นายแพทย์บีเจ มิลเลอร์ (BJ Miller) ผู้บุกเบิกสาขาการศึกษาด้านศาสตร์การดูแลรักษาแบบใจต่อใจ (palliative care) กล่าวว่า ความตายคือ ‘โอกาสในการออกแบบ’ และมันน่าจะดีถ้าเราออกแบบการตายของตัวเองได้ มองความตายเป็นเรื่องของความอบอุ่นและสวยงาม เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับทั้งผู้อยู่และผู้ที่จากไป

 

คิดใหม่ ออกแบบใหม่ ว่าเราอยากจากโลกนี้ไปอย่างไรดี

เรื่องการออกแบบประสบการณ์ความตาย จึงว่ากันตั้งแต่เรื่องของความสวยงามในโรงพยาบาล จนถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบความตายที่กำลังเปลี่ยนความหมายออกไปในอนาคตอันใกล้

เมื่อความตายออกแบบได้ เป้าหมายก็เปลี่ยนมาอยู่ที่วิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วย เริ่มมีนักออกแบบบางคนเลือกสร้างวิธีใหม่ด้วยการออกแบบโรงพยาบาลที่มักจะหน้าตาเหมือนกันหมดทุกที่ ให้เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่สบายใจและมีความสนุกมากขึ้น พื้นที่จึงมีความหมายในทางจิตวิทยา

ลองดูตัวอย่างจากแม็กกี เซ็นเตอร์ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง ที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกภูมิทัศน์อย่าง ชาร์ลส์ เจนกส์ (Charles Jenks) ที่พบรักกับ แม็กกี หรือ Margaret Keswick Jencks ภรรยาผู้เป็นนักเขียนและนักออกแบบ และเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง เขามีความฝังใจกับการนั่งรอคิวให้ห้องสีขาวชืดระหว่างให้คีโม หรือการต้องอยู่ในพื้นที่โรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์สีขาวโพลน ซึ่งมันทำให้ยิ่งรู้สึกแย่และไม่มีพลังที่พร้อมสู้โรคร้าย

แม้ว่าแม็กกีจะเสียชีวิตไปด้วยมะเร็ง แต่เธอก็ทิ้งพิมพ์เขียวของอาคารให้กับสถาปนิกไว้ ซึ่งในนั้นมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีความหวัง

ปัจจุบัน ศูนย์ลักษณะนี้สร้างขึ้นในหลายพื้นที่ และได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังหลายคน ทั้ง ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) OMA หรือแฟรงก์ แกห์รี่ (Frank Gehry)

ชาร์ลส์เองก็ต้องการให้ในทุกพื้นที่ของศูนย์แห่งนี้แสดงออกถึงความหวัง “ความหวังไม่เหมือนกับการมองโลกในแง่ดี แต่ความหวังเป็นทัศนคติที่อยู่บนพื้นฐานของความฉลาดและการมีเหตุผล สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความหวังก็คือเรื่องของจิตวิทยา จิตวิญญาณ และกายภาพ ส่วนความหวัง ผมสามารถเปรียบเปรยได้เหมือนกับเส้นขอบฟ้า เส้นที่แสดงให้เห็นถึงอนาคตวันข้างหน้า”

แม็กกี้ เซ็นเตอร์ที่สก็อตแลนด์ ออกแบบโดยแฟรงก์ แกห์รี่ ผู้เป็นเพื่อนสนิทของแม็กกี้ ที่ฉีกกฎศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบเดิมๆ ด้วยสวนสวยกว้างไกล

แม็กกี้ เซ็นเตอร์ที่แอเบอร์ดีน ออกแบบโดย Snøhetta ด้วยโครงสร้างเหมือนเปลือกหอยขนาดยักษ์ เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลมาจากการออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวีย โดยคนในพื้นที่ตั้งชื่อเล่นให้กับศูนย์แห่งนี้ว่า “ตึกหินยักษ์”

อีกสาขาของแม็กกี้ เซ็นเตอร์ที่เวลส์ ออกแบบโดย Kisho Kurokawa โดยใช้แนวคิด Metabolism (新陳代謝 shinchintaisha) หรือการออกแบบโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ด้วยการจำลองลักษณะของการเติบโตทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดในช่วงยุคหลังสงครามของประเทศญี่ปุ่น

เข้าใจคนอยู่ รู้ใจคนจาก

ปราง เลิศทวีวิทย์ นักออกแบบจาก Another New Design Studio ที่หลายคนอาจคุ้นเคยผ่านโปรเจ็กต์ 31T แต่ปรางยังสนใจในเรื่องอื่นๆ อย่างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติที่มาเยี่ยมในรูปแบบใหม่อีกด้วย

หนึ่งในโปรเจ็กต์นั้นคือ Memory Spheres ด้วยการใช้ความทรงจำจากกลิ่นเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยใน Hospice ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยการหยดสีลงในน้ำและใช้ลมหายใจสร้างลวดลาย แต่ละแผ่นจึงเกิดเป็นแพทเทิร์นที่ไม่ซ้ำกัน ปรางเปรียบว่าก็เป็นเหมือนกับชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่เลือกที่จะชื่นชมความสวยงามที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ กระดาษแต่ละแผ่นถูกนำมาเย็บรวมคล้ายไดอารี เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ป่วยและญาติใช้สื่อสารกัน บางหน้าเมื่อใช้นิ้วมือถูก็จะเกิดกลิ่น หรือสามารถบันทึกข้อความสั้นๆ ระหว่างการแลกเปลี่ยนความทรงจำกันได้

 

ไปไม่กลับแบบฉบับใหม่ ให้เทคโนโลยีเป็นผู้ช่วย

ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบงานศพ จากค่านิยมแบบเดิมๆ สู่การมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นได้ตามใจผู้เสียชีวิต

ที่ประเทศญี่ปุ่น การก้าวเข้าสู่สังคม ultra-aged เป็นประเทศแรกของโลก ทำให้พิธีกรรมการจัดงานศพได้รับความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมน้อยลง ด้วยการที่คนมีอายุยาวนานขึ้น คนส่วนใหญ่ก็ลาออกจากงานมาแล้วกว่า 20 ปีก่อนจะเสียชีวิต ทำให้ญาติหรือเพื่อนที่มีก็น้อยลงตามเวลา ทำให้พวกเขาตัดสินใจว่า ไม่จัดงานศพให้ยุ่งยากเสียจะดีกว่า

ถึงกระนั้น เมื่อเวลามาถึง ญี่ปุ่นก็ไม่ทำให้เราผิดหวังด้วยสารพัดวิธีการรับมือกับความตายและพิธีกรรมหลังลมหายใจสุดท้าย เริ่มจากบริการ “drive-thru” สำหรับคนที่ไม่สะดวก สามารถขับรถเข้ามายังพื้นที่รับแขก ลดกระจกลง เห็นเพียงแต่หน้า เพื่อลงชื่อ จุดธูปเคารพ หรือจ่ายเงินช่วยงานศพได้เลยทันที โดยที่คนด้านในก็สามารถเห็นภาพถ่ายทอดสดผู้มาเคารพศพผ่านหน้าจอด้วยเช่นกัน ความสบายจากบริการนี้ สามารถสร้างมูลค่าได้มากถึง 1.6 หมื่นล้านดอลล่าร์ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนใหม่ในอุตสาหกรรมการจัดงานศพ

  

หรือการให้หุ่นยนต์อย่างเจ้าเปปเปอร์ (หุ่นยนต์หน้าตาคล้ายมนุษย์ของบริษัทซอฟท์แบงค์) มาทำหน้าที่ดำเนินงานศพ เพราะค่าใช้จ่ายจัดพิธีกรรมแต่ละครั้งนั้นแตะระดับล้านเยน การนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยดำเนินพิธีการต่างๆ จึงเป็นตัวเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเปปเปอร์สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย จากการต้องจากนักบวชที่ราคา 2,200 เหรียญดอลล่าร์ (ราวๆ 72,500 บาท) เหลือเพียง 350 เหรียญดอลล่าร์ (ราวๆ 11,500 บาท) เท่านั้น โดยเปปเปอร์มีความสามารถในการตีกลองและท่องบทสวดเป็นทำนองในช่วงพิธีกรรม และเพราะมีกล้องหน้า ไมโครโฟน และระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ ทำให้เปปเปอร์สามารถประมวลผลอารมณ์ของมนุษย์และตอบสนองร่วมได้ แต่ซอฟท์แบงค์ก็บอกว่า ตัวอย่างนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น เพราะจากการทดลองพบว่า เปปเปอร์ยังทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีกระอักกระอ่วนใจและยังอุ้ยอ้ายเกินไปในบางที

ตายแล้วไม่รู้ว่าไปไหน แต่รู้ว่าจะจัดการศพตัวเองอย่างไร

จากตอนหนึ่งของพอดแคสท์ BBC’s 6 Minute English เมื่อปี 2017 จุดประเด็นเรื่องงานศพที่ไม่เป็นไปตามขนบเก่า ด้วยการสวมชุดสีสันสดใสราวกับเป็นงานแฟนซี ด้วยบริการจาก Co-op Funeralcare ที่จัดงานศพธีมงานฮัลโลวีน ผู้เข้าร่วมงานสวมใส่ชุดแฟนซีร่วมขบวนแห่ศพ ตัวอย่างจากแก๊งค์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ทุกคนใส่มาเพื่อเคารพผู้เสียชีวิตที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือการ์ตูน

หรือกระแสแฮชแท็ก #burymeinthis ที่ฮิตในโซเชียลมีเดีย การเปิดกว้างให้เลือกได้ว่าจะเลือกเสื้อผ้าแบบโอกูตูร์หรือมินิมอล มิลเลนเนียลเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงเห็นว่าพวกเขาอยากถูก ‘ฝัง’ ในเสื้อผ้าแบบไหน บ้างก็เลือกชุดนอนตัวโปรดหรือแสดงเจตจำนงว่าอยากใส่เสื้อเฟอร์สีน้ำเงินสดก็มีให้เห็น นี่จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการแสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้านั้นเป็นเครื่องหมายสะท้อนตัวตนและชีวิต

หรือการเกิดบริการเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มในงานศพ การจัดพิธีที่บ้านนั้นเริ่มมีการจ้างฟู้ดทรักมาจอดหน้าบ้าน มีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ปลูกในท้องถิ่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับผู้ที่จากไป

ตัวอย่างงานศพของแฮร์รี่ อีเวล (Harry Ewell) ผู้ประกอบอาชีพเป็นคนขับรถขายไอศกรีม ในพิธีกรรมงานศพของเขา ญาติและคนสนิทจึงนำรถไอศกรีมมาให้บริการข้างหลุมฝังศพ

 

อาจเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่เห็นทิศทางของการจัดการความตายในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคยเหล่านี้ แต่สำหรับการแสดงออกถึงตัวตนเป็นครั้งสุดท้าย ตัวอย่างเหล่านี้ก็ไม่เป็นเรื่องเกินความประหลาดใจ อย่างที่นักปรัชญา สตีเฟน เคฟ (Stephen Cave) เสนอข้อคิดในการยอมรับความตายที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “ถ้าหากอยากได้ยิน ความตายแท้จริงก็คือคำสาป พวกเราทุกคนจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ความเข้าใจว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็อาจเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่ง ทุกสิ่งที่เราเคยทำไว้ ทุกความหวังที่เราเคยมีอยู่ ทุกความฝัน ทุกอย่างที่เราแต่ละคนมี ในวันนี้เราแต่ละคนกำลังมีชีวิตอยู่ในเงาของวันสุดท้ายที่จะมาถึง”

การเผชิญหน้าทำความรู้จักกับความตาย และพิจารณาอย่างถ้วนถี่ เมื่อมองให้ดีก็อาจเห็นว่า แท้จริงความตายก็คือตัวกระตุ้นการใช้ชีวิตให้เราได้เห็นคุณค่า รับรู้ถึงความหมาย และจัดการกับเวลาที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

Tags: , , , , ,