คำกล่าวที่ว่า “เพลงป็อปไม่ใช่วรรณกรรม” ดูเหมือนจะไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้วเมื่อ Swedish Academy คณะกรรมการของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ว่าศิลปินชาวอเมริกันวัย 75 ปี บ็อบ ดีแลน คือผู้ชนะรางวัลของปีนี้ ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่วงการวรรณกรรม รวมถึงวงการเพลงไม่น้อย เนื่องจากดีแลนถือเป็น ‘นักร้อง-นักดนตรี’ คนแรกที่ได้รับรางวัลในสาขาวรรณกรรม

มองอย่างผิวเผิน เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าตื่นเต้นที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลเห็นความสำคัญของบทเพลงดีแลนในฐานะ ‘บทกวีที่มีทำนอง’ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเหมาะสมของรางวัล และการ Remain Silence ของดีแลนนี้เอง ทำให้ The Momentum ตั้งคำถามก่อนพิธีรับรางวัลที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม นี้ว่า รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม คือรางวัลที่ดีแลน ‘ควรได้รับ’ หรือ ‘ไม่ควรแคร์’?

Photo: jukeitup.com

เพลงของ บ็อบ ดีแลน คือ ‘บทกวีที่มีทำนอง’

คำถามแรกที่ตามมาจากการที่สาขาวรรณกรรมมีผู้ชนะรางวัลเป็นนักดนตรีก็คือ เพลงของดีแลนนั้นเข้าข่ายงานเขียนเชิงวรรณกรรมจริงหรือ? หากใครเป็นแฟนเพลงของดีแลนอยู่แล้ว คงสามารถพยักหน้าได้อย่างไม่ต้องลังเล เพราะเพลงของเขาถูกกล่าวขานมากมายว่า มิเพียงมีบทบาทในฐานะเนื้อร้องบนทำนองเท่านั้น แต่ยังเล่าด้วยบริบทของเวลา และอธิบายเรื่องของสภาพสังคมและเมืองในถ้อยคำเปรียบเปรย เช่นเดียวกับการอ่านบทกวี

ซารา แดเนียส (Sara Danius) เลขาธิการของ Swedish Academy กล่าวถึงผลงานของดีแลนต่อสื่อว่า เขาได้รับรางวัลจาก ‘การสื่อสารบทกวีในรูปแบบใหม่ ผ่านวัฒนธรรมเพลงแบบอเมริกัน’ (อ้างอิงจาก The Guardian)

ในขณะที่ เจย์ ปารินี (Jay Parini) นักเขียนผู้เป็นแฟนเพลงของดีแลน ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ของ CNN เกี่ยวกับความสวยงามของภาษาที่ดีแลนใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่าง สงครามเวียดนาม การเมือง ไบเบิล และเชกสเปียร์ อีกทั้งเพลงของเขายังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการตีความทางวรรณกรรม แล้วมันจะแปลกอะไรเล่าที่เขาจะได้รับรางวัลนี้

“Subterranean Homesick Blues คือเพลงที่แสดงคุณสมบัติเทียบเท่าบทกวีที่ผมชอบที่สุด เพลงนี้ไม่ได้มีท่อนคอรัสที่ชัดเจนแบบที่เพลงป็อปพึงมี หากแต่เป็นกระแสความคิดที่ถูกบรรยายออกมา ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือบทกวีที่มีทำนอง” คาร์ล ดิกซัน, อดีตครูสอนดนตรี และนักเขียนวิจารณ์เพลง BK Magazine ให้ความเห็นกับ The Momentum

 

หรือนี่หมายความว่า โนเบลกำลังให้คำจำกัดความ ‘วรรณกรรม’ ใหม่

ในทางทฤษฎีแล้ว คำว่าวรรณกรรม คือ ‘วรรณคดีหรือศิลปะที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วนำมาเรียบเรียง บอกเล่าบันทึกเป็นตัวหนังสือ’ ถ้อยคำจบด้วยตัวเองบนกระดาษ (ที่ดนตรีไม่มีผลต่อการเน้นความรู้สึก) และมีผลโดยตรงกับประสบการณ์การอ่าน เหล่านี้จึงเป็นที่มาของข้อสงสัยว่า หรือโนเบล กำลังตีความคำว่าวรรณกรรมใหม่ ให้มีความหมายนอกเหนือไปจากงานเขียนที่ใช้การอ่านเท่านั้น แล้วแบบนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอนาคตปีถัดไป อาจจะมีศิลปินคนอื่นได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้อีก อย่างที่เว็บไซต์ BBC จัดอันดับ 12 ศิลปินที่ควรได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม หรือแม้แต่สื่อประเภทภาพยนตร์ก็อาจจะเป็นผู้ชนะรางวัลในปีถัดไป หากทุกภาพที่ฉายแสดงออกถึงคุณสมบัติของความเป็นวรรณกรรม

“การให้รางวัลครั้งนี้ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้คนออกมาถกเถียงกันถึงนิยามของคำว่า ‘วรรณกรรม’ ที่ตอนนี้อาจจะไม่ได้หยุดอยู่ที่หน้ากระดาษ และบทเพลงก็ไม่ใช่สื่อชั้นสองที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรม หากคุณถามศาสตราจารย์หลายๆ คนในสาขาวรรณกรรม พวกเขาจะบอกด้วยซ้ำว่า ‘เพลงป็อบ’ ไม่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรม แต่ในหลายๆ ครั้งเราก็เห็นว่าบทกวีเองก็สามารถถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงได้ แล้วทำไมล่ะ ในเมื่อบทภาพยนตร์ยังได้รับสิทธินั้นได้เลย” คาร์ล ดิกซัน กล่าวเสริม

Photo: soundstation.dk​

บางเสียงบอกว่ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมควรเก็บเป็นสมบัติของนักเขียนเท่านั้น

แน่นอนว่าท่ามกลางกระแสความแปลกใจและยินดี จะต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในบริบทที่ว่า รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ควรตกเป็นของนักเขียนเท่านั้น อย่างบทความ Why Bob Dylan Shouldn’t Have Gotten a Nobelเขียนโดย แอนน์ นอร์ท (Anne North) จากสำนักพิมพ์ New York Times กล่าวเอาไว้ว่า เธอไม่ได้มีข้อกังขาใดกับความเป็นตำนานของบทเพลงแห่งบ็อบ ดีแลน แต่การเลือกให้รางวัลอันทรงเกียรตินี้แก่นักดนตรีนั้น จะทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะยกย่องนักวรรณกรรม ที่ในโลกปัจจุบันนั้นได้รับความสนใจจากกระแสหลักน้อยลงทุกวัน และปิดท้ายว่า “บ็อบ ดีแลน ไม่ต้องการรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม แต่โลกวรรณกรรมยังต้องการรางวัลโนเบลอยู่”

 

“สำหรับผมในเรื่องนี้ โนเบลมีประวัติการให้รางวัลที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว อย่างเรื่องสหประชาชาติเคยได้รับรางวัล หรือปีที่ไม่มีผู้ได้รับรางวัลเลย การตัดสินใจที่สุดโต่งและคาดเดาไม่ได้ของโนเบล ถือเป็นการกระทำที่น่าสนใจสำหรับผม อย่างกรณีที่ บ็อบ ดีแลน ได้รับรางวัลในสาขาวรรณกรรมปีล่าสุดนั้น มันไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย ในกรณีนี้ ‘เนื้อเพลง และวรรณกรรม’ ทั้งคู่เป็นตัวอักษร สำหรับผมถ้ามันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย มันก็ยอมรับได้ในแง่ของการเปิดกว้าง แต่ถ้าจะมีนักดนตรีได้รางวัลโนเบลสาขานี้สัก 5 ปีติดต่อกัน ผมว่าอันนั้นมากไป ควรสร้างรางวัลใหม่ไปเลยดีกว่า” แอ็บเนอร์ โอลิเวียรี (Abner Olivieri) ผู้ก่อตั้ง Live Music Tonight Bangkok แสดงทัศนะในเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าว The Momentum

การยกประเด็นเรื่องประวัติของการให้รางวัลแบบเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์แบบนี้นั้น ทำให้เราคิดได้อีกแง่หนึ่งว่ามันไม่ใช่การตีความคำว่า วรรณกรรม ขึ้นใหม่ แต่เปิดกว้างทางความหมายว่า วรรณกรรมมิได้จบเพียงแค่ในหน้ากระดาษเพียงเท่านั้น

 

กรณีนี้จะส่งผลอย่างไรกับ ‘โลกวรรณกรรม’

บางส่วนจากบทวิจารณ์ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ และผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกด ได้กล่าวถึงกรณีนี้ในหลากหลายแง่มุมและน่าคิดต่อทั้งในแง่มุมของการ ‘ทำลายกำแพงแห่งโลกวรรณกรรม ไม่จำเป็นต้องทำให้คนหันไปฟังเพลงก็ได้’ หรือการมองก้าวนี้ของรางวัลโนเบลว่าเป็น ‘การแสวงหามาตรฐานใหม่’

“เมื่อจะแสวงหา ‘มาตรฐานใหม่’ ที่ไปพ้นจาก Literary World กล่าวคือ เมื่อ Swedish Academy ทำลายพรมแดนตรงนี้ โดยเริ่มต้นที่ บ็อบ ดีแลน แล้ว มันก็น่าจะขยายการตีความใหม่ของคำว่า Literature ออกไปให้กว้างที่สุด อย่าครึ่งๆ กลางๆ โดยหาตัวเลือกใหม่ๆ ที่จะทำให้รางวัลในระดับ ออสการ์, เวนิซ, เบอร์ลิน, ซันแดนซ์ หรือปูซาน หมดท่าไปเลยดีหรือไม่ จะได้ลบพรมแดนของคำว่า Literary World ออกไปสู่พรมแดนของศิลปะในแบบอื่นๆ” บางส่วนจากความคิดเห็นของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก

 

การ Remain Silence ของดีแลน ต้องการจะสื่ออะไร

แต่ก่อนจะกระโตกกระตาก วิเคราะห์วิจารณ์อะไรกันไปมากกว่านี้ ความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลยังไม่ได้รับเสียงตอบรับจากตัว บ็อบ ดีแลน เองด้วยซ้ำว่าจะเข้ารับรางวัลหรือไม่ และนั่นก็ยิ่งทำให้รางวัลนี้น่าจับตามองว่าจะซ้ำรอยเมื่อปี 1964 ที่นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) เคยปฏิเสธรางวัลโนเบลในสาขาเดียวกันมาแล้วหรือไม่

นักวรรณกรรมชาวอังกฤษ วิลล์ เซลฟ์ (Will Self) ได้กล่าวกับ The Guardian ว่าเขาคาดหวังจะให้ดีแลนเดินตามรอยของ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ เพราะการเอาตัวเองมาข้องเกี่ยวกับรางวัลนี้ มันทำให้ความเป็นศิลปินของเขาลดน้อยลง “เช่นเดียวกับซาทร์ เมื่อครั้งที่เขาปฏิเสธรางวัล ซาทร์คือนักปรัชญาและเขาก็ฉลาดที่ทำแบบนั้น ผมแค่คาดหวังว่าดีแลนจะทำเช่นนั้นเหมือนกัน”

การ Remain Silence ของดีแลนต้องการสื่ออะไรกับ Swedish Academy และสื่อสารกับเราในฐานะเป็นผู้เสพในยุคปัจจุบัน อาจจะจริงว่าเขาเห็นด้วยกับการหวงแหนความสวยงามของวรรณกรรมงานเขียนเอาไว้ หรือจริงๆ แล้วลุงบ็อบอาจจะไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งไปกว่าแค่การไม่สบอารมณ์ที่จะตอบอะไรใครในตอนนี้ เรื่องนี้เห็นทีต้องหาคำตอบกันอีกทีในพิธีการรับรางวัล วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งทางด้านเลขาธิการของ Swedish Academy ก็ได้กล่าวต่อกับสื่อว่า เธอไม่ได้กังวลอะไรกับการที่ยังติดต่อดีแลนไม่ได้ เพราะเธอมั่นใจว่ายังไงเขาก็จะมาร่วมงานรับรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคม และต่อให้ดีแลนไม่ปรากฏตัว ก็จะยังคงมีงานเฉลิมฉลองเป็นเกียรติให้กับเขาอยู่ดี เพราะรางวัลนี้เป็นของเขา (อ้างอิงจาก The Guardian)    

แต่ไม่ว่าเราจะเห็นลุงบ็อบออกมาให้สปีชขณะรับรางวัลหรือไม่ ฮารูกิ มูราคามิ ควรไปเอาดีทางการเปิดบาร์แจ๊ซ หรือ ฟิลิป รอท (Philip Roth) ควรจะหันมาจับกีตาร์บ้างหรือเปล่านั้น น่าสนใจว่างานของ Swedish Academy จะตีความหมายของคำว่า ‘วรรณกรรม’ ให้เราฟังอย่างไรในงานประกาศรางวัลโนเบลปีถัดไป

Photo: Robert Galbraith, Reuters/profile

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
– The Guardian
– The New York Times
– BBC.com
– CNN

Tags: ,