ในโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตร์แห่งวิทยาการสมัยใหม่จึงต้องการนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แต่การจะสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับในเวทีสากลได้นั้น ก็ต้องอาศัยระบบการศึกษาที่สูงและได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะเป็นที่ไหนในนั้น เราอยากให้คุณเดินทางไปพร้อมกับเราในบทความชิ้นนี้

หากซิลิคอนวัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา คือแหล่งบ่มเพาะและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สำคัญของโลก วังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราอยากแนะนำให้คุณได้รู้จักในฐานะแหล่งบ่มเพาะทรัพยากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ด้วยเป็นที่ตั้งของสองสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอย่าง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ หรือ KVIS และ สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC สถาบันการศึกษาในฝันของนักวิทย์แห่งอนาคต ที่ริเริ่มก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่ม ปตท. ซึ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติผ่านการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อสร้างกำลังคนที่จะกลับมาเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ

แม้จะดูเคร่งขรึมและล้ำสมัยด้วยคำว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เมื่อไปถึงวังจันทร์วัลเลย์ เรากลับพบว่าสถานที่แห่งนี้มีความใกล้ชิดธรรมชาติในระดับมากที่สุด เป็นการบอกกับเรากลายๆ ว่าเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ได้ถูกผลักให้อยู่ไกลจากธรรมชาติเลยแม้แต่นิด เพราะเป็นสถานที่ที่ห้อมล้อมไปด้วยแนวภูเขาและพื้นที่ป่า รวมถึงพื้นที่การเกษตร โดยเนื้อที่กว่า 3,500 ไร่นี้ ประกอบด้วยที่ตั้งของอาคารเรียนที่ทันสมัย รวมถึงที่พักของคณาจารย์และนักเรียน ที่เมื่อผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน จะได้รับทุนการศึกษาแบบไม่ผูกมัด รวมถึงอุปกรณ์การเรียน พร้อมที่พัก เพื่อที่จะใช้ชีวิตกินนอนอยู่โรงเรียนประจำแห่งนี้จนจบการศึกษา ดังนั้น เพื่อการเรียนอย่างมีความสุข สภาพแวดล้อมจึงต้องเอื้ออำนวยต่อการเรียนและการใช้ชีวิตคู่กันไปด้วยในทุกมิติ

กำเนิดวิทย์ เพื่อกำเนิดนักวิทย์ฯ แห่งอนาคต

โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นโรงเรียนในฝันของนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับทุนการศึกษาจากที่นี่ จะต้องเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นจากโรงเรียนทั่วประเทศ หัวกะทิแค่ไหนนั้นเราอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า จากสถิติแล้ว ในจำนวนเด็ก 100 คน จะมีเด็กที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ 3 เปอร์เซ็นต์ การเฟ้นหา 3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กนักเรียนในแต่ละรุ่น จึงต้องผ่านการทดสอบเพื่อคัดเลือกเด็กที่มีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อันดับสูงสุด เข้ามาอยู่ในโรงเรียนนี้ โดยจำกัดรุ่นละ 72 คน แยกเป็น 4 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 18 คน เพื่อที่จะได้รับการเรียนการสอนที่ใกล้ชิดที่สุด

เมื่อเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของกำเนิดวิทย์ ที่เน้นองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง โดยไม่ละทิ้งหลักสูตรวิชาพื้นฐานเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป ทั้งยังเปิดกว้างไปกับโลกการเรียนรู้และความสนใจของเด็กนักเรียน ที่เมื่อเด็กค้นพบความถนัดและความสนใจพิเศษของตนเอง ก็จะได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านนั้นอย่างเต็มที่เป็นรายบุคคล ภายใต้หลักสูตรที่สามารถยืดหยุ่นตามความสามารถของเด็กได้ โดยหลักสูตรที่นำมาสอน ก็พัฒนาต้นแบบมาจากโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากไทยและทั่วโลก และครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการศึกษา โดยใช้ภาษาอังกฤษในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กมีทักษะและความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ทัดเทียมนานาชาติ

(ขอขอบคุณภาพจาก KVIS Academy)

นอกจากจะเน้นทักษะด้านวิชาการ การที่เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียนประจำ และมีกิจกรรมให้เด็กได้เลือกเข้าร่วมตามความสนใจ ไม่ว่าจะด้านดนตรี นาฏศิลป์ กีฬา ศิลปะ ฯลฯ จะมีส่วนช่วยในการปลูกฝังทักษะในการใช้ชีวิต ทัศนคติ พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจได้อย่างเหมาะสมกับวัย รวมถึงทักษะการเป็นผู้นำและความคิดสร้างสรรค์ โดยที่ผ่านมา นักเรียน KVIS ได้สร้างผลงานทดลองและโครงงานไว้อย่างน่าสนใจ และได้รับการยอมรับในผลงานด้านวิชาการอยู่เสมอ ซึ่งจากการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพนี้เอง ที่ทำให้กำเนิดวิทย์ได้กลายเป็นหนึ่งกลไกของระบบการศึกษา ในการสร้างเยาวชนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ และนำวิชาความรู้เหล่านั้นกลับมาพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้กับสังคมไทยต่อไปในอนาคต

(ขอขอบคุณภาพจาก KVIS Academy)

สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) บ่มเพาะนักวิทย์รุ่นใหม่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี

จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ซึ่งเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เราเคลื่อนตัวกันอีกนิดเพื่อเข้ามาสู่พื้นที่ของสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC ซึ่งอยู่ในอาณาจักรวังจันทร์วัลเลย์เช่นกัน

VISTEC เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งเน้นงานวิจัยชั้นแนวหน้า เพื่อสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นเลิศในระดับโลก ให้สามารถสร้างและใช้องค์ความรู้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากกลุ่ม ปตท. จะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งแล้ว ในเวลาต่อมายังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาในด้านนี้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จากการบ่มเพาะของ VISTEC จึงเป็นบุคลากรที่เกิดจากความตั้งใจในการสร้างทรัพยากรที่จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยแสวงหาองค์ความรู้และคิดค้นวิจัยสิ่งใหม่ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่มีท่าทีว่าจะหยุดนิ่ง อย่างที่เราเห็นได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งใหม่ ทั้งในแง่ของพัฒนาการและวิกฤติการณ์ ซึ่งล้วนต้องอาศัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนในการเดินหน้าไปจนถึงการแก้ปัญหา

การเรียนการสอนของ VISTEC เป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึกและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล ที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หัวข้องานวิจัยของ VISTEC เน้นไปที่การคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมและรองรับอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curve ทางด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมชีวภาพ

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา VISTEC  ได้บ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และมีผลงานพัฒนางานวิจัยจากทีมวิจัย ที่กลายเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยและพัฒนา ‘ระบบอัจฉริยะของหุ่นยนต์โครงกระดูกรยางค์ล่างภายนอก’ ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อช่วยเหลือและเสริมสร้างการเดินของผู้ป่วยที่มีความบกพร่องหรือปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย มีผลงานวิจัยและพัฒนาวัสดุกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ชนิดลิเทียมไอออนประสิทธิภาพสูง ที่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้สูงกว่าเทคโนโลยีเดิม มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ซึ่งหากวิทยาการนี้เข้าสู่ตลาดระดับสากล ก็จะเพิ่มขีดความสามารถในสายงานผลิตและส่งออกด้านเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้ในอนาคต

และเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมไร้ขยะ ทีมนักวิจัย C-ROS ของ VISTEC ก็ได้คัดสรรเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงดำเนินกระบวนการชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากครัวเรือน ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ ที่มีคุณภาพสูง ใช้งานได้จริงอย่างคุ้มทุน และสามารถต่อยอดสู่ผลงานเพื่อสังคม หรือการพัฒนางานวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล อย่างเว็บแอปพลิเคชั่นที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการสื่อสารระหว่างพยาบาลในห้องผู้ป่วยแยก กับแพทย์ที่ไม่สามารถเข้าไปยังห้องผู้ป่วย โดยเป็นการรวบรวมและแสดงข้อมูลต่างๆ เช่น ชีพจร อุณหภูมิของร่างกาย ฯลฯ เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยได้ดีและแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการร่วมวิจัยและพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 หรือ Rapid Genetic Detection Kit for COVID-19 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้มีการใช้งานจริงภายใต้รูปแบบการทดสอบทางการแพทย์ (Clinical Validation) พบว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถตรวจเชื้อได้ในระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงและมีความแม่นยำสูง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ตั้งต้นด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษา ไปจนถึงปริญญาโทและปริญญาเอก โดยกลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรที่ให้การสนับสนุน เพื่อสร้างบุคลากรที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นอย่างรอบด้าน

(ขอขอบคุณภาพจาก KVIS Academy)

 

Tags: , , , ,