แม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ฉันยังจำวินาทีแรกเมื่อได้พบกับเนเปิลส์ได้เป็นอย่างดี ช่วงเวลาเช้าที่แสงแดดอันอบอุ่นของอิตาลีตอนใต้สาดผ่านหน้าต่างเครื่องบินเข้ามากระทบบนใบหน้า แล้วปลุกฉันขึ้นจากความง่วงงุนของการเดินทางอันยาวไกล เพื่อที่จะพบว่าเครื่องบินลำน้อยของสายการบิน Alitalia ที่เราโดยสารอยู่กำลังแล่นโฉบอยู่เหนือภูเขาไฟ ก็ไม่รู้หรอกนะว่าภูเขาไฟลูกนั้นคือภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) หรือเปล่า แต่วินาทีนั้นล่ะที่รู้สึกว่ามาถึงเนเปิลส์แล้ว

           เกอเธ่เคยกล่าวไว้ว่าภูเขาไฟวิสุเวียสนั้น “ทำลายตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า และประกาศเปิดศึกกับความงามในทุกรูปแบบ” ฉันเองก็เคยสงสัยอยู่เหมือนกันว่าแม้จะรู้ว่าอันตรายมาก แต่ทำไมกันนะ มนุษย์จึงเลือกที่จะตั้งชุมชนและอาศัยอยู่ในเงาของมัจจุราชที่พร้อมจะพรากชีวิตของพวกเขาได้อย่างทันทีเช่นนี้

          แม้วันที่เราได้พบกัน ภูเขาไฟวิสุเวียสที่มองเห็นไกลๆ จากเนเปิลส์จะดูแน่นิ่งและสงบอย่างที่สุด แต่ย้อนกลับไปในอดีต ภูเขาลูกเดียวกันนี้เองที่คร่าชีวิตของผู้คนมากมายในหลายยุคสมัย ซึ่งหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟลูกนี้ก็คือ ปอมเปอี หนึ่งในจุดหมายที่ทำให้เราเดินทางมาถึงเนเปิลส์คราวนี้

          เมื่อกำหนดวันได้ เราออกเดินทางจากที่พักในเนเปิลส์แต่เช้าตรู่ และเดินไปยังสถานีรถไฟ Porta Nolana เพื่อขึ้นรถไฟสาย Circumvesuviana เส้นทางเนเปิลส์-ซอร์เรนโต มุ่งหน้าสู่ปอมเปอีที่เป็นสถานีอยู่เกือบจะกลางเส้นทางพอดี หากไม่ได้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถทัวร์ รถไฟสายนี้น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเดินทางสู่ปอมเปอี รวมถึงซอร์เรนโตซึ่งเป็นเหมือนประตูสู่อะมัลฟี โคสต์ (Amalfi Coast)

          ด้วยความที่ทั้งสองเมืองเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ไม่แปลกเลยที่รถไฟสายนี้จะขึ้นชื่อเรื่องการเป็นศูนย์รวมของนักล้วงกระเป๋าทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มาประลองฝีมือ ฉะนั้นควรระวังสิ่งของมีค่าให้ดี โดยเฉพาะช่วงขาเข้าและขาออกจากรถซึ่งมักเป็นช่วงชุลมุน

          แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ระวังตัวเองดีอยู่แล้ว บอกได้เลยว่าการเดินทางด้วยรถไฟสาย Circumvesuviana จะกลายเป็นทริปที่น่าเพลิดเพลินเป็นที่สุด เพราะรถไฟจะวิ่งเลียบไปตามโค้งของอ่าวเนเปิลส์ ผ่านไร่องุ่นและไร่มะกอกเรียงราย สลับไปกับบ้านเรือนหลังคาเทอราคอตต้าแบบอิตาลีตอนใต้

          นี่กระมังคำตอบว่าทำไมคนถึงชอบมาตั้งรกรากใกล้ๆ กับภูเขาไฟ เพราะแม้จะอันตราย แต่ภูเขาไฟก็มีคุณต่อเกษตรกรอยู่มาก เพราะดินรอบภูเขาไฟมักเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ ภูเขาไฟวิสุเวียสสามารถปลูกองุ่นได้ดีจนชาวโรมันโบราณตั้งชื่อไวน์ที่ทำจากองุ่นในแถบนี้ว่า ‘น้ำตาแห่งพระคริสต์’ (Lacrima Christi หรือ Tears of Christ) เลยทีเดียว

         ชมวิวเพลินๆ ครึ่งชั่วโมงผ่านไป เราก็มาถึงสถานีปอมเปอี ซึ่งอยู่ห่างจากทางเข้าซากเมืองโบราณปอมเปอีเพียงไม่กี่ร้อยเมตร โดยปกติแล้ว ปอมเปอีจะเปิดให้เข้าชมฟรีในวันอาทิตย์แรกของเดือน ซึ่งมักจะเป็นวันที่คนแน่นที่สุด แต่ถ้าไม่อยากเบียดเสียด ตั๋วราคาเต็มสำหรับวันปกติในราคา 15 ยูโรก็นับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะความกว้างใหญ่ไพศาลของที่นี่ทำให้คุณสามารถเดินชมเมืองโบราณนี้ได้ทั้งวัน

          ด้วยความที่ตั้งอยู่บนชัยภูมิที่ดี ปอมเปอีก่อตั้งในศตวรรษที่ 6 หรือ 7 ก่อนคริสตกาลโดยชาวออสคัน (Oscans) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของแคว้นคัมปาเนียนั้นถูกยึดครองโดยกลุ่มคนหลากหลาย ตั้งแต่ชาวอีทรัสคัน (Etruscan) ชาวแซมไนท์ (Samnites) ชาวกรีก ไปจนถึงชาวโรมัน และในช่วงที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันนี้เองที่เมืองปอมเปอีได้ขยับขยายพัฒนาจากหมู่บ้านเล็กๆ เป็นเมืองแบบโรมันเต็มตัว เห็นได้จากผังเมืองที่ประกอบด้วยสาธารณูปโภคแบบครบครัน ทั้งฟอรั่มหรือศูนย์กลางที่ชาวเมืองมาพบปะสังสรรค์ โรงอาบน้ำ อัฒจรรย์ และวิหารบูชาเทพเจ้าองค์ต่างๆ พร้อมวิลล่าสุดหรูของเหล่าคหบดีชาวโรมันที่เดินทางมายังปอมเปอีเพื่อตากอากาศ

          ดูอย่างเช่น House of the Golden Bracelet ที่ทางคณะผู้ดูแลซากเมืองโบราณปอมเปอีใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการเล่าเรื่องราวของเมืองผ่านนิทรรศการถาวรที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้านั้นเป็นที่อยู่ของครอบครัวผู้มั่งคั่ง ซึ่งซากศพของพวกเขาล้อมรอบไปด้วยเหรียญเงินและทองกว่าสองร้อยเหรียญ โดยร่างของผู้หญิงได้ใส่กำไลทองรูปงูสองหัวที่หนักถึง 0.6 กิโลกรัมไว้ด้วย

          นอกจากสถาปัตยกรรมโรมันอันโดดเด่นแล้ว นิทรรศการถาวรนี้ยังชี้ให้เห็นว่าแต่เดิม บ้านเรือนประดับประดาอย่างวิจิตรอลังการด้วยกระเบื้องโมเสกและภาพเฟรสโกที่ไม่เพียงแค่สวย แต่ยังบอกเล่าวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวปอมเปอีได้อย่างแจ่มชัด เพียงแต่ถ้าได้มาที่เมืองโบราณปอมเปอีแล้ว คุณอาจจะต้องใช้จินตนาการมากหน่อย เพราะเหล่านักโบราณคดีได้ย้ายงานโมเสกและภาพเฟรสโกไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งชาติในเนเปิลส์หมดแล้ว โดยภาพเฟรสโกที่ยังพอมีให้ชมได้ใกล้ๆ บริเวณซากเมืองโบราณมีอยู่ที่ Villa dei Misteri หรือ Villa of the Mysteries ที่ขึ้นชื่อเรื่องภาพผลงานเฟรสโกโทนสีแดงสดที่บอกเล่าถึงพิธีกรรมสุดลึกลับที่น่าจะเป็นเรื่องการก้าวข้ามผ่านจากสถานะ ‘เด็กหญิง’ ไปเป็น ‘ผู้หญิง’ อย่างเต็มตัว         

          แม้จะรุ่งเรืองเพียงใด และวิจิตรอลังการแค่ไหน ท้ายที่สุด ‘สูงสุดย่อมคืนสู่สามัญ’ อย่างที่คนว่าเอาไว้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเท่าที่นับได้ ภูเขาไฟวิสุเวียสได้ระเบิดถึง 50 ครั้ง แต่ครั้งที่ช็อกโลกมากที่สุดคือครั้งที่เกิดขึ้นในค.ศ. 79 เมื่อวิสุเวียสระเบิดครั้งใหญ่ ทำให้เถ้าถ่านทับถมเมืองที่อยู่รอบๆ อย่างปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียมในเสี้ยวพริบตา ในแบบที่ชาวเมืองเองยังไม่ทันตั้งตัว

          อันที่จริง พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภูเขาวิสุเวียสนั้นเป็นภูเขาไฟ เพราะชาวเมืองในยุคแรกเลือกตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณนั้นเพียงเพราะเป็นที่ราบใกล้ปากแม่น้ำซาร์โนที่ดูอุดมสมบูรณ์ ใครจะไปคิดว่าอยู่ดีๆ ภูเขาลูกใหญ่จะประทุขึ้นมาเสียดื้อๆ เนื่องจากมันไม่ได้ประทุมาเป็นเวลากว่า 1,800 ปี

         ถึงแม้จะเป็นการปะทุและลาวาที่ไหลลงมาต่อหน้า พวกเขาก็ยังไม่เข้าใจ คิดแค่ว่านั่นคงเป็นการลงทัณฑ์ของเทพเจ้าเป็นแน่ ว่ากันว่าการระเบิดครั้งนี้นี่เองที่ทำให้เกิดคำว่า ‘Volcano’ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากชื่อของเทพวัลแคน (Vulcan) เทพแห่งไฟและภูเขาไฟนั่นเอง

          เมืองปอมเปอีและร่างของชาวบ้านอีกกว่าหมื่นชีวิต จมอยู่ภายใต้เถ้าถ่านของลาวาแห่งวิสุเวียสกว่าพันห้าร้อยปี จนกระทั่งมีการค้นพบโดยบังเอิญในปีค.ศ. 1748 โดยคณะก่อสร้างพระราชวังของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และท้ายที่สุดแล้ว ยูเนสโกก็ได้ขึ้นทะเบียนซากเมืองโบราณปอมเปอีเป็นมรดกโลกในปีค.ศ. 1997          

         แม้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยจะมาที่ปอมเปอีเพื่อชมร่างมนุษย์ในอิริยาบถต่างๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่ถูกห่อหุ้มด้วยปูนปลาสเตอร์เพื่อจัดแสดงเป็นโบราณวัตถุ แต่สำหรับฉันแล้วการเดินไปตามซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนอันว่างเปล่าในตอนนี้ก็สะเทือนใจเกินพอ เราเดินไปตามทางอย่างเงียบงัน ไร้จุดหมาย พยายามนำส่วนต่างๆ ที่เราได้เห็นในหนังสือหรือในพิพิธภัณฑ์มาปะติดปะต่อกันเพื่อจินตนาการว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมืองปอมเปอีแห่งนี้เคยงดงามเพียงใด

          น่าเศร้าที่แม้จะเต็มไปด้วยวิหารบูชาทวยเทพ แต่ดูเหมือนเหล่าเทพที่พวกเขาเทิดทูนไม่ได้ช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากชะตากรรมอันแสนเศร้านั้นได้ นึกแล้วก็อดหันไปมองรอบๆ ตัวไม่ได้ ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมซากเมืองโบราณแห่งนี้กว่าสองล้านห้าแสนคน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าพวกเขากำลังเดินอยู่ภายใต้เงาของวิสุเวียส ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ และถ้าเกิดดันโชคร้ายขึ้นมา ถ้าภูเขาไฟเกิดระเบิด พวกเขาอาจจะประสบชะตากรรมเดียวกับเหล่าร่างไร้ชีวิตที่ห่อหุ้มด้วยปูนปลาสเตอร์เหล่านั้นก็ได้

          ความไม่เที่ยงแท้ ก็เป็นเช่นนี้นี่เอง

Tags: , , ,