สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1960 เป็นยุคที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เข้มข้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง แต่แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ได้มาง่ายๆ ช่วงนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นตามที่ต่างๆ มีกิจกรรมการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการจลาจลและการนองเลือดทุกหัวระแหง

แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะนิ่งดูดาย ยุคนั้นเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ยังอยู่ในตำแหน่ง เขาพยายามเสนอร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมือง แต่ก็ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะด้วยเพราะเหตุผลทางการเมือง หรือเพราะความตายเดินทางมาถึง

มาถึงยุคของประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน การผลักดันข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาทางเชื้อชาติค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ที่สุดแล้วในปี ค.ศ. 1968 รัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองก็เกิดขึ้นจริง

ถึงอย่างนั้น การแบ่งแยกสีผิวก็ไม่ได้จบลงในทันที เรายังคงเห็นมันอยู่เนืองๆ แม้ว่าตอนนี้โลกจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม อคติด้านเชื้อชาติเป็นปัญหาที่เกิดอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง และเราก็ได้แต่หวังว่าความเสมอภาคจะเป็นสิ่งที่ทุกคนตระหนักถึงอย่างจริงจัง

ภาพยนตร์เหล่านี้อาจเผยให้เห็นทั้งด้านดีงามและด้านเลวร้ายของมนุษย์ และถึงเรื่องราวในภาพยนตร์เศร้าเพียงใด มันล้วนมีเชื้อเพลิงมาจากความจริง

12 Years a Slave (2013)

ภาพยนตร์ 12 Years A Slave สร้างมาจากหนังสือในชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของโซโลมอน นอร์ธัป หยิบมากำกับโดยสตีฟ แม็กควีน ผู้กำกับที่หลายคนจดจำชื่อของเขาได้จาก Shame (2011)

ในช่วงที่เข้าฉาย ภาพยนตร์ได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกอย่างล้นหลาม ด้วยทุนสร้างเพียง 22 ล้านเหรียญ แต่ทำรายได้ไปกว่า 159 ล้านเหรียญ และคว้ารางวัลออสการ์มาครองสามรางวัล

ต้นฉบับนั้นแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1853 โซโลมอนเล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ยาวนานถึง 12 ปี ในตอนที่หนังสือถูกตีพิมพ์ออกมา มันขายได้ถึง 30,000 เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก หลังจากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19 หนังสือก็ได้รับการตีพิมพ์อีกหลายครั้ง แต่ต่อมาหนังสือก็หายไปจากสายตาสาธารณชนเกือบร้อยปี จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ชาวรัฐลุยเซียนาสองคนไปพบเข้า

ในปี ค.ศ. 1841 โซโลมอน นอร์ธัป เสรีชนชาวแอฟริกันอเมริกัน ทำงานเป็นช่างไม้และนักไวโอลินมีฝีมือ อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกๆ ในนิวยอร์ก ชีวิตเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งมีคนมาเสนองานให้เขาไปเล่นดนตรีนานสองสัปดาห์ โซโลมอนตอบตกลงโดยไม่คาดคิดว่าตนจะถูกล่ามโซ่แล้วนำไปขายเป็นทาส แต่กว่าจะถึงตอนนั้นมันก็สายเกินไปแล้ว

โซโลมอนระหกระเหินไปไกลถึงนิวออร์ลีน พร้อมกับชื่อใหม่ในนาม ‘แพลท’ เขากลายเป็นทาสอย่างเต็มตัว ถูกขายเป็นทอดๆ ต้องทำงานหนัก โดนทำร้ายและถูกลงโทษจนกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อพยายามจะปลดปล่อยตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยทางไหนก็ดูจะไม่มีความหวังเลย โซโลมอนพยายามอย่างมากที่จะมีชีวิตอยู่และเป็นอิสระให้ได้ในวันใดวันหนึ่ง และนั่นกินเวลาถึง 12 ปี กว่าเขาจะได้พบหน้าครอบครัวและลูกๆ อีกครั้ง

ความโหดร้ายกระหน่ำซ้ำเติมคนดูอยู่ตลอดเวลา บางฉากก็น่าเจ็บปวดตาม เราแทบจะรู้สึกได้ถึงแส้ที่ฟาดลงกลางหลัง ผู้ชมถูกตรึงให้อยู่ในสถานะคนดูเท่านั้น แล้วสตีฟ แม็กควีน ก็เฆี่ยนตีเราด้วยภาพทัณฑ์ทรมานที่มนุษย์เรากระทำต่อกันเอง และทั้งหมดนั้นคือเรื่องจริง

The Butler (2013)

The Butler ผลงานการกำกับของลี แดเนียลส์ ผู้กำกับจากภาพยนตร์สองรางวัลออสการ์ Precious (2009) ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทความของวอชิงตันโพสต์ ที่ชื่อ ‘A Butler Well Served By This Election’ อ้างอิงชีวิตจริงของยูจีน แอลเลน ที่ทำงานในทำเนียบขาวมาหลายทศวรรษ มีโอกาสรับใช้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาถึง 8 สมัย

ในปี 1926 เซซีล เกนส์ วัย 7 ขวบยังคงอยู่ในไร่ฝ้ายใต้ร่มเงาของพ่อแม่ แต่ต่อมาเซซีลก็ต้องเสียพ่อและแม่ไป ภายใต้ความเลวร้ายของมนุษย์และลูกปืน เด็กน้อยอย่างเขาจึงไปอยู่ภายใต้ความดูแลของหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งฝึกให้เขากลายเป็นคนรับใช้ในบ้าน จน 11 ปีต่อมา เซซีลตัดสินใจออกจากบ้านหลังนั้น เขาระหกระเหินจนมาเจอกับเมย์นาร์ด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพ่อบ้านอย่างเต็มตัว

เมย์นาร์ดทำให้เซซีลได้เรียนรู้การบริการและทักษะอื่นๆ ที่จำเป็น รวมถึงเป็นคนแนะนำเซซีลสำหรับตำแหน่งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อมาถึงปี 1957 เซซีลก็ได้รับการว่าจ้างจากทำเนียบขาว เพื่อให้ดูแลความเรียบร้อยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

การเข้าไปอยู่ในทำเนียบขาวทำให้เซซีลเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายทางการเมืองและประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะการแบ่งแยกสีผิวที่ยังคุกรุ่น สงครามเวียดนาม การรณรงค์เรียกร้องสิทธิพลเมือง การลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิงก์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ และ โรเบิร์ต เคนเนดี้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นผลกระทบภายนอกเท่านั้น แต่การใช้ชีวิตในนี้ของเซซีลยังกระทบไปถึงเรื่องส่วนตัว หน้าที่การงาน และการเป็นคนผิวสีของเขา ถึงกระนั้นเขาก็ยังเต็มที่กับบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แม้จะอยู่ในจุดเล็กๆ ก็ตาม

การดูภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเหมือนการศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ไปด้วย ว่าในช่วงหลายทศวรรษนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่จุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ตระกูลเกนส์ เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัว รวมถึงสภาพแวดล้อมของเขา

ภายใต้สังคมที่บีบบังคับให้เซซีลต้องจมอยู่กับอะไรบางอย่าง มันผลักดันเขาให้ไปในทิศทางใด และมีผลต่อคนรอบข้างอย่างไร ต้องไปติดตามกัน

Selma (2014)

Selma ภาพยนตร์ฝีมือผู้กำกับหญิงเอวา ดูเวอร์เนย์ ที่เมื่อปีที่ผ่านมา เธอกลายเป็นผู้กำกับหญิงผิวสีคนแรกที่ภาพยนตร์ทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญจากการกำกับ A Wrinkle in Time

ก่อนหน้าที่เอวาจะมากำกับ Selma นั้น เธอแทบจะไม่เคยผ่านการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มาก่อนเลย อีกทั้งก่อนหน้านั้น เดิมภาพยนตร์เรื่องนี้เคยวางตัวผู้กำกับเป็น แดเนียลส์ (ผู้กำกับภาพยนตร์ The Butler (2013)) อีกด้วย แต่สุดท้ายมันก็ตกมาถึงมือเธอ

เมื่อเอ่ยถึงนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผิวสี ชื่อแรกที่จะปรากฏขึ้นมาก็คงเป็น มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ที่มีบทบาทและความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย ทั้งยังมีสุนทรพจน์อันเป็นที่จดจำในชื่อ “ข้าพเจ้ามีความฝัน” (I Have a Dream) เขาเชื่อมั่นและคาดหวังเหลือเกินว่าวันหนึ่งอเมริกาจะปราศจากความลำเอียงและอคติต่อคนผิวดำ

เหตุการณ์เซลม่าเป็นหนึ่งในการรณรงค์เรียกร้องสิทธิซึ่งนำโดยมาร์ติน ลูเทอร์ คิง มันเป็นการรวมตัวของคนผิวสีเพื่อเรียกร้องให้พวกเขาได้ออกเสียงเลือกตั้ง เส้นทางการเดินเท้าเริ่มต้นที่เมืองเซลม่า ไปยังเมืองมอนต์กอเมอรี รัฐแอละแบมา และก็นำไปสู่เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด

จากการประท้วงอย่างสงบของคน 600 คน พวกเขาถูกตำรวจท้องที่ใช้กำลังและแก๊สน้ำตาเข้าปราบปรามอย่างหนัก จนหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส สิทธิเสรีภาพนั้นแลกมาด้วยการสูญเสียเสมอ คิงเองก็ตระหนักถึงข้อนี้ แต่ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ลูกหลานของเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร นั่นต่างหากที่สำคัญ

ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ นักแสดงได้ไปปักหลักถ่ายทำที่สถานที่จริง และในฉากเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ เอวาให้ชาวเมืองมาร่วมแสดงด้วย เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียและความสมจริง นอกจากสะท้อนภาพของประวัติศาสตร์แล้ว ภาพยนตร์ยังครบถ้วนไปด้วยเรื่องความเป็นมนุษย์ สะท้อนความคิดความรู้สึกของคนรอบข้าง รวมถึงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำของคิงด้วย

Hidden Figures (2016)

Hidden Figures ดัดแปลงมาจากนวนิยายที่อ้างอิงมาจากเรื่องจริงในชื่อเดียวกัน ซึ่งเขียนโดยมาร์โกต์ ลี เช็ตเทอร์ลีย์ และกำกับโดยธีโอดอร์ เมลฟี ผู้สร้างชื่อมาจาก St. Vincent (2014) ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงหลายรางวัล และคว้ารางวัลมาจากหลายเวที ทำรายได้ไป 236 ล้านเหรียญ ด้วยทุนสร้าง 25 ล้านเหรียญ

ภาพยนตร์พาเราย้อนไปในยุค 60s ผู้หญิงผิวสีสามคน ได้แก่ แคทเธอรีน โดโรธี และแมรี ทั้งหมดได้เข้าทำงานให้กับองค์กรนาซา ในยุคที่เรื่องเพศและผิวสีกำลังเข้มข้นที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ แคทเธอรีน นักคณิตศาสตร์ผู้เก่งกาจ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ โดโรธี หัวหน้าทีมคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้เลื่อนขั้นสักที แมรี ผู้อยากเป็นวิศวกร แต่กฎระเบียบของนาซาไม่เป็นใจ ทั้งหมดตกอยู่ในฐานะที่ไม่ค่อยถูกเห็นค่านักในสถานที่ทำงาน และสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างก็ไม่อำนวยต่อการใช้ชีวิต เช่นเรื่องเล็กๆ น้อยอย่างห้องน้ำ ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการศึกษา

แต่ความพยายามย่อมเห็นผลในสักวัน พวกเธอทั้งสามคน รวมถึงคนอื่นๆ ต่างตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดกำลัง จนเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้หญิงก็ทำงานได้ และผู้หญิงผิวสีก็คือคนที่มีความสามารถเช่นกัน ทุกคนทำงานหนักเพื่อองค์กร และองค์กรก็ควรจะเล็งเห็นถึงความสำคัญนั้น เราควรมองกันที่ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ที่สีผิวหรือชาติพันธุ์ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

แม้ว่าจะเล่าในประเด็นหนักๆ เรื่องสิทธิสตรีและการแบ่งแยกสีผิว แต่ Hidden Figures ทำออกมาได้อย่างอารมณ์ดีมากๆ แทบไม่มีส่วนไหนที่ตึงเครียดจนหน้านิ่วคิ้วขมวด แต่มากด้วยรอยยิ้ม นักแสดงทุกคนมีเคมีที่เข้ากัน ช่วยสร้างสีสันในแต่ละพาร์ตของตัวเองได้อย่างลงตัว และมันก็น่าปลื้มปิติที่ได้เห็นว่าความพยายามของพวกเธอไม่สูญเปล่า แม้ว่ามันจะสิ้นหวังจนน่าล้มเลิก แต่ถ้าเราไม่สู้วันนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะสู้วันไหนแล้ว

Mudbound (2017)

Mudbound ผลงานจากฝีมือผู้กำกับหญิงผิวสี ดี รีส ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของฮิลลารี จอร์แดน ผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ดีเยี่ยมจากเทศกาลซันแดนซ์ และได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมากสำหรับบทภาพยนตร์ รวมถึงฝีมือการแสดงด้วย

ภาพยนตร์พาผู้ชมย้อนกลับไปสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บอกเล่าเรื่องราวผ่านสองครอบครัวหลัก

หนึ่งคือครอบครัวคนผิวขาว เฮนรี อดีตวิศวกร ผู้ย้ายครอบครัวมาอาศัยที่รัฐมิสซิสซิปปี แม้ว่าภรรยาของเขาจะไม่เห็นด้วยสักเท่าไรก็ตาม

และสอง คือครอบครัวคนผิวสี แฮป ผู้เช่าที่ดินของเฮนรีทำมาหากิน และหวังว่าสักวันตนจะมีผืนดินเป็นของตัวเอง

ไม่นานหลังจากเฮนรีย้ายมาบ้านหลังใหม่อันซอมซ่อ รอนเซล น้องชายของเขาก็กลับมา และทางฝั่งแฮป เจมี ลูกชายคนโตก็กลับมาเช่นกัน ทั้งสองคือคนที่ไปรบในสงคราม ผลกระทบจากสงครามทำให้พวกเขาหวาดผวา รอนเซลจึงกลายเป็นเพื่อนกับเจมี ทั้งสองเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน รวมทั้งบาดแผลที่เสียงปืนและระเบิดได้ทิ้งเอาไว้

รอนเซลไม่ได้มีท่าทีเหยียดผิวเหมือนกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน แต่การเป็นวีรบุรุษสงครามไม่ได้ช่วยอะไร เมื่อกลับมายังถิ่นฐาน เจมีก็ยังเป็นคนผิวสีที่โดนเหยียมหยามอยู่ดี การที่รอนเซลคบกับเขา แทนที่จะเป็นเรื่องดี มันกลับนำมาซึ่งเรื่องโหดร้ายและป่าเถื่อนที่สุด มันน่าอดสูไม่ต่างจากการกระทำในสงคราม หรือมนุษย์เกิดมาเพื่อเข่นฆ่ากันเอง

Mudbound จึงเป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด ทั้งการเหยียดสีผิว บาดแผลจากสงคราม ความเหนื่อยยากของชาวไร่ และการต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร การแสดงของนักแสดงแต่ละคนยิ่งผลักดันให้ภาพยนตร์ร้าวรานไปจนถึงขีดสุด ภาพความโหดร้ายและบทสรุปอันแสนขมขื่นจะย่ำยีหัวใจคนดูอย่างไม่ยั้งมือ ถึงที่สุดแล้วใครบางคนอาจต้องร้องไห้ออกมา

Tags: , , , ,