักที ซึ่งหากมันยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เราเลยรวบรวมธรรมชาติรูปแบบอื่นๆให้คุณไปสำรวจดู เผื่ออะไรที่ไกล มันจะใกล้ได้มากขึ้น
-โลกใต้น้ำที่ Port Philip Bay รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลียรับชมได้ทางออนไลน์ แต่กล้องอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์จึงมองเห็นสัตว์น้ำและปะการังได้เฉพาะกลางวัน ตามเวลาท้องถิ่นเท่านั้น บวกลบเวลา UTC +11 หรือมากกว่าไทยประมาณ 4 ชั่วโมงแล้วรับชมได้ ที่นี่
-สำรวจ แกรนด์ แคนยอน ทาง Visual Field Trip ของมหาวิทยาลัย The Arizona State ได้ ที่นี่
-Cincinnati Zoo & Botanical Garden จัดทำโปรแกรม Home Safari ในการตั้งกล้องถ่ายสัตว์ชนิดต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ทาง FACEBOOK Live ทุกวัน และมีการร่วมสนุกให้ตอบคำถามด้วย เวลา 15.00 (EDT) หรือตี 2 บ้านเรา สามารถรับชมย้อนหลังได้ ทางนี้
ขอบคุณภาพปกจาก อภิชญา สมพามา
Tags: แสงเหนือ, โควิด-19, เซ็นทรัล พาร์ก, นิวยอร์ก, สวีเดน