ในช่วงปลายยุค 60 แวดวงดนตรีป็อปร็อกเกิดการพัฒนาแตกหน่อออกช่อเป็นแนวดนตรีย่อยๆ อันหลากหลาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีเครื่องดนตรีซินธิไซเซอร์ จากการประดิษฐ์ของ บ็อบ มุก (Bob Moog; 1934-2005) ที่สามารถสร้างเสียงอิเล็กทรอนิกส์อันพิสดารสุดล้ำเกินจินตนาการ
อีกด้านหนึ่งคือการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมของดนตรีนอกภาคพื้นยุโรปและอเมริกาที่เรียกกันว่า ‘ดนตรีชาติพันธุ์’ (Ethnic Music) อาทิ ดนตรีอินเดีย จีน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาหรับ และแอฟริกา อันมีสำเนียงและสุ้มเสียงจากเครื่องดนตรีหน้าตาแปลกประหลาดอันหลากหลาย
ทั้งนี้ ปรัชญาทางสุนทรียะแห่งเสียงในความหมายเชิงลึกที่สำคัญยิ่ง น่าจะมาจากสำนักดนตรีทดลอง (Experimental Music) ภายใต้การนำของ จอห์น เคจ (John Cage; 1912-1992) ที่ปฏิวัติยกระดับให้สรรพเสียงที่อื้ออึง ดังลั่น สนั่นเสนาะ จากสิ่งที่ไม่ใช่เครื่องดนตรี จากการบรรเลงของผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรี จากการสร้างสรรค์ของผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคอมโพสเซอร์หรือนักประพันธ์เพลง รวมถึงความเงียบ ให้มีคุณค่า มีความงาม เป็นสุนทรียภาพที่แตกต่าง อันส่งผลให้รูปแบบของดนตรียุคใหม่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล
หนึ่งในบรรดานักดนตรีที่สนใจแนวคิดในปรัชญาดังกล่าวคือ เบอร์นี เคราส์ (Bernie Krause) นักกีตาร์แจซซ์ชาวอเมริกัน เขาและเพื่อนสนิท-พอล บีเวอร์ (Paul Beaver; 1926-1975) ออกอัลบั้มในนาม Beaver & Krause จำนวน 4 ชุดคือ Ragnarok (1968) In a Wild Sanctuary (1970) Gandharva (1971) และ All Good Men (1972) เอกลักษณ์สำคัญของ Beaver & Krause คือการผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับฟิวชั่นแจซซ์และดนตรีชาติพันธุ์ (ต่อมาเรียกกันใหม่ว่า World Music) และด้วยความช่ำชองในการใช้เทคโนโลยีของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์นี้เอง ทำให้เคราส์เป็นตัวแทนให้กับสินค้าซินธิไซเซอร์ยี่ห้อ Moog (ของบ็อบ มุก นั่นเอง) ทั้งเคราส์และบีเวอร์จึงมีโอกาสได้แนะนำ ฝึกสอน และฝึกซ้อมเจ้าเครื่องดนตรีไฮเทคที่มีทั้งปุ่มและสายระโยงระยางเยอะแยะ ให้กับนักดนตรีชั้นนำของโลกหลายคน เช่น สมาชิกวง The Beatles (สี่เต่าทอง) และ จอร์จ มาร์ติน (George Martin; 1926-2016) โปรดิวเซอร์ของวง เป็นต้น
เคราส์เคยเล่าว่าเมื่อครั้งออกภาคสนามเพื่อบันทึกเสียงเพลงของอินเดียนเผ่า Nez Perce ในเขตอนุรักษ์ Lapwai รัฐไอดาโฮ เพื่อนำมาใช้ในผลงานชุด All Good Men แองกัส วิลสัน (Angus Wilson ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ปราชญ์ชาวบ้านประจำเผ่าบอกกับเคราส์ว่า “คนขาวอย่างคุณจะไปรู้อะไรเรื่องดนตรี” ซึ่งทำให้เคราส์รู้สึกฉงนสนเท่ห์เป็นอย่างยิ่ง และออกเดินตามวิลสันไปยัง Wallowa Lake ทะเลสาบเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐออริกอน ที่นั่นมีกอต้นกกมากมายเจริญเติบโตอยู่ริมฝั่งน้ำ ต้นที่หักจะกลายเป็นท่อกลวง แต่ละต้นมีความยาวแตกต่างกันไป เมื่อลมพัด กอต้นกกหลายสิบหลายร้อยต้นจึงบังเกิดเสียงราวกับออร์แกนโบสถ์ดังก้องกังวานไปทั่ว วิลสันตัดต้นกกขนาดลำกำลังดีมาเจาะรู แล้วก็เป่าเป็นเพลง และบอกว่า “นี่คือที่มาของดนตรีของเผ่าเรา”
เบอร์นี เคราส์ ใช้เวลาครุ่นคิดอยู่นาน กระทั่งในที่สุดจึงตระหนักถึงคุณค่าของสรรพเสียงแห่งธรรมชาติที่สัมพันธ์กับสุนทรียะแห่งเสียงดนตรี อันเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดกันมาเนิ่นนานของมวลมนุษยชาติ ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเสียงของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ยังมีเสียงของสัตว์น้อยใหญ่ที่ส่งเสียงระงมอยู่ตามป่าเขาอีกมากมาย
หลังจากการเสียชีวิตของพอล บีเวอร์ เคราส์จึงหันเหความสนใจมาบันทึกเสียงธรรมชาติและสัตว์ป่า และออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกเสียงเหล่านี้ ในยุค 80-90 เคราส์ยังคงมีผลงานดนตรีสไตล์ฟิวชั่นแจซซ์ผสมเวิลด์ มิวสิก ออกมาบ้าง แต่ผลงานซีดีหลายสิบชุดเป็นงานบันทึกเสียงธรรมชาติและสัตว์ป่า ผลงานเหล่านี้มีส่วนช่วยให้วิชาการแนวใหม่ที่เรียกว่า Soundscape อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเสียงกับการสะท้อนก้องกังวาน (acoustic) ไปกับสภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยา เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
นอกจากผลงานการบันทึกเสียงธรรมชาติและสัตว์ป่าของเคราส์จะมีส่วนสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันยังก้าวข้ามไปถึงศาสตร์ของการใช้เสียงเป็นเครื่องมือช่วยให้จิตใจสงบ ลดความเครียด และสร้างสมาธิ ที่รู้จักกันในฐานะ ‘ดนตรีบำบัด’ (Music therapy) ด้วยเช่นกัน
เคราส์วางแนวคิดในการจำแนกสรรพเสียงหรือ Soundscape ออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. Geophony (geo แปลว่าแผ่นดิน, phony แปลว่าเสียง) คือเสียงที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ อาทิ ฝนตก ฟ้าร้อง สายน้ำไหล ลมทะเล คลื่นซัดหาดทราย
2. Biophony (bio แปลว่าชีวะ, phony แปลว่าเสียง) คือเสียงที่เกิดจากสรรพสัตว์ทั้งมวล ทั้งเสียงร้อง เสียงการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ เช่น เสียงสั่นหางของงูหางกระดิ่ง เสียงปีกขยับบินของนก เสียงการบินของผึ้งหรือยุง เสียงกรีดปีกของจั๊กจั่นหรือจิ้งหรีด รวมถึงเสียงกิจกรรมต่างๆ ของสัตว์ อย่างเสียงเจาะต้นไม้ของนกหัวขวาน เป็นต้น
3. Anthrophony (anthro แปลว่ามนุษย์ วานรชั้นสูง, phony แปลว่าเสียง) เคราส์แยกเสียงที่มนุษย์ผลิต (ทั้งที่มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง) ออกมาต่างหาก อาจเป็นเพราะมนุษย์มีวัฒนธรรมการใช้เสียง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรี) ที่สลับซับซ้อน และก่อให้เกิดความงดงามทางสุนทรียภาพที่สื่อสารไปยังมนุษย์ด้วยกันเองได้อย่างดียิ่ง แต่ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็กลับสร้างเสียงอันเป็นมลภาวะต่อสัตว์โลกสายพันธุ์อื่นๆ อย่างมหาศาล (คงไม่ต้องพูดถึงการจัดคอนเสิร์ตบนเขาใหญ่ แต่ที่อันตรายกว่านั้นก็อย่างการส่งสัญญาณทางการทหารใต้น้ำ ซึ่งอาจมีผลต่อระบบประสาทการนำร่องของฝูงวาฬและโลมา)
เคราส์อธิบายว่าเสียงในแบบ Geophony นั้นมีมาก่อนการกำเนิดชีวิตบนโลกเสียอีก ภายหลังเมื่อชีวิตอุบัติขึ้นและพัฒนาเป็นสัตว์ชั้นสูงหลายหลากสายพันธุ์ เสียงในแบบ Biophony จึงถือกำเนิด สัตว์บางชนิดก็พยายามส่งเสียงเลียนแบบเสียงตามธรรมชาติแบบ Geophony ที่ได้ยิน และเมื่อมนุษย์พัฒนาสติปัญญามากขึ้น มนุษย์(ถ้ำในสมัยโบราณ)ก็ใช้ลีลาของเหล่าสรรพสัตว์ (Biophony) มาเป็นต้นกำเนิดของการเต้นรำและการร้องบรรเลงดนตรีเลียนแบบธรรมชาติ อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพเสียงแบบ Anthrophony ในกาลต่อมา
เสียงในแบบ Biophony เป็นดัชนีบ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพด้วยเช่นกัน ธรรมชาติสร้างให้แมลง นก และสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ส่งเสียงได้ในระดับเสียง (pitch) ที่แตกต่างกัน เสียงนกร้องอาจเปรียบได้กับเสียงขลุ่ยพิคโกโร่ ลีลาการวิ่งเล่นของลูกกวางก็อาจเปรียบได้กับเสียงไวโอลิน การวิ่งของฝูงไบซันหรือวิลเดอร์บีสต์ก็อาจเปรียบได้กับลีลาของกลองทิมปานีอันยิ่งใหญ่ เช่นนี้ ท้องทุ่งและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนวงออร์เคสตราที่กำลังบรรเลงดนตรีอยู่นั่นเอง
ปัจจุบัน เบอร์นี เคราส์ เป็นทั้งนักดนตรีและนักอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกัน ผลงานล่าสุดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือหนังสือและบทเพลงที่ชื่อ ‘The Great Animal Orchestra’ ที่เคราส์ร่วมงานกับริชาร์ด แบล็กฟอร์ด (Richard Blackford) คอมโพสเซอร์ชาวอังกฤษ ในการประพันธ์ซิมโพนีขึ้นใหม่ โดยมีเสียงสรรพสัตว์และวงออร์เคสตราขับขานบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามร่วมกันของทั้ง Biophony และ Anthrophony
อยากเชิญชวนให้ลองฟังสุนทรียะทางเสียงเหล่านี้ด้วยกัน ใส่หูฟังหน่อยนะครับ เพื่อจะได้ยินเสียงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประสบการณ์ทางเสียงเหล่านี้ เมื่อได้สัมผัส ก็น่าจะช่วยให้เราเห็นถึงสายใยอันแผ่วเบาและเปราะบางที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงโลกนี้ให้เต็มไปด้วยชีวิต-ชีวา
ภาพประกอบ: จารุวัฒน์ น้อมรับพร
FACT BOX:
- สนใจตัวอย่างศิลปะเสียงของ จอห์น เคจ เชิญชม ‘Water Walk’ ที่เคยออกอากาศทางโทรทัศน์เมื่อปี 1960
- ติดตามผลงานความคิดของ เบอร์นี เคราส์ ได้จาก TED Talks และผลงานหนังสือ ตลอดจนผลงานเพลงและการบันทึกเสียง soundscape ต่างๆ ได้ทาง www.wildsanctuary.com
- รับฟังซิมโฟนีผลงานร่วมประพันธ์ของเคราส์และริชาร์ด แบล็กฟอร์ด ได้ทาง www.thegreatanimalorchestra.com ส่วนบทเพลง ขอแนะนำการบรรเลงโดยวง The Raleigh Civic Orchestra
Tags: Anthrophony, The Great Animal Orchestra, Soundscape, เบอร์นี เคราส์, ดนตรีบำบัด, ดนตรีชาติพันธุ์, Ethnic Music, บ็อบ มุก, จอห์น เคจ, Bob Moog, John Cage, Experimental Music, Geophony, ดนตรีทดลอง, Biophony, Bernie Krause