กลางเดือนมิถุนายนนี้อภิมหามหกรรมกีฬาอย่างฟุตบอลโลกจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง รัสเซีย 2018 กำลังจะมาถึงถัดจากบราซิล 2014

          นอกจากที่หยุดแข่งกันไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ฟุตบอลโลกจะเว้นช่วงแข่งขันกันคราวละ 4 ปีมาตลอด อันที่จริงมหกรรมกีฬาระดับโลกต่างๆก็จัดตามรอบ 4 ปีกันเสียเป็นส่วนใหญ่ คำถามก็คือทำไมต้อง 4 ปี

          อันที่จริงแล้วตอนที่เซปป์ แบล็ตเตอร์ (Sepp Blatter) เป็นประธานฟีฟ่าก็เคยเสนอไอเดียที่จะเปลี่ยนรอบการจัดฟุตบอลโลกให้ถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 2 ปี แต่ท้ายที่สุดไอเดียนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจนไม่ได้เกิดขึ้นจริง

          วงรอบ 4 ปีถูกสถาปนาให้เป็นธรรมเนียมจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ที่มาของวงรอบ 4 ปีนี้มาจากไหน ฟีฟ่าเองก็ดูจะไม่เคยอธิบายให้ชัดๆ ว่าเพราะอะไร (ขนาดประธานฟีฟ่าเองยังเคยเสนอให้เปลี่ยนเลยด้วยซ้ำ) คงน่าสนใจถ้าพยายามจะอธิบายที่มาที่ไปของมัน

1.มหกรรมกีฬาทั่วโลกล้วนเจริญรอยตามโอลิมปิก

          วิธีการนับวงรอบ 4 ปีของมหกรรมกีฬาน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘โอลิมเปียด’ (Olympiad) ซึ่งคงเดากันได้ไม่ยากว่ามันเกี่ยวกับโอลิมปิกแน่ๆ

          ต้นแบบของมหกรรมกีฬา (ทั้งสมัยใหม่และสมัยเก่า) คงหนีไม่พ้นโอลิมปิก โอลิมปิกสมัยใหม่เริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่ปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ โดยจัดขึ้นตามรูปแบบของโอลิมปิกโบราณสมัยกรีก จากความเป็นมาที่สืบสาวได้ถึงอารยธรรมกรีกที่ถูกนับเป็นต้นธารภูมิปัญญาตะวันตก ทำให้มันขลังเสียจนมหกรรมกีฬาต่างๆ หลังจากนั้นต้องเดินตาม

          โอลิมปิกโบราณสมัยกรีกเองก็แข่งตามวงรอบ 4 ปี แถมเอาเข้าจริงแล้วมหกรรมกีฬาสมัยนั้นเองก็ไม่ได้มีแค่โอลิมปิกด้วย แต่ยังมีมหกรรมอื่นๆ ที่จัดแข่งแทรกใน 4 ปีนั้นอยู่ตลอด

          การจัดแข่งกีฬาในสมัยกรีกนั้นต่างจากทุกวันนี้ตรงที่มันมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาเทพเจ้า แล้วเทพเจ้าสมัยกรีกเองก็มีหลายองค์ มหกรรมกีฬาระดับเมเจอร์สมัยนั้นน่าจะนับได้ว่ามี 4 มหกรรม 1.โอลิมปิกเกมส์ (Olympic Games) จัดทุก 4 ปีเพื่อบูชาซุส 2.ไพเทียนเกมส์ (Pythian Games) จัดทุก 4 ปีเพื่อบูชาอพอลโล 3.เนมีนเกมส์ (Nemean Games) จัดทุก 2 ปีเพื่อบูชาซุสและเฮราคลีส และ 4.อิสต์เมียนเกมส์ (Isthmian Games) จัดทุก 2 ปีเพื่อบูชาโพเซดอน ทั้ง 4 มหกรรมนี้เรียกรวมกันว่าแพนเฮลเลนิคเกมส์ (Panhellenic Games)

          ตารางการแข่งขันแพนเฮลเลนิคเกมส์นั้นถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ

  1. ปีแรกแข่งโอลิมปิก
  2. ปีที่สองแข่งเนมีนและอิสต์เมียน
  3. ปีที่สามแข่งไพเทียน
  4. ปีที่สี่แข่งเนมีนและอิสต์เมียน

          และปีถัดไปก็จะวนกลับมาที่โอลิมปิกอีกครั้ง ซึ่งวงรอบ 4 ปีนี้เองที่เรียกว่าโอลิมเปียด มันคือวิธีการนับเวลาแบบหนึ่งในยุคกรีก

          เมื่อโอลิมปิกสมัยใหม่เริ่มจัดขึ้นในปี 1896 มันก็นำวิธีการนับวงรอบแบบโอลิมเปียดมาใช้ (จนถึงทุกวันนี้ ช่วงเวลา 4 ปีระหว่างโอลิมปิกหนึ่งถึงโอลิมปิกหนึ่งก็เรียกว่าโอลิมเปียด) และต่อมาเมื่อฟุตบอลโลกเริ่มจัดในปี 1930 มันก็เดินตามรอยของพี่ใหญ่อย่างโอลิมปิกด้วยเช่นกัน

2. โลกเมื่อเริ่มมีฟุตบอลโลกไม่ได้สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้

          ลองจินตนาการถึงโลกเมื่อเกือบร้อยปีก่อน สมัยที่เริ่มแข่งฟุตบอลโลกครั้งแรก การเดินทางและการสื่อสารไม่ได้รุดหน้าอย่างทุกวันนี้ อะไรอะไรก็ยาก ยิ่งตอนแรกสุดฟุตบอลโลกก็เป็นแค่กิจกรรมเล็กๆ ที่ประเทศต้นตำรับฟุตบอลสมัยใหม่อย่างอังกฤษหมางเมินไม่ลดตัวลงเข้าร่วมด้วยซ้ำ นานๆ จัดทีก็คงเหมาะแล้ว

          ฟุตบอลโลกครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 1930 โดยมีอุรุกวัยเป็นเจ้าภาพ แต่อย่าเพิ่งนึกถึงฟุตบอลโลกที่เป็นอภิมหามหกรรมอย่างทุกวันนี้ ฟุตบอลโลกครั้งแรกเกิดขึ้นอย่างแสนทุกลักทุเล ทั้งการประคับประคองไม่ให้งานล่มและการเดินทางที่ยากลำบาก

          ทุกวันนี้การได้เข้าไปแข่งฟุตบอลโลกนั้นเป็นเรื่องแสนยาก ไปได้ทีแทบปิดประเทศฉลอง แต่ครั้งแรกนั้นฟีฟ่าต้องเป็นฝ่ายร่อนจดหมายเชิญให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกฟีฟ่ามาร่วมแข่งเสียด้วยซ้ำ ที่ร้ายกว่านั้น ปรากฎว่าพอถึงเดดไลน์ตอบรับแล้วกลับไม่มีประเทศจากยุโรปแสดงความสนใจจะเข้าร่วมเลยแม้แต่ประเทศเดียว

          สุดท้ายฟีฟ่าก็ถูลู่ถูกังเอาทีมจากยุโรปมาแข่งได้ 4 ประเทศ เริ่มจากฝรั่งเศสที่จูลส์ ริเมต์ (Jules Rimet) ประธานฟีฟ่า (ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสนั่นแหละ) ไปเกลี้ยกล่อมมา เบลเยียม ที่ก็ได้แรงเกลี้ยกล่อมมาจากรองประธานฟีฟ่าอีกคน (แน่นอนว่าเขาเป็นชาวเบลเยียม) รวมกับโรมาเนียและยูโกสลาเวียที่ได้ความช่วยเหลือจากกษัตริย์คาโรล์ที่สอง (King Carol II) กษัตริย์โรมาเนียที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ผลักดันให้มาร่วมแข่ง

          ท้ายที่สุดฟุตบอลโลกครั้งแรกซึ่งจัดในทวีปอเมริกาใต้มีประเทศเข้าร่วม 13 ประเทศ เกินครึ่งมาจากทวีปอเมริกาใต้เอง

          อันที่จริงการไปบอลโลกตอนนั้นก็เป็นเรื่องยาก แต่ยากคนละความหมายกับตอนนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่ไปร่วมแข่งก็เพราะการเดินทาง เนื่องจากการเดินทางในสมัยนั้นไม่ได้สะดวกอย่างทุกวันนี้ และฟุตบอลก็ยังไม่ได้มีมูลค่ามหาศาลขนาดที่นักฟุตบอลจะเดินทางด้วยเครื่องบินได้ นักฟุตบอลจากยุโรปต้องเดินทางด้วยเรือเป็นสิบๆ วันกว่าจะไปถึงอุรุกวัย

          ถ้าเทียบกับการเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของนักฟุตบอลปัจจุบัน การเดินทางด้วยเรือของนักฟุตบอลสมัยนั้นน่าจะเรียกได้ว่าผจญภัยมาก เรือที่ใช้เดินทางชื่อ Conte Verde เริ่มรับทีมชาติโรมาเนียจากเมืองเจนัว (ประเทศอิตาลี) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1930 แล่นไปท่าเรือที่ฝรั่งเศส แวะรับทีมชาติฝรั่งเศส (พร้อมกับรับเอาจูลส์ ริเมต์ไปด้วย) ไปรับทีมชาติเบลเยียมที่บาร์เซโลนา แล้วก็ไปรับทีมชาติบราซิลที่ริโอเดอจาเนโรอีกทีหนึ่ง (แวะรับรายทางกันเป็นรถแดงเชียงใหม่เลย) กว่าจะไปถึงอุรุกวัยก็วันที่ 4 กรกฎาคม 1930 ใช้เวลาทั้งหมด 14 วัน

          อีกทางหนึ่งยิ่งหนักกว่านั้น ทีมชาติยูโกสลาเวียจองตั๋ว Conte Verde ไม่ทัน ต้องนั่งรถไฟสามวันเพื่อไปต่อเรือที่ฝรั่งเศส ส่วนทีมชาติอียิปต์ที่ตั้งใจว่าจะมาขึ้นเรือลำเดียวกันต้องตกเรือ เพราะเรือที่พวกเขานั่งมาจากแอฟริกาเจอพายุจนมาไม่ทันเวลา สรุปว่าอียิปต์เป็นชาติแรกที่อดไปบอลโลก ไม่ใช่เพราะตกรอบแต่เพราะตกเรือ

          อันที่จริงทีมชาติไทยก็เกือบจะได้ไปฟุตบอลโลกแล้วด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นไทย (ที่ยังชื่อสยาม) ก็เป็นสมาชิกฟีฟ่าและได้รับเชิญด้วย แต่ก็ปฏิเสธไปเพราะอุปสรรคเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย

          คำอธิบายนี้เป็นแบบที่แบล็ตเตอร์ว่าไว้ตอนที่เสนอไอเดียบอลโลก 2 ปีเลย เขาบอกว่าสมัยเริ่มจัดฟุตบอลโลกนั้นโลกมันไม่สะดวกอย่างทุกวันนี้ จะเดินทางก็ลำบาก จะสื่อสารก็ยาก เมื่อปัจจุบันสะดวกแล้วทำไมไม่จัดให้บ่อยขึ้นเสียล่ะ จะยึดติดกับแบบแผนเก่าทำไม (แต่หลายคนก็โจมตีไอเดียนี้ว่าอันที่จริงแล้วเป็นเพราะถ้าจัดบ่อยขึ้นฟีฟ่าก็จะได้เงินเยอะขึ้นเสียมากกว่า)

3. เหตุผลของอภิมหามหกรรมกีฬา

          การแข่งขันกีฬาระดับที่เป็นจุดรวมความสนใจของคนแทบทั้งโลกอย่างฟุตบอลโลกนั้นน่าจะเรียกว่าเป็น Mega Sport Event เรียกให้มันหน่อยก็อภิมหามหกรรมกีฬา

          อภิมหามหกรรมกีฬาหมายถึงการแข่งขันกีฬาที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งสื่อและคนทั่วโลก ระดับที่ทำให้หนังสือพิมพ์ทั่วโลกต้องพาดหัวข่าวเรื่องเดียวกัน สร้างสถานการณ์ที่คนทั่วโลกจะอยู่ในห้วงเวลาพิเศษและความสนใจเดียวกัน (เช่นรอดูการแข่งขันนัดเดียวกัน หรือการที่คนจำนวนมากหันมาดูบอลเฉพาะช่วงฟุตบอลโลก) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล รวมถึงเป็นกิจกรรมที่จะส่งให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างอย่างใหญ่หลวง (อย่างเช่นเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม และการรับรู้ที่คนมีต่อเมืองเจ้าภาพไปเลย)

          ด้วยที่อภิมหามหกรรมกีฬาใหญ่โตขนาดนี้ ถ้ามันเปลี่ยนวงรอบการแข่งขันก็จะส่งกระทบต่ออะไรมากมาย ประเด็นแรก เนื่องจากที่มันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เจ้าภาพจึงต้องลงทุนมากตามไปด้วย อย่างกรณีของฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลลงทุนไปถึงประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฟุตบอลโลก 2018 แค่เฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมเพื่อรองรับฟุตบอลโลกรัสเซียต้องลงทุนไปมากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ฯแล้ว ยังไม่นับรวมสนามที่ต้องสร้างใหม่อีกหลายสนาม

          บทเรียนที่น่ากลัวที่สุดของการลงทุนเป็นเจ้าภาพอภิมหามหกรรมกีฬาคือกรณีของกรีซที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2004 แล้วขาดทุนจนประเทศแทบล้มละลาย ส่วนบราซิลก็บอบช้ำไปกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2014 ไม่น้อย ดังนั้นถ้าจะจัดฟุตบอลโลกกันให้บ่อยขึ้น จะหาเจ้าภาพที่กล้าเสี่ยงมากพอได้ไหม (หรือถึงที่สุดแล้วแนวทางเจ้าภาพร่วมหรือจัดกระจายมันไปทั่วโลกเลยอย่างที่ยูโร 2020 กำลังทำก็อาจจะเป็นทางออกที่ดี?)

          ประเด็นที่สอง ฟุตบอลโลกไม่ได้เป็นอภิมหามหกรรมกีฬาที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มันห้อมล้อมไปด้วยอภิมหามหกรรมกีฬาและรายการกีฬาเล็กน้อยอยู่เต็มไปหมด 2 ปีถัดจากฟุตบอลโลกจะถึงคิวของโอลิมปิกและฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป รวมถึงฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีปและกีฬาอื่นในปีต่างๆ ยังไม่ต้องนับฟุตบอลสโมสรที่แข่งกันทั้งระดับประเทศระดับทวีปทุกปี แบบเดียวกับที่โอลิมปิกสมัยกรีกถูกห้อมล้อมไปด้วยไพเทียน เนมีน และอิสต์เมียน ต่างไปเพียงแค่ว่าเทพเจ้าชื่อธุรกิจที่อภิมหามหกรรมกีฬาปัจจุบันอุทิศตัวให้นั้นมันดูจะเข้มงวดกว่าเทพเจ้าอื่นๆ มาก

          อภิมหามหกรรมกีฬาได้สถาปนาห้วงเวลาพิเศษที่คนทั่วโลกมีร่วมกันขึ้นมา แต่ถ้าหลายๆ ห้วงเวลามันซ้ำซ้อนกัน บางความพิเศษก็อาจไม่พิเศษอีกต่อไป

          จะว่าไปแล้วอภิมหามหกรรมกีฬาอย่างฟุตบอลโลกก็เหมือนยักษ์ ถ้าทุกวันนี้ฟุตบอลโลกยังเป็นกีฬาเล็กๆ ที่ผู้เข้าแข่งต้องนั่งเรือไปเหมือนครั้งแรกก็คงไม่ยากอะไรที่จะปรับเปลี่ยน แต่สำหรับฟุตบอลโลกที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้แล้ว การขยับเพียงนิดเดียวของยักษ์ก็ส่งผลสะเทือนจนหญ้าแพรกต้องแหลกลาญได้ อภิมหามหกรรมกีฬาได้สถาปนาตัวเองให้ใหญ่โตจนปรับเปลี่ยนอะไรได้ยากแล้ว

          ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม จิอานี อินฟานติโน (Gianni Infantino) ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบันเพิ่งเสนอไอเดียจัดฟุตบอลโลกฉบับมินิทุกๆ 2 ปีขึ้นมา โดยจะมีแข่งขันแค่ 8 ประเทศ ถ้าฟุตบอลโลกฉบับมินิเกิดขึ้นได้จริง วงรอบ 4 ปีของฟุตโลกดั้งเดิมคงยิ่งเปลี่ยนได้ยาก

          จะ 4 ปีแล้วนะ… นับจากฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล อีกไม่กี่วันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียก็จะมาถึง วงการฟุตบอลกำลังจะได้แชมป์โลกรายใหม่หรืออย่างน้อยที่สุดก็หน้าเดิมที่ผ่านการแข่งขันพิสูจน์ตัวเองมาใหม่ ประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากก็มีผู้นำที่ดำรงตำแหน่งกันคราวละ 4 ปี ไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ได้ ฟุตบอลโลกก็เหมือนกัน …4 ปีแล้วนะ

 

Tags: , ,