(คำเตือน: เนื้อหาไม่เหมาะสำหรับผู้มีภูมิคุ้มกันทาง non-pc ต่ำ)

หลายๆ คนที่ได้ฟังเพลง ‘ประเทศกูมี’ หรือ Rap Against Dictatorship อาจเริ่มมีความสนใจแนวเพลงแร็ป/ฮิปฮอปมากขึ้นแบบเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องสารภาพก่อนว่าตัวเองก็ไม่ค่อยได้ฟังเพลงมากแนวนี้เท่าไร (อัลบั้มสุดท้ายที่ซื้อก็ไทเทเนี่ยม “Thailand Most Wanted” เกินสิบปีที่แล้วโน้น) เอาจริงๆ ช่วงปีที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นกระแสเพลงแนวนี้ที่เพิ่มขึ้นในไทยซึ่งส่วนหนึ่งก็จากรายการ RAP IS NOW อย่างไรก็ดี พอลองมาข้อมูลดูแล้วแอบรู้สึกว่า ถึงแม้วงการเพลงแร็ปบ้านเราจะมีกลุ่มศิลปินและผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก (ทั้งใต้ดินและบนดิน) แต่เราก็ยังไม่ค่อยได้เห็น (ฟัง) เพลงแร็ปจากเสียงและมุมมองของศิลปิน LGBTQ+ เสียเท่าไร

ต้องแจกแจงก่อนว่า ทำไมประเด็นนี้ถึงสำคัญ? เนื่องจากวัฒนธรรมการแร็ปถือกำเนิดจากการปะทุของความกดดันในสังคมคนดำ การพ่นคำทำเพลงในลักษณะนี้จึงถูกนำมาต่อยอด ใช้เป็นเครื่องมือการปลดปล่อยทางความคิดและอารมณ์ของกลุ่มคนผู้อยู่ใต้การกดขี่ในหลายรูปแบบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรายอมรับความ ‘หยาบคาย’ ของเนื้อเพลงแร็ป รวมไปถึงความกระโชกกระชั้นของ MC หลายๆ คน

ความรุนแรงในเพลงแร็ปถูกให้คุณค่าเสียด้วยซ้ำ เพราะเราถือว่ามันคือ ‘ความจริง’ ที่ถูกกลั่นและสื่อออกมาในฐานะสารสำคัญ ส่วนมากเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถพูดได้ในบริบทอื่นๆ แต่บนบีทเหล่านี้มันคือศิลปะ มันคือการปลดปล่อยอย่างสร้างสรรค์ และในเมื่อการมีอยู่ของแร็ปคือการขบถต่อรูปแบบของขั้วอำนาจ ดังนั้นมันจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นแร็ปเปอร์ที่ดูเหมือนคนชายขอบของสังคม อาทิ ชายหนุ่มที่ผอมแห้ง ตาขวาง ใส่เสื้อผ้าหลวมโคร่ง ไม่ตรงตามเครื่องแบบในอุดมคติของมนุษย์เพศชายสักอย่าง หรือ ผู้หญิงที่ดูห้าว ไม่เรียบร้อย หรือแสดงออกทางเพศสูงกว่าที่กุลสตรีจะพึงทำแต่พองาม ฯลฯ

แต่ที่แปลกคือ แล้วเหล่า LGBTQ+ ล่ะ? พวกเขาไม่ออกมาแร็ปเพื่อเป็นขบถต่อค่านิยมทางเพศของพวกเขาบ้างหรือ?

จะว่าไปการมีเพศสภาพที่หลากหลายก็ถือเป็นการฉีกกรอบค่านิยมไปแล้วระดับหนึ่ง แต่การที่วงการไม่ค่อยได้เห็น เกย์ กะเทย ทอม เลสเบี้ยน ฯลฯ ออกมาแร็ปความเก็บกดในใจ มันแปลว่า [ก.] พวกเราไม่มีความเก็บกด? [ข.] พวกเราไม่ชอบความหยาบคาย? (ตรรกะนี้ตกรอบไปในวงสนทนากะเทยบางกลุ่ม) [ค.] รสนิยมทางเพลงของเราถูกจำกัดไว้แค่กระแสนิยม? [ง.] พวกเราไม่อยากดูเป็นคนชายขอบไปมากกว่าที่เราเป็นอยู่แล้ว? [จ.] ถูกทุกข้อ

ระหว่างพิจารณาหาคำตอบ ขอถือโอกาสชวนไปเปิดหูเปิดใจ ฟังเพลงแร็ปของศิลปิน LGBTQ+ จากทั่วหล้ากันดีกว่า

Mykki Blanco

ภาพจาก http://www.geracao666.com/2017/02/mykki-blanco.html

คนแรกในลิตส์นี้เป็นผู้ที่ออกมานิยาม “queer rap” เป็นเรื่องเป็นราว นั่นคือ Mykki Blanco นั่นเอง  โดย Mykki (หรือชื่อจริง Michael David Quattlebaum Jr.) เป็นศิลปินเควียร์ผิวสีที่หนีออกจากบ้านเกิดที่แคลิฟอร์เนียมาเป็นตัวของตัวเองที่นิวยอร์ก และออกมาเปิดเผยสถานะ HIV positive ของตัวเองในปี 2015

“ฉันนึกว่าการที่ออกมาพูดความจริงจะเป็นการพังโอกาสในฐานะศิลปินของฉัน” แต่เขาคิดผิด เพราะหลังจากที่ออกมาเปิดตัว Mykki ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก ขนาดที่เขาได้ออกทัวร์กับ Bjork และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ อย่าง Flea และ Grimes เป็นต้น หลายๆ คนอาจเคยเห็น MV เพลงดังของเขาอย่าง Wavvy หรือ Haze.Boogie.Life แต่เราอยากนำเสนอ MV เพลง Hideaway ที่ถูกปล่อยออกมาในวันที่ 10 เมษายน 2017 ซึ่งตรงกับวัน HIV/AIDS Awareness Day

ในเนื้อเพลงนั้นเล่าเรื่องคู่รัก คนหนึ่งมีเลือดลบ และคนหนึ่งมีเลือกบวก เป็นเพลงที่เอาเนื้อเรื่องคลาสสิคของฮิปฮอปที่มักว่าด้วยการซื้อยาเสพติด โยงไปถึงความสัมพันธ์ที่ต้องหวาดระแวง มาเล่าใหม่ด้วยเสียงของแร็ปเปอร์เควียร์ที่จิกหัวด่าได้ทั้งชายหญิง ในขณะเดียวกันก็มีความเจ็บปวดของความลับที่เขาเคยต้องแบกไว้ อย่างที่เขากล่าวไว้ในตอนเปิด MV ว่า

“ในฐานะคนที่มีชีวิตอยู่กับโรคนี้มาห้าปีแล้ว ฉันเข้าใจดีถึงความกลัวที่จะถูกตัดสิน อีกทั้งความอับอาย และผลของความรู้สึกเหล่านี้ที่มีต่อตัวตนและชีวิต…ความรัก, ความสุข, และความเมตตา มันคือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีตั้งแต่เกิด สามสิบเจ็ดล้านคนที่มีเชื้อ HIV ก็ต้องการมันเฉกเช่นกับคนอื่นๆ ทุกคน”

 

Brooke Candy

ภาพจาก https://www.timeout.com/london/music/whats-the-deal-with-brooke-candy

พูดถึง Mykki แล้วก็ต้องต่อด้วยคนนี้ เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสาว Brooke Candy พึ่งปล่อยเพลง My Sex ที่ไปชักชวนไอคอนอีกสองคนคือ Mykki และศิลปินเฟมินิตส์สุดขบถ Pussy Riot มาร่วมแจมด้วย ผลิผลออกเป็นเพลงเปรี้ยวติดหู มาพร้อมกับเนื้อเพลงสุดจี๊ด พูดถึงเครื่องเพศที่เขานิยามของเขาเอง ไม่ตกอยู่ในอาณัติของใคร

My sex rules
My sex got that big dick
My sex gonna fuck with no shame
My sex is my queerness
My sex has no gender
My sex is not your sex
Not the church, not the state
My own faith”

แน่นอนว่าเธอไม่ใช่ศิลปินใหม่ เรารู้จัก Brooke Candy มาตั้งแต่ตอนที่เธอไปโผล่หน้าใน MV เพลง Genesis ของ Grimes ด้วยลุคที่จัดจ้าน อีกทั้งแนวเพลงชัดเจน ทำให้หลังจากนั้นชีก็ดังเป็นพลุแตกกับเพลง Opulence และยังคงผลิตเพลงสไตล์ Club Dance ออกมาเอาใจแฟนๆ อย่างต่อเนื่อง อย่าง Living Out Loud (feat. Sia), War, Volcano แถมยังคงไปปรากฏตัวใน MV เพื่อนสาวอย่าง Charlie XCX อยู่เรื่อยๆ

 


Young M.A

ภาพจาก https://www.thefader.com/2017/02/07/young-ma-cover-story-interview

“ฉันไม่เคยแบ่งแยกมันหรอกนะ แบบว่า ฉันเป็นเกย์แร็ปเปอร์ แล้วคนอื่นเป็นแร็ปเปอร์ธรรมดา ฉันแค่รู้สึกว่า เฮ้ นี่มันก็คือดนตรี ดนตรีนี่ก็คือฉัน แค่นั้นเอง”

แร็ปเปอร์ดาวรุ่งจากบรู๊คลินคนนี้มีเพลง OOOUUU ซิงเกิ้ล triple-platinum ติดอันดับ top 20 ของชาร์ตบิลบอร์ด HOT100 ประจำปี 2017 แต่นอกจากเพลงติดหูของเธอแล้ว Young M.A (ชื่อจริง Katorah Marrero) ยังถือเป็นกระบอกเสียงของชาวเลสเบี้ยนที่น่าสนใจมาก จากเมื่อปี 2012 สมัยเธอเคยทำชาแนลในยูทูบภายใต้ชื่อ Kat Kasanova เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์แบบหญิงหญิง มาจนถึงปัจจุบันที่เธอก็ยังคงให้สัมภาษณ์ออกสื่อและทำเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของเลสเบี้ยน โดยเธอบอกว่าเธอรู้ตัวตั้งแต่ 9 ขวบว่าตัวเองชอบผู้หญิง แต่ก็ต้องหลบซ่อนมาตลอด จนในที่สุดก็มีเพลงแร็ปที่แหละที่เป็นช่องทางปลดปล่อยให้กับเธอ

เพลงของเธอมีหลายอารมณ์ตั้งแต่ละมุนละไม อย่างใน Girlfriend (อัลบั้ม M.A The Mixtape) ที่มีท่อนแร็ปสุดเสียว

I wanna take her out for a weekend
An island with some beaches where nobody else can see us
I’mma lay her down and eat it, them legs, I’m in between it
I taste the pussy leakin’, that’s how I know she need it

 

ไปจนถึงอารมณ์ที่ดุดัน ชูนิ้วกลางให้สังคมที่มองเธออย่างผิดๆ ในเพลง “Kween”

They talk about me like they past perfect
Like they present pretty, like they future flawless
Like this world ain’t got drug addicts and alcoholics
Rapists, robbers, dealers, murder, extortion
Like me being gay is so fucking important

Taylor Bennett

ภาพจาก https://taylorbennett.co/

Taylor เป็นน้องชายของศิลปินฮิปฮอปชื่อดัง Chance the Rapper แต่ศิลปินหนุ่มน้อยจากชิคาโกคนนี้มีสไตล์ที่แตกต่างจากพี่เขาไม่น้อย โดย Taylo rพึ่งออกมาเปิดตัวผ่านทางทวิตเตอร์ว่าตัวเองเป็นไบ-เซ็กชวล หนึ่งวันก่อนวันเกิดปีที่ 21 ของเขา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และ EP ใหม่ล่าสุดของเขาที่ชื่อว่า Be Yourself ก็พูดถึงเรื่องการรักตัวเองในแบบที่เราเป็น ไม่ว่าจะมาจากชนชั้น เชื้อชาติ หรือเพศสภาพไหนก็ตาม

เขาเล่าว่า 6 เพลงใน EP นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากก้าวเท้าเข้ามาในวงของชาว LGBTQ+ ที่เปิดรับเขาเพียงแค่ในปีที่ผ่านมา เขาเขียนหลายๆ เพลงขึ้นสำหรับแฟนเพลงที่อาจจะกำลังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เขาเคยเจอมาก่อน เช่นการถูกคุกคาม หรือโดนด่าล้อ เพียงเพราะตัวเองแตกต่าง ดูเหมือนว่า Taylor จะเป็นอีกศิลปินที่ได้ดีหลังจากเปิดตัว เพราะนอกจากอัลบั้มเก่าของเขา (Broad Shoulders และ Restoration of an American Idol) จะถูกหยิบกลับขึ้นมาฟังอีก อัลบั้มใหม่ก็เขาก็ได้รับความสนใจจากสื่อใหญ่อย่าง The Rolling Stones และได้ไปเดินสายออกรายการทีวีต่างๆ มากมาย

My debt is repaid and then blast that shit, I ain’t cappin’ or Catholic
I’m an outstanding Afro-American bisexual havin’ shit”

นี่คือคำพูดในเพลง Be Yourself (ft. Bianca Shaw) ของ Taylor ที่ถูกกล่าวออกมาอย่างภาคภูมิ ใครชอบแร็ปบนซาวด์ที่ไม่หนักมาก ฟังง่าย ได้สาระ เราขอแนะนำเพลงนี้

Big Freedia

พูดถึงคนนี้แล้วก็ยังรู้สึกแค้นแทนไม่หาย เนื่องจากว่า Big Freedia เป็น ‘ตัวแม่’ (Queen Diva) ผู้ริเริ่มแนวเพลงจังหวะชวนเด้งที่เรียกว่า ‘New Orleans Bounce music’ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาถูกนำกลับเข้าสู่กระแสหลักด้วยเพลงดังอย่าง Lemon ของ N.E.R.D.กับ Rihanna หรือเพลง Nice For What และ Formation ของ Beyonce แต่ตัว Big Freedia (ชื่อจริง Freddie Ross) เองนั้นไม่เคยได้รับความดีความชอบอะไรเลย

เธอผลิตงานเพลงสไตล์นี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่เพลงฮิต Gin N My System เมื่อปี 1999 จนมาถึง EP ใหม่ชื่อ and 3rd Ward Bounce ที่เพิ่งออกเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเธอเป็นเกย์แต่งหญิง ทำให้ผู้คนพยายามอย่างมากที่จะมองไม่เห็นเธอ สังเกตได้จากมิวสิคเพลง Nice For What ของ Drake ที่มีดาราแขกรับเชิญไปโผล่หน้ามากมาย แต่พอมาถึงท่อนของ Big Freedia ภาพบนจอกลับเป็นผู้หญิงผิวขาวผมบลอนด์มาลิปซิงค์คำแร็ปของเธอแทน!. ใครอยากดูหน้าเธอชัดๆ เราของแนะนำ MV เพลง Rent ของเธอรัวๆ บอกเลยว่าเพลงนี้ฟังแล้วจะต้องมีคนกระดกก้นเต้นตามไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว

CAZWELL

ภาพจาก https://www.out.com/entertainment/music/2012/05/08/cazwell-amanda-lepore-peaches-videos-unzip-me-doin-it-my-way

อีกหนึ่งแบดบอยของวงการแร็ปเกย์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ Luke Cazwell หรือ Cazwell ถือเป็นชื่อคุ้นหูของซีนคลับในนิวยอร์กมานานกว่า 10 ปี เขาเป็นที่จดจำของแฟนเพลงด้วยภาพลักษณ์สุดแซ่บและการแร็ปเกี่ยวกับเซ็กส์อย่างอล่างฉ่าง นอกจากนี้ในแต่ละมิวสิควิดีโอของเขาก็มักจะมีเหล่าหนุ่มๆ นุ่งน้อยห่มเนื้อออกมาให้เช็ดน้ำหมากกันล้นจอ

เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2006 กับเพลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเขาที่มีชื่อว่า Is It All Over My Face ซึ่งถูกแบนจากช่องทีวีหลายๆ ช่องเนื่องจากเนื้อหาที่ว่าด้วยการหลั่งบนหน้าคู่นอนอย่างประเจิดประเจ้อ แต่กลับกลายเป็นเพลงฮิตติดใจชาวเกย์ไปอย่างโดยปริยาย หลังจากนั้นเขาได้รับเชิญไปแสดงบนเวทีของเทศกาล Pride ทั่วโลก และยังได้ร่วมงานกับศิลปินอย่าง Amanda Lepore, Peaches, Peppermint,  Avenue D, Manila Luzon ฯลฯ และออกอัลบั้มรวมเพลงฮิตมา 3 อัลบั้มด้วยกัน คือ Get Into It, Watch My Mouth และ Hard 2 B Fresh ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความ ยียวน ชวนยิ้ม อย่างคงเส้นคงวา เช่นในเนื้อเพลง Cake ของเขา

“You got cakes
I got icing
Flipped over let me see that nice thing
I got icing
Yeah i got icing
I’ma put a candle in it blower out nicely”

หลังๆ มานี้นอกจากจะแร็ปแล้ว Cazwell ยังเป็น DJ, หันมาออกแบบกางเกงใน, เป็นนักรณรงค์ให้กับกลุ่มคนข้ามเพศ และเป็นกระบอกเสียงให้พรรคเดโมแครต เรียกร้องให้คนฟังของเขาออกมาเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ดีไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบความโจ๋งครึ่มของเขา  ก็ต้องยอมรับว่า Cazwell คืออีกหนึ่งเสียงที่ช่วยตะโกนบอกสังคมให้รับรู้ถึงเพศสภาพของชายรักชาย ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนกันอีกต่อไป

Silvana Imam

ภาพจาก https://cphdox.dk/en/programme/film/?id=642

เราไปฝั่งยุโรปกันบ้างกับแร็ปเปอร์เลสเบี้ยนสาวคนนี้ ที่แร็ปด่ารัฐบาลและกระแสอนุรักษ์นิยมของสวีเดนอย่างเจ็บแสบในเพลง “Imam Cobain” จาก EP När Du Ser Mig • Se Dig  “You say my love is breaking the law/I say you have super thin dick/Go kiss your fucking swastika” แถมในเพลงเดียวกันยังมีการอ้างอิงบททฤษฏีว่าด้วยเพศสภาพของ Judith Butler ด้วย นักเพศวิทยาชื่อใส่ไว้ด้วยว่า “gender is a kind of imitation for which there is no original”

Silvana Imam อายุ 32 ปี แม่ของเธอเป็นชาวลิทัวเนีย ส่วนพ่อก็มีเชื้อซีเรีย เราอาจพูดได้ว่า Silvana เริ่มได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงจากความเป็นคนชายขอบของครอบครัวเธอ บวกกับเพศสภาพของเธอ อีกทั้งความเชื่อในประชาธิปไตยที่สวนกระแสหลักฝั่งขวาในประเทศ ทำให้เพลงของเธอออกมามีความเข้มข้นไม่ใช่น้อย  

นอกจากนี้เธอเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มเฟมินิตส์แร็ปเปอร์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับพรรคการเมืองเพื่อสตรี Feministik Initiativ (FI) ซึ่งตัวเธอเองก็ไปปรากฏบนเวทีเพื่อช่วยพรรคนี้หาเสียงหลายครั้งด้วย แต่เมื่อถูกถามว่าเพลงของเธอเป็นศิลปะทางการเมืองหรือไม่? เธอกลับตอบปัดไปว่า “ฉันเขียนเพลงเกี่ยวกับชีวิตของฉัน…ฉันพยายามถ่ายทอดให้คนเห็นว่าโลกมันเฮงซวยขนาดไหนผ่านศิลปะของฉัน มันเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดของฉันในสังคมปิตาธิปไตยและโลกที่ปฏิเสธประชาธิปไตย คำถามมันไม่ควรจะเกี่ยวว่าเพลงของฉันเป็นการเมืองไหม แต่มันควรจะถามว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงหวั่นผวาเมื่อผู้หญิงเขียนเพลงรักถึงผู้หญิง?”

ในจำนวนเพลงที่เธอทำออกมามากมาย เราขอยก MV เพลง Helt Fucked (ft. Michel Dida) ไว้เป็นหนึ่งในงานชิ้นโบว์แดง เพราะนอกจากซาวด์ฮิปฮอปที่ไปได้ดีกับการแร็ปของเธอแล้ว วิดีโอนี้ยังพาเราไปดูด้านมืดของคลับในสวีเดนผ่านสายตาของเธออย่างน่าสนใจ (แถมมี sub title คำแปลภาษาอังกฤษให้อ่านตามด้วยจ้า)

Zymone Sillapin Gill

สุดท้าย วกกลับมาที่บ้านเรา กับลูกสาวคนสวยของ ‘เต้ย ไฮร็อค’ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในชื่อ ‘ซีโมน ศิลปิณฑ์’ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะคุ้นตาจากการไปประกวดรายการ The Voice season 5 (ทีมโจอี้) แต่เสียดายที่ในรายการเธออาจจะยังไม่ได้เฉิดฉายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทักษะทางการแร็ปของเธอที่บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา เธอเคยไปโผล่ในคลิปซีรีย์ Minus- ของ Rap Is Now ว่าด้วยการเถียงกลับของกลุ่มคนที่ถูกมองแคลน โดยซีโมนได้ไปแร็ปใส่ไฟในฐานะตัวแทน ‘กะเทย’ ที่มักจะโดนผู้ชายดูถูกหรือขยะแขยง ว่าเอาจริงๆ ใครกันแน่ที่ควรจะถูกรังเกียจ ซึ่งคลิปนี้ก็กลายเป็นไวรัลไปเรียบร้อย ล่าสุดเราแอบเห็นเธอจับไมค์ไว้ลายแร็ปอีกครั้งในงานปาร์ตี้ Trasher ก่อนที่จะกลับบ้านและค้นพบว่า เธอพึ่งปล่อยซิงเกิ้ลเพลง Welcome to my world ออกมาให้แฟนๆ ได้ติดตามกันทางยูทูบแล้วด้วย ว่าแล้วก็ขอคัดลอกเนื้อเพลงบางส่วนมาเรียกน้ำย่อยกันตรงนี้เลย

“Queen B asked Who Run The World?
Yes we said ‘Girl’

But they call me ‘Ka-toey’

So can I run the world?

Can I? Can I? Can I?”

ใครอยากจะส่งใจให้สาว trans สุดสวยคนนี้ออกมาแร็ปอีก ก็ไปช่วยกันกดดูผลงาน และกดแชร์ วิดีโอของเธอได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้

ไม่รู้ว่าฟังครบแล้วท่านผู้อ่านจะสามารถวกกลับไปตอบคำถามข้างต้นได้หรือไม่? แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านอาจจะคันปาก อยากลุกขึ้นมาแร็ปเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง (หรือหากคุณใช่—ของ LGBTQ) ในเมืองไทยบ้าง เพราะ แม้ว่าการด่าผ่านเพลงอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ศิลปะการแร็ปก็สามารถทำงานเหมือนไฟฉาย ที่นำส่องมุมมืด หรือชีวิตของกลุ่มคนสังคมไม่อยาก (กล้า) จะพูดถึงได้อย่างดีทีเดียว

Tags: , , , ,