Bob Woodward คือนักข่าวผู้ยิ่งใหญ่ ว่าแต่ นักข่าวผู้ยิ่งใหญ่คืออะไร?

  คือคนที่ไม่หยุดพยายามค้นหาความจริงให้ใกล้เคียงที่สุด เราต่างรู้ว่ามันไม่มีความจริงเพียงด้านเดียว แต่มันมีข้อเท็จจริง

  ยิ่งคุณมีข้อเท็จจริงมากเท่าไร คุณก็ยิ่งเข้าใกล้ความจริงไม่ว่าเรื่องใดมากขึ้นเท่านั้น

โรเบิร์ต คาโร (Robert Caro) นักข่าวรางวัลพูลิตเชอร์ เจ้าของหนังสือ The Power Broker เขียนไว้ในปกหลังของ Rage หนังสือเล่มล่าสุดของนักข่าวสืบสวนระดับตำนาน บ็อบ วูดวาร์ด

…..

  แต่คุณผู้อ่านรู้ไหม ความจริงผมแปลความออกมาไม่หมด ในท่อนที่พูดถึงความจริงโรเบิร์ตเขียนเต็มๆ ว่า

  There is no truth, we all know that. No one truth. No objective truth. No single truth. No simple truth or no one simple truth either.’

  สารภาพว่าผมไม่รู้ว่าจะแปลความจริงแต่ละมุมด้วยคำใด ในแง่หนึ่งก็ตลกดี เวลาพูดถึงความจริง มันอาจกลับไม่ใช่ความจริง เรายังคงต้องอธิบายว่าความจริงนั้นมาจากมุมมองแบบไหน และใครเป็นคนพูด

  แต่โลกเราก็เป็นแบบนี้ เวลาอ่านข่าว บทความ หรือความคิดเห็น ทุกคนมักจะตัดสินว่านี่คือความจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็นเรื่องที่ตรงใจคุณ) ยุคนี้ คนทั่วไปมีพื้นที่และอำนาจมากขึ้นในการบอกว่าสิ่งที่ฉันพูดคือความจริง ที่สำคัญคือพร้อมจะมีคนเชื่อ โดยไม่ได้รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ก่อนหรือไม่

  แม้แต่ข้อความข้างต้นของบทความ ถ้าผมไม่ได้บอกว่าแปลมาไม่หมด จะมีใครบ้างที่ตามไปอ่านปกหลังหนังสือ ว่าเขาเขียนอย่างที่ผมแปลจริงหรือไม่

  …..

งานนักข่าวของ บ็อบ วูดวาร์ด คือการรายงานข้อเท็จจริง ความเป็นตำนานของบ็อบส่วนหนึ่งมาจากผลงานสร้างชื่อของเขาคือ All the President’s Men หนังสือที่เขาเขียนร่วมกับเพื่อนนักข่าว คาร์ล เบิร์นสตีน (Carl Bernstein) และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1973 จากการเปิดโปงคดีอื้อฉาว Watergate จนมีส่วนทำให้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน ต้องออกจากตำแหน่ง

  บ็อบเขียนหนังสือมาแล้ว 20 เล่ม เขียนถึงประธานาธิบดีมาแล้ว 6 คน เขียนถึงทรัมป์มาแล้วก่อนหน้านี้ในเล่ม Fear : Trump in the White House ส่วนเล่มล่าสุดที่เพิ่งวางแผงในเดือนนี้ คือ Rage

  Fear และ Rage มีจุดต่างโดยหลักสองข้อ 

หนึ่ง ในเล่ม Fear บ็อบได้เนื้อหามาจากแหล่งข่าวในทำเนียบขาว และไม่ได้รับอนุญาตให้คุยกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์โดยตรง แต่กับ Rage บ็อบได้สัมภาษณ์ทรัมป์ถึง 17 ครั้ง ได้เทปยาว 9 ชั่วโมง 41 นาที

  สอง ฉากและช่วงเวลาในเรื่องต่างกัน Fear จะพูดถึงช่วงต้นๆ ในการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่ Rage พุ่งประเด็นไปที่การรับมือกับวิกฤติต่างๆ ที่ดาหน้าเข้ามาหาทรัมป์ ตั้งแต่กรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2016 ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่หวิดจะได้ทำสงครามกับสหรัฐฯ ความขัดแย้งในอิหร่าน การประท้วงกรณี  Black Lives Matter และแน่นอน วิกฤติโรคระบาด Covid-19 ที่อเมริกาเสียท่าในการรับมืออย่างยิ่ง

  โควิด-19 เป็นประเด็นใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะก่อนหนังสือวางแผงไม่กี่สัปดาห์ สำนักข่าวในอเมริกาลงข่าวใหญ่ที่มาจากส่วนหนึ่งในหนังสือว่า ทรัมป์รู้เรื่อง โควิด-19 ตั้งแต่แรกว่ามีอันตรายร้ายแรงแค่ไหน แต่กลับบอกประชาชนว่ามันเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา ทรัมป์บอกเหตุผลกับบ็อบว่า เขาแค่ไม่ต้องการให้ผู้คนตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่อันที่จริงแล้วการไม่บอกข้อมูลและข้อเท็จจริงกับประชาชน ถือเป็นสิ่งที่ผู้นำไม่ควรทำอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ

  แต่บ็อบเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องนี้เช่นกัน (โดยเฉพาะจากสื่อที่เชียร์ทรัมป์) ว่าถ้าเขารู้ข่าววไวรัสจากวงในมานาน ทำไมถึงไม่รีบเปิดเผยให้เร็วกว่านี้ บ็อบชี้แจงว่าเขาสัมภาษณ์ทรัมป์เรื่องไวรัสในเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนั้นโควิด-19 ยังเป็นประเด็นเฉพาะที่ประเทศจีน ไม่มีใครคิดว่าไวรัสจะแพร่ระบาดทั่วโลก ถ้าโควิด-19 เริ่มระบาดในอเมริกาตั้งแต่ช่วงนั้น เขาคงขอ The Washington Post สำนักข่าวที่เขาสังกัดลงข่าวนี้แน่นอน แต่เมื่อถึงช่วงเดือนพฤษภาคมที่สถานการณ์บานปลาย ทุกอย่างก็สายเกินไปเสียแล้ว

  แม้ Rage จะดูเป็นหนังสือการสืบสวนข่าวและเปิดโปงเรื่องอื้อฉาว แต่เราสามารถมองหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสะท้อนการทำงานและบริหารคนได้เหมือนกัน บ็อบไม่ได้ถอดเทปสัมภาษณ์ทรัมป์ออกมาดิบๆ แต่เขาเล่าเรื่องการทำงานของทรัมป์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวและบริบทมากขึ้น การเล่าเรื่องของบ็อบมีที่มาจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเพิ่มเติม (ทั้งที่เปิดเผยได้และไม่ได้) ตรวจสอบบันทึกการประชุม และข้อมูลอื่นๆ ประกอบกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด

  ด้วยวิธีนี้เราจึงได้รู้ว่า เมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวทำงานกันอย่างไร ประชุมและส่งต่อข้อมูลลับระดับประเทศกันแบบไหน มันเป็นการเล่าเรื่องวงในของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนเล่าได้ลึกแบบนี้มาก่อน เช่นเดียวกัน มันยังทำให้เรารู้ว่าการที่ทรัมป์แหกกฏเกณฑ์บางอย่างในการทำงานกับความลับ ด้วยการประกาศมันบนทวิตเตอร์ ส่งผลเสียอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกา

  …..

ระหว่างที่บ็อบสัมภาษณ์สื่อเพื่อโปรโมตหนังสือหนังสือเล่มนี้ มีอยู่สองรายการที่ผมคิดว่าสะท้อนวิธีคิดและการทำงานของนักข่าวสืบสวนคนนี้ได้ดี

  หนึ่ง ตอนที่บ็อบออกรายการ The Late show ของ สตีเฟน โคลเบิร์ต (Stephen Colbert) สตีเฟนถามว่าเขามีแผนจะปล่อยเทปสัมภาษณ์ 9 ชั่วโมงกว่านี้ออกมาเต็มๆ หรือไม่ บ็อบบอกว่าเขาคงต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดเป็นความจริง แม้ว่ามันจะเป็นคำพูดที่ออกมาจากปากของประธานาธิบดีเองก็ตาม

  สอง ตอนที่บ็อบให้สัมภาษณ์รายการ 60 Minutes สก็อตต์ เพลลีย์ (Scott Pelley) พิธีกรของรายการถามว่าในบทสุดท้ายของหนังสือ บ็อบสรุปว่าทรัมป์คือ ‘The wrong man for the job.’ การสรุปแบบนี้สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่น่าใช่สิ่งที่นักข่าวควรทำ เพราะมันเหมือนการเลือกข้างในการนำเสนอ

  บ็อบตอบว่า ที่เขาสรุปแบบนั้นได้ เพราะเขามีหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่าประโยคนั้นเป็นความจริง

  ผมยังบอกท่านประธานาธิบดีอีกว่า เนื้อหาหนังสือเล่มนี้จะหนัก ซึ่งท่านไม่น่าจะชอบนักบ็อบบอก

แล้วท่านพูดว่าอย่างไรบ้างสก็อตต์ถาม

ประมาณชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้น ท่านก็ทวีตว่าเนื้อหาหนังสือของบ็อบไม่เป็นความจริง

…..

อย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนต้น เราอยู่ในโลกที่ความจริงไม่ได้มีเพียงด้านเดียว หนทางเดียวที่จะเข้าใกล้ความจริงที่สุด คือการหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักฐานประกอบ เพื่อให้เรามองเห็นเรื่องนั้นอย่างรอบด้าน

  การหาความจริงให้สังคม คือเหตุผลว่าทำไมสังคมต้องการนักข่าวที่ดี สื่อมวลชน ในอุดมคติ ควรทำหน้าที่จุดเทียนในความมืด และนำเสนอความจริงอย่างเที่ยงตรง ผมสรุปได้แบบนี้

  และหนึ่งในหลักฐานยืนยันถึงเหตุผลดังกล่าวก็คือหนังสือเล่มนี้ของบ็อบ มันเป็นเหตุผลที่บอกเราได้ว่า นักข่าวมีไว้ทำไม?

Tags: ,