เวลาใครแวะมาฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ โดยเฉพาะคนใหม่ๆ มักจะมีคำถามว่า ทำไมร้านหนังสือถึงชื่อฟิลาเดลเฟีย’ 

เมื่อเล่าให้ฟังถึงที่ไปที่มา ผมจะบอกถึงที่มาของคำว่า Philadelphia ที่มาจากคำว่า Philos อันหมายถึงความรัก จากนั้นจะเกี่ยวโยงกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของความฝันที่จะมีร้านหนังสือซึ่งสร้างขึ้นด้วยความรักและได้รับการดูแลจากคนที่รักหนังสือ หลงใหลการอ่าน รักทุกๆ เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ 

และรักเธอผู้เป็นเจ้าของความฝัน

นั่นหมายความว่า ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย เกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความฝันของผู้หญิงคนหนึ่งที่รักหนังสือและหลงใหลในการอ่าน เพียงแต่ภาระหน้าที่และต้นทุนของชีวิตทำให้เธอไม่อาจลงมือทำด้วยตัวเองได้  ผมในฐานะคนรักจึงได้รับเกียรติมาดูแลความฝันนั้น

จากจุดนี้เองที่ทำให้ผมสนใจว่าร้านหนังสืออิสระอื่นๆ มีจุดกำเนิดมาอย่างไร?

และถ้าให้นักอ่านหรือคนที่รักหนังสือทั่วโลกนึกถึงร้านหนังสือสักร้าน เชื่อว่าชื่อแรกๆ ที่โผล่ขึ้นมาน่าจะเป็น SHAKESPEARE AND COMPANY และเราก็จะนึกถึงผู้หญิงของร้านหนังสือที่ชื่อ ซิลเวีย  บีช (Sylvia  Beach) 

ทั้งๆ ที่ ซิลเวีย  บีช ตายไปแล้วเนิ่นนานเกินครึ่งศตวรรษ แต่เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ยังคงอยู่มาตราบถึงวันนี้  ถึงกระนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่า ซิลเวีย บีช เป็นของร้านหนังสือ หรือร้านหนังสือเป็นของซิลเวีย บีชกันแน่ หรือทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน  เพราะผมรู้สึกว่าเวลาเราพูดถึงร้านหนังสือเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ชื่อของผู้หญิงคนนี้จะลอยเข้ามาทันที ไม่ว่าเราจะเคยพบเธอหรือไม่ก็ตาม

สำหรับผม มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก และหาคำอธิบายไม่ได้ นอกเสียจากว่านี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงพลังของผู้หญิงในการก่อเกิดสิ่งที่ดีงามแบบนี้

ข้อยืนยันที่สำคัญต่อเรื่องนี้คือการปรากฏตัวของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) อีกครั้ง ในยามที่ซิลเวีย บีชและร้านหนังสือของเธอตกอยู่ในความหมองหม่นจากสงคราม

“- –คราวที่นาซีเยอรมันเดินทัพเข้ายึดครองปารีส  มีนายทหารชาวเยอรมันต้องการเข้าตรวจร้านและถามหานวนิยายเรื่อง Finnegans Wake ของเจมส์  จอยซ์ แต่ทว่า เพราะร้านหนังสือคือสมบัติล้ำค่าที่สุดของชีวิต  และอาจมีค่ามากกว่าชีวิต บีชจึงจัดการรีบซ่อนหนังสือและรูปภาพทั้งหมดขึ้นชั้นบน ถอดชั้นหนังสือออกเป็นชิ้นๆ เก็บข้าวของทุกอย่างไม่เหลือในร้านแม้แต่ชิ้นเดียว ทาสีทับชื่อร้าน ‘Shakespeare and Company’ และปิดร้านไว้อย่างนั้น  แล้วไปอยู่ที่ค่ายกักกัน (an internment camp) เป็นเวลาหกเดือนก่อนจะกลับเข้ามาปารีสและหลบหนีไปอาศัยอยู่ที่ Foyer des Etudiantes ที่เลขที่ 93 ถนนบูเลอวาร์ด แซง มิเชล (Boulevard Saint Michel) รอจนสงครามสงบและประเทศเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายสงคราม  เมื่อเธอกลับมาที่ร้าน  และพบว่าสภาพร้านหลังสงครามและการบุกรุกของพวกนาซีนั้นต้องการการซ่อมแซมฟื้นฟูอยู่มิใช่น้อย ในห้วงเวลาที่ต้องการมิตรเพื่อปลุกให้ร้านหนังสือ เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานี กลับมามีชีวิตอีกครั้งนั่นเอง  วันหนึ่งเธอก็ได้ยินเสียงคุ้นเคยของผู้ชายคนหนึ่งที่จากหายไปนาน เขาร้องตะโกนเรียกเธออยู่ด้านนอกร้าน เจ้าของเสียงคนนั้นคือเออร์เนสต์  เฮมิงเวย์  ผู้กลับมาจากแนวหน้าเพื่อชีวิตใหม่ของเขาและเพื่อการซ่อมหลังคาให้กับสถานที่ที่เคยเป็นร้านเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานี” 

(จาก a Lovely History of SHAKESPEARE AND COMPANY by Rangsima Tunsakul, bookmoby PRESS, กรกฎาคม 2561)

บ้างก็เล่าว่า วันที่เฮมิงเวย์กลับมาครั้งนั้น เขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว และเมื่อเขาปรากฏตัวขึ้นในร้านที่ดูหมองหม่น แทนคำทักทายเขากลับเอ่ยถามขึ้นว่ามีหนังสือของเฮมิงเวย์ไหม?”  และพอซิลเวีย บีช ได้ยินเสียงนั้นก็เงยหน้าขึ้นจากงานตรงหน้าแล้วร้องขึ้นมาอย่างดีใจเฮมิงเวย์!”

ในความเห็นของผม ความทรงจำที่งดงามต่อผู้หญิงคนนี้และร้านหนังสือแห่งนี้ในช่วงวันและวัยที่หิวโหยและไร้ชื่อของเฮมิงเวย์นั่นเอง ที่ทำให้จอมทระนงอย่างเขากลับมา เฮมิงเวย์บันทึกความทรงจำนี้ของเขาไว้ใน A Moveable Feast งานชิ้นเยี่ยมที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนหนุ่มค่อนโลก (เรื่องนี้เท่าที่ทราบ มีคนแปล 3 คน หนึ่งในนั้นคือพญาอินทรีรงค์ วงษ์สวรรค์ – ‘มาลีบนหลุมฝังศพ แต่เป็นการเรียบเรียงมาประกอบงานเขียนของเขาเอง อีกคนคือ ไพรัช แสนสวัสดิ์ แปลเต็มเรื่องในชื่อฤกษ์งาม ยามปารีส ซึ่งเป็นสำนวนล่าสุด จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไชน์พิมพ์ เมื่อฤดูหนาวปี 2562 และอีกสำนวนหนึ่งตั้งแต่หลายสิบปีก่อนคือชีวิตไม่จีรังแปลโดย ดวงวิภา สามโกเศศ ซึ่งผมขอหยิบยกสำนวนของเธอมาใช้

ในครั้งกระโน้น ข้าพเจ้าไม่มีเงินซื้อหนังสือเลย ข้าพเจ้าขอยืมหนังสือจากห้องสมุดให้เช่ายืมซึ่งมีชื่อว่าเชคสเปียร์กับคณะอันเป็นห้องสมุดและร้านหนังสือของ ซิลเวีย บีช  เลขที่ 12 ถนนโอเดอ็อง บริเวณถนนกำลังมีลมหนาวพัดจัด ในสถานที่นี้กลับอบอุ่นและเป็นกันเอง  มีเตาผิงในฤดูหนาว มีโต๊ะหลายตัว มีชั้นที่เต็มไปด้วยหนังสือ  หนังสือเล่มใหม่จัดเรียงไว้ตรงขอบหน้าต่าง  และที่ฝาผนังก็มีภาพถ่ายของนักประพันธ์เรืองนามทั้งที่ล่วงลับแล้วและยังมีชีวิตอยู่ ภาพถ่ายเหล่านี้ราวกับมีชีวิตจิตใจ  และแม้แต่นักประพันธ์ที่เสียชีวิตไปแล้วก็ดูคล้ายกับยังมีชีวิต ใบหน้าซิลเวียสดใสและคมคายราวกับปูนปั้น นัยน์ตาสีน้ำตาลของหล่อนแจ่มใสเหมือนนัยน์ตาสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ และซุกซนราวกับนัยน์ตาสาววัยรุ่น ผมลอนคลื่นสีน้ำตาลหวีปัดไปจากหน้าผากมน  ตกแต่งเป็นพวงหนาไว้ใต้ใบหูจนระกับแนวปกเสื้อกำมะหยี่สีน้ำตาลที่สวมอยู่ ขาหล่อนสวย  หล่อนใจดีและร่าเริงและเป็นคนที่น่าสนใจ หล่อนชอบเล่าเรื่องที่น่าขันและเรื่องซุบซิบด้วย  ไม่มีใครที่ข้าพเจ้ารู้จักจะดีต่อข้าพเจ้ามากไปกว่าเธอผู้นี้

ครั้งแรกที่เข้าไปในร้านหนังสือ รู้สึกเขินมาก ข้าพเจ้าไม่มีสตางค์พอจะจ่ายเป็นค่าเช่าหนังสือหรอก  หล่อนบอกว่าจะจ่ายค่ามัดจำเมื่อใดก็ได้ที่มีสตางค์  หล่อนทำบัตรให้ และบอกข้าพเจ้าให้เลือกหนังสือไปกี่เล่มก็ได้ตามที่ต้องการ

ไม่มีสาเหตุอันใดเลยที่เธอจะไว้ใจข้าพเจ้า  เธอไม่รู้จักข้าพเจ้าและที่อยู่เลขที่ 74 ถนนคาร์ดินัล เลอ มวน ซึ่งข้าพเจ้าให้ไว้นั้นไม่สามารถจะช่วยหล่อนได้เลย หล่อนช่างน่าชื่นชมเสียเหลือเกิน มีเสน่ห์และต้อนรับเก่ง เบื้องหลังหล่อนนั้นเล่าก็คือชั้นวางหนังสือมันสูงจนท่วมผนังห้องและก็เป็นแนวตลอดจนสุดความยาวของห้องซึ่งอยู่ลึกเข้าไปด้านในของตัวตึก และตามชั้นดังกล่าวนี้ก็คือมหาสมบัติของห้องสมุด

ข้าพเจ้าเริ่มที่เทอเจอเนฟ และก็หยิบเรื่องภาพร่างของนักกีฬาซึ่งมีอยู่ 2 เล่มขึ้นมา หยิบหนังสือในระยะต้นๆ ของ ดี.เอช. ลอว์เรนซ์ มาเล่มหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่ามันคือเรื่องลูกชายกับชู้รักซิลเวียบอกข้าพเจ้าให้นำหนังสือเล่มอื่นๆ ไปอีกถ้าข้าพเจ้าอยากได้  ข้าพเจ้าจึงเลือกสงครามและสันติภาพเล่มนี้ คอนสตานช์ กาเน็ต เป็นผู้แปล และนักพนันและเรื่องอื่นๆของ ดอสตอยเยฟสกี้

คุณคงจะไม่มาที่นี่อีกเร็วๆ นี้หรอกนะ ถ้าคุณอ่านพวกนั้นหมดซิลเวียพูด

ผมจะมาจ่ายสตางค์นะครับข้าพเจ้ากล่าวผมมีเงินอยู่บ้างที่บ้านพัก

ดิฉันไม่ได้หมายความอย่างนั้นสักหน่อยหล่อนบอก  “คุณจ่ายเมื่อไรก็ได้ที่คุณสะดวก

 .

 

อีกข้อที่ยืนยันถึงการแสดงพลังของผู้หญิงอย่างซิลเวีย บีช นั่นคือภายหลังจากที่เธอไม่ได้ทำร้านหนังสือต่อแล้ว ในปี 1958 เธอได้มอบชื่อร้านเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ให้กับ จอร์จ วิทแมน (George Whitman) ทั้งที่เขาเองก็มีร้านหนังสือของตัวเองอยู่แล้วชื่อ Librairie la Mistral ซึ่งทำเลก็น่าจะดีกว่าร้านเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานี  แห่งเดิมเป็นไหนๆ เพราะตั้งอยู่ใจกลางกรุงปารีส และแม้ว่าเขาจะตื่นเต้นกับเรื่องนี้มาก แต่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อร้านของตัวเองในทันที เพียงแต่วางป้ายร้านของ ซิลเวีย บีช ไว้ตรงกระจกด้านหน้าร้าน ติดกับ Ulysses ผลงานนิยายเอกอุของเจมส์ จอยซ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกที่ซิลเวีย บีช เป็นผู้จัดพิมพ์ในนามร้านหนังสือ เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานี 

จอร์จ วิทแมนเปลี่ยนชื่อร้านของเขาเป็นเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานีในปี 1962 สี่ปีหลังจากที่ซิลเวีย บีช มอบร้านนี้ให้เขา ด้วยเหตุผลว่าเพื่อรำลึกสี่ร้อยปีชาตกาลของกวีเอก วิลเลียม เช็กสเปียร์ ซึ่งดูเหมือนเขาจะไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากซิลเวีย บีช ผู้เป็นเจ้าของเดิม  

แต่การที่เขาตั้งชื่อลูกสาวที่เกิดจากภรรยาชาวอังกฤษว่า ซิลเวีย บีช วิทแมน (Sylvia Beach Whitman) มันจะหมายถึงอะไร

ถ้าไม่ใช่การยอมรับในพลังของผู้หญิงที่ชื่อ ซิลเวีย บีช 

ลองนึกดูว่าในช่วง 6 ปี ที่เด็กหญิงคนนี้ซิลเวีย บีช วิทแมน เกิดและวิ่งเล่นอยู่ในร้านหนังสือแห่งนี้  ก่อนที่แม่ของเธอจะพากลับไปอยู่อังกฤษ  และทุกๆ ครั้งที่ชื่อของเธอถูกเรียกขึ้นซิลเวีย ซิลเวียนักเขียนและผู้คนในยุคนั้นที่ได้ยินก็คงรำลึกถึง ซิลเวีย บีช ผู้ให้กำเนิดร้านหนังสือแห่งนี้  และรู้สึกเสมือนได้กลับมาเยี่ยมเยียนเธอท่ามกลางบรรยากาศของ เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานี และเมื่อชื่อนี้ถูกบอกต่อๆ กันไป ก็ราวกับการเชิญชวนให้นักเขียนทั้งมีชื่อและไม่มีชื่อพากันเดินทางมายังร้านหนังสือแห่งนี้

ในปี 2001 ผู้หญิงคนหนึ่งจากเกาะอังกฤษปรากฏตัวขึ้นที่เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานีเธอมาเพื่อที่อยากจะรู้จักพ่อของเธอให้มากขึ้น ซึ่งในตอนนั้น จอร์จ วิทแมน ก็แก่มากแล้ว และนึกกังวลถึงการดำรงอยู่ของร้านหนังสือของเขา  ถึงขั้นว่าจะเขียนจดหมายถึงมหาเศรษฐีบางคนให้มารับช่วงร้านหนังสือแห่งนี้ หรือไม่อย่างนั้นก็ทำให้มันเป็นมูลนิธิหรือสถานที่สาธารณะ เพื่อให้ เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานี ยังคงอยู่และดำรงจิตวิญญาณดั้งเดิมไว้

การปรากฏตัวของเธอซิลเวีย บีช วิทแมน คือการทำให้ร้านหนังสือเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานีในวัยชรา กลับมาสดใสสู่การเป็นสาวทรงเสน่ห์อีกครั้ง  

ตราบเท่าวันนี้ – –

แน่นอนว่า เช็กสเปียร์ แอนด์ คัมปานี ของซิลเวีย บีช ได้กลายเป็นความทรงจำและภาพฝันแสนงามของคนมากมาย ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจของร้านหนังสืออิสระแทบจะค่อนโลก 

ไม่น่าแปลกใจที่นักเขียนฝรั่งเศส André Chamson จะยกย่อง ซิลเวีย บีช ว่าเก่งและยิ่งใหญ่กว่าทูตของทั้ง 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา และไอร์แลนด์ มารวมกันเสียอีก

เพราะนั่นคือความงามและพลังอันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงโดยแท้

  จำได้ว่าตอนที่ผมอ่านข้อเขียนของ แอนนา พอร์เตอร์ (Anna Porter) เรื่อง SHAKESPEARE AND COMPANY At Home with Books ใน QUEEN’S Quarterly, Volume 119  Number 4  Winter 2012 ที่หน้าสุดท้ายของข้อเขียนมีรูปผู้หญิงครึ่งตัว หันข้าง ความคมสวยของรูปหน้า เส้นสายงดงามของรูปทรง ผมสีบลอนด์จับลอน ส่งให้ผู้หญิงคนนี้เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์น่าค้นหา และทำให้รู้สึกจริงๆ ว่านี่คือ ซิลเวีย บีช  ที่เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ บรรยายไว้ในหนังสือ A Moveable Feast แม้ว่าความจริงแล้วนั่นคือภาพ ซิลเวีย บีช วิทแมน ผู้หญิงคนปัจจุบันแห่งร้านหนังสือเช็กสเปียร์ แอนด์ คัมพานี’ 

หมายเหตุ: ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ พี่เอ๋อุรัชยา อภิราชจิตร ผู้สนับสนุนข้อมูล