ต้องยอมรับว่าในช่วงที่คนเมืองกำลังหลีกหนีสังคมเมืองที่วุ่นวาย ทั้งรถติดผู้คนแออัด และฝุ่น PM 2.5 ทำให้ผู้คนต่างตามหาอากาศบริสุทธิ์ พักร่างกายที่บอกช้ำจากการทำงาน และดื่มด่ำไปกับธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลายเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของคนยุคนี้ ที่ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นระดับโลกที่หลายประเทศกำลังรณรงค์ 

อุทยานแห่งชาติเป็นทางเลือกหลักของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นักท่องเที่ยวหลายคนให้ความสนใจ ด้วยสภาพที่เป็นป่าและมีอากาศที่สบายปอด เหมาะแก่การฟื้นฟูสภาพร่างกายที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักจากสังคมเมือง เราจะเห็นภาพเช็กอินในจุดที่อากาศสดชื่น ผืนป่าที่เขียวขจีสบายตาทั่วสื่อโซเชียลมีเดีย ท้าทายให้ผู้ที่พบเห็นได้ไปลอง หนึ่งในสถานที่นั้นคือ ‘กิ่วแม่ปาน’ สถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็น 1 ใน 3 ของป่าเมฆในไทยและเป็น 1 ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ กิ่วแม่ปานอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้รับการบุกเบิกเส้นทาง เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าต้นน้ำและสร้างจิตสำนึกการรักษาสิ่งแวดล้อม

รับลมธรรมชาติ ท้าทายวิฤกตฝุ่น PM 2.5 

ในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 กำลังมาแรงจนพากันเสียสุขภาพกันถ้วนหน้า การออกมาพักผ่อนรับอากาศบริสุทธิ์จากธรรมชาติ เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยในการฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กิ่วแม่ปานเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการออกตะลุยรับลม ชมวิวธรรมชาติ ที่นักท่องเที่ยวทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าอยากจะลอง ในระยะกว่า 3.2 กิโลเมตร ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จะพบกับความสวยงามของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ พืชและสัตว์นานาชนิดที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ตั้งแต่ต้นไม้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยพืชที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าตลอดปี การส่องดูสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะเจ้ากวางผา หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทยที่อยู่อาศัยในกิ่วแม่ปานที่มีกว่า 30 ตัวตามที่ทางอุทยานได้เคยสำรวจไว้ แม้ตอนที่เราไปจะไม่เจอ แต่ก็แอบคิดในใจว่า ถ้ารออีกหน่อยคงจะได้พบน้องกวางผาก็เป็นได้ 

นอกจากนี้เรายังมีโอาสได้เห็น ‘กุหลาบพันปี’ ไม้ดอกสีแดงที่มีมอสส์เกาะอยู่ตามลำต้นเหมือนไม้มีอายุกว่าพันปี โดยพืชที่หายากมากชนิดหนึ่ง เพราะเป็นพืชที่เติบโตได้เฉพาะในเขาอากาศหนาวและพื้นที่ชุ่มชื้นเท่านั้น โดยจะออกดอกปีละ 1 ครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนและกุมภาพันธ์

กุหลาบพันปี

แลนด์มาร์คสำคัญของกิ่วแม่ปานที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นจุดชมวิวที่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปบันทึกความทรงจำ ด้วยวิวทิวทัศน์ที่ทอดยาวจนเห็นอำเภอแม่แจ่ม สันเขาแม่ปานและร่องห้วยแม่ปาน เมื่อเดินลงไปอีกนิดก็จะเจออีกหนึ่งแลนด์มาร์คของคนมีความรักอย่าง ‘ผาแง่มน้อย’ ที่เกิดจากความบังเอิญของธรรมชาติ ว่ากันว่าเกิดจากหินที่อยู่บนผากิ่วแม่ปานหักแล้วกลิ้งลงมาอยู่กับหินที่อยู่ข้างล่าง ทำให้ผาแง่มน้อยมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจและมักจะมีนักท่องเที่ยวมาขอพรให้สมหวังกับการมีคู่

จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน

ผาแง่มน้อย

กิ่วแม่ปาน ตัวแทนป่าต้นทางชีวิต

กิ่วแม่ปานเป็น 1 ใน 3 ของป่าเมฆในประเทศไทยมีอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีอากาศที่หนาวเย็นและมีเมฆปกคลุมเกือบทั้งปี  ทำให้มีสภาพอากาศที่มีลมแรงและมีความชื้นสูง จนเกิดเป็นวิถีของการอิงอาศัยกันในป่าที่พืชอิงอาศัยหลายพรรณมาเกาะอยู่บนไม้ยืนต้นของป่า เช่น มอสส์ เฟิน ไลเคน และกล้วยไม้ป่า เป็นต้น 

ขณะเดียวกันด้วยสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่มีหน้าดินที่เป็นโคลนหรือมีหน้าดินที่บาง ทำให้ไม้ยืนต้นของที่นี้ล้มได้ง่าย ทั้งจากสภาพหน้าดิน และลมที่แรงตลอดเกือบทั้งปี เกิดเป็นวัฎจักรชีวิตที่เปิดทางให้พืชข้างล่างได้มีโอกาสเติบโตเป็นไม้ใหญ่วนเวียนไป

นอกจากนี้กิ่วแม่ปานไม่ได้เป็นแค่ป่าเมฆเพียงอย่างเดียว ยังเป็นหนึ่งในป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิงที่สำคัญ หล่อเลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่กว่า 4 อำเภอในเชียงใหม่ ทั้งอำเภอจอมทอง แม่แจ่ม แม่วาง และดอยรอก ในป่าต้นน้ำกิ่วแม่ปานมีสายน้ำที่ไหลอยู่ตลอดปี ด้วยความชื้นของป่าที่มีตลอดเวลาและผื้นดินที่มาจากซากใบไม้ที่ทับถมจนมีลักษณะเป็นฟองน้ำที่ดูดซับและกักเก็บน้ำไว้ กลายเป็นต้นกำเนิดของทุกชีวิตในป่าที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ ซึ่งที่นี้ก็มี ‘น้ำตกลานเสด็จ’ เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดสายน้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในกิ่วแม่ปาน โดยชื่อน้ำตกลานเสด็จมาจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังอุทยานฯกว่า 9 ครั้ง และพระองค์มาเยือนน้ำตกแห่งนี้เมื่อปีพ.ศ. 2542 การมาของพระองค์ทำให้พื้นที่ป่าได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ

น้ำตกลานเสด็จ

ภายใต้ป่าอันเขียวขจี เมื่อเดินออกจากโซนป่าไปจะเจอทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ (Sub-Alphine Meadow) ที่ในประเทศไทยพบได้เพียงไม่กี่แห่ง บริเวณนั้นเป็นชั้นหินที่อยู่ใต้ดิน ทำให้มีเพียงหญ้า ไม้พุ่มและเฟินดินที่เติบโต กลายเป็นความสวยงามที่สามารถเข้าชมได้ตลอดปี และมีความสวยงามแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู อย่างช่วงหน้าฝนต้นหนาว ทุ่งหญ้าจะเขียวขจีสวยสดงดงาม แต่เมื่อเข้าช่วงใกล้ร้อนต้นฝน ผืนหญ้าจะกลายเป็นทุ่งหญ้าเหลืองทองตลอดทั้งทุ่ง ในทุ่งแห่งนี้ยังแฝงไปด้วยความหลากหลายของพืชพรรณต่างๆ เช่น สาบหมา กูดเกี๊ยะ มะแหลม บัวทอง และหนาดดอย

ถึงเวลาดูแลตัวเองแล้วนะ เจ้ากิ่วแม่ปาน

ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่กิ่วแม่ปานเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเยี่ยมชม สภาพแวดล้อมของระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยความที่กิ่วแม่ปานเป็นป่าต้นน้ำและป่าเมฆ ซึ่งมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ทำให้มูลนิธิไทยรักษ์ป่าจาก เอ็กโก กรุ๊ป เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงเป็นแม่งานหลักในการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน โดยได้ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นผู้ให้ข้อมูลช่วยเหลือและคำแนะนำ ในการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เพื่อส่งเสริมการรักษาระบบนิเวศป่าเมฆและส่งเสริมจิตสำนึกในการรักษาป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน 

เกษม เลายะ ประธานกลุ่มผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น 

ที่กิ่วแม่ปานใช้วิธีการฟื้นฟูป่าที่เลี่ยงผลกระทบต่อระบบนิเวศให้น้อยที่สุดด้วยวิธี ‘ป่าซ่อมป่า’ (Dynamic Forest) ที่ทาง เกษม เลายะ ประธานกลุ่มผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น บอกว่า “ป่าซ่อมป่าเป็นวิธีที่ทำให้ระบบนิเวศได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการฟื้นฟูป่า โดยปล่อยให้พวกเขา (ป่า) ฟื้นฟูกันเองโดยที่มนุษย์ไม่ต้องช่วยอะไรมากมาย มันทำให้เกิดเป็นวัฎจักรการเติบโต เมื่อไม้ใหญ่ล้มลง พืชป่าที่อยู่ข้างล่างจะได้รับแสงมากขึ้นและเติบโตมาเป็นไม้ใหญ่เหมือนเดิม แม้จะใช้เวลานานแต่มันยั่งยืน”

นอกจากนี้ทางอุทยานได้มีการปรับปรุงเส้นทางเดินเท้าในกิ่วแม่ปานที่กำลังทรุดโทรม โดยสร้างทางเดินยกระดับ (Boardwalk) ที่ใช้เข็มเหล็กเจาะเฉพาะจุดเป็นฐานและใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นทางเดิน ซึ่งเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่น้อยที่สุด เนื่องจากสามารถช่วยแก้ปัญหาหน้าดินแน่นแข็งจนทำให้น้ำไม่ซึมผ่านไปยังชั้นใต้ดิน และยังช่วยให้พืชพันธุ์ต่างๆ สามารถเติบโตคลุมดินได้ อีกทั้งยังจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับนักเที่ยวต่อธรรมชาติและสังคมในปัจจุบัน 

ปัจจุบันการเที่ยวป่าเดินเขาชมนกชมไม้กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายคนอยากจะไป แต่พฤติกรรมการท่องเที่ยวบางอย่างที่อาจผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเลยกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการสร้างจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน และรักษาผืนป่าที่สำคัญ เหมือนเช่นที่กิ่วแม่ปานที่เป็นทั้งป่าเมฆและป่าต้นน้ำเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงรักษาระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพนี้ไว้ และคงไม่มีใครอยากให้กิ่วแม่ปานมีสภาพระบบนิเวศเปลี่ยนและเสื่อมโทรมลงไป อยากเชิญชวนให้ลองมาเยี่ยมชมห้องเรียนธรรมชาติที่ให้อะไรมากกว่าการท่องเที่ยว 

Tags: