หากยังพอจำเหตุการณ์การหายตัวไปของผู้ลี้ภัยทางการเมือง 3 ราย ที่ต่อมาพบศพถูกมัดมือ เชือกป่านรัดคอ และคว้านท้องยัดแท่งปูน ใส่กระสอบลอยอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งภายหลังผลการตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่า สองในสามเป็นศพของคนสนิทของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอีกศพที่พบ ยังคงหายไปอย่างไร้ร่องรอย ..

ล่าสุดเมื่อ 10.00 น.ของวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) พร้อมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการบังคับบุคคลสูญหายและเรียกร้องให้ตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนกรณีการอุ้มฆ่าสุรชัยและผู้ติดตาม พร้อมทั้งยังมีการจัดพิธีเชิงสัญลักษณ์ และร้องเพลง ‘นักสู้ธุลีดิน’ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุรชัย

สุรชัยหายตัวไปพร้อมกับผู้ติดตามอีกสองคนคือสหายภูชนะ และสหายกาสะลอง เมื่อคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ซึ่งตรงกับการเดินทางไปประชุม ไทย-ลาว ของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ที่นครเวียงจันทร์ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2561 มีการพบศพนิรนามซึ่งลอยมาติดตลิ่งในแม่น้ำโขง โดยศพแรกพบที่บ้านท่าจำปา อ.ท่าอุเทน ซึ่งศพรายนี้ได้หายไปอย่างเป็นปริศนา ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม พบอีกศพที่หน้าวัดหัวเวียง ต.ธาตุพนม และวันที่ 29 ธันวาคม พบที่บ้านท่าสำราญ ต.อาจสามารถ รวมทั้งสิ้น 3 ศพ

ซึ่งจากผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ สองศพหลังตรงกับนายชัชชาญ บุปผาวัลย์หรือสหายภูชนะ และไกรเดช ลือเลิศหรือสหายกาสะลอง สองคนสนิทของนายสุรชัย ทางภรรยาของสุรชัยจึงเชื่อว่า สามีอาจเสียชีวิตไปแล้วและศพที่หายไปคือสามีของตน

หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีผู้ที่เห็นต่างและไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในส่วนของผู้ลี้ภัยที่ไปอยู่ประเทศใกล้เคียงได้ถูกอุ้มหายไปแล้วก่อนหน้านี้สองราย คืออิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ ในปี 2559 และวุฒิพงษ์ กชนธรรมคุณ หรือโกตี๋ ในปี 2560

ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา องค์กร Protection International ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับบุคคลให้สูญหาย 90 กรณี มี 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น กรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปพร้อมรถเก๋งสีดำปริศนา และชายฉกรรจ์ที่เชื่อว่าเป็นตำรวจกองปราบ 5 นาย เมื่อ 12 มีนาคม 2547 และนายทนง โพธิ์อ่าน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานซึ่งได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ภายหลังที่ออกมาต่อต้านการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและคำประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ซึ่งในขณะนั้น เขาเป็นตัวแทนแรงงานประเทศไทยและกำลังจะเดินทางไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ( International Labour Organization :ILO) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมถึงเมื่อไม่นานมานี้ อาทิ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่หายตัวไปในปี 2557 และนายเด่น คำแหล้ ประฐานโฉนดชุมชนโคกยาว เมื่อปี 2559

ประเทศไทยเคยลงนามและให้สัตยาบันใน อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) ในสมัยรัฐบาลพล.เอกสุรยุทธ์ จุฬานนท์  รวมทั้งยังลงนามใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ไทยมีข้อผูกพันธ์ที่จะต้องออกกฏหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเคยมีความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้น แต่รายละเอียดในเนื้อหายังเป็นที่ถกเถียงในสาระสำคัญ ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งอาจเข้าสู่วาระที่สามในวันที่ 7 มีนาคม ที่จะถึงนี้

อ้างอิง:

https://prachatai.com/journal/2014/06/54093

https://www.thairath.co.th/content/1511321

https://prachatai.com/journal/2018/03/75892

https://www.the101.world/suppression-of-torture-and-enforced-disappearances-act/

Tags: ,