ตอนค่ำของวันที่ 1 มีนาคม 1932 ฝนเริ่มซา ทว่ายังมีลมพัดแรงบริเวณโดยรอบเมืองโฮปเวลล์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ แม้ว่าสมาชิกครอบครัว รวมทั้งคนรับใช้จะอยู่ภายในบ้าน แต่กลับไม่มีใครได้ยินหรือสังเกต ว่าใครคนหนึ่งกำลังทาบบันไดพิงผนังบ้านฟากตะวันตกเฉียงใต้ และปีนเข้าไปในห้องนอนเด็ก ซึ่งมีชาร์ลส์—หนูน้อยเพิ่งนอนหลับไปได้ราวหนึ่งชั่วโมง คนแปลกหน้าอุ้มเด็กน้อยขึ้นจากเตียงลูกกรง ปีนบันไดลง และหายตัวไป

          ที่ข้างหน้าต่างมีจดหมายเรียกค่าไถ่วางทิ้งไว้ ระบุชื่อคนรับเป็นพ่อของเด็กชาย—ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) นักบินบุกเบิกที่มีชื่อเสียง นับตั้งแต่ปี 1927 ที่หนุ่มวัย 25 ขับเครื่องบินนอน-สต็อปจากนิวยอร์กไปลงที่ปารีสได้สำเร็จ ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษ และไม่ใช่แค่ในอเมริกาเท่านั้น

          ลินด์เบิร์กยอมจ่ายเงินค่าไถ่จำนวน 50,000 ดอลลาร์ แต่แล้วเขากลับไม่พบเห็นหน้าลูกชายของเขาอีก หกสัปดาห์ต่อมา คนขับรถบรรทุกไปเจอศพเด็กน้อย ถูกทิ้งอยู่ที่ริมถนน ไม่ไกลจากบ้าน การลักพาตัวและการฆาตกรรมในครั้งนั้นสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วสหรัฐอเมริกา สื่อหนังสือพิมพ์พากันเรียกร้องให้ลงโทษโจรลักพาตัวสูงสุดขั้นประหารชีวิต สภาคองเกรสแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อสาธารณชน และลงมติให้คดีลักพาตัวเป็นคดีพิเศษ โดยมีหน่วยงานชุดสืบสวน—ซึ่งต่อมาคือเอฟบีไอ รับผิดชอบคดีดังกล่าว

          สองปีครึ่งต่อมา ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง เขาถูกนำตัวขึ้นศาล และถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีฆาตกรรมชาร์ลส์ ลินเบิร์ก จูเนียร์ ชายคนดังกล่าวแสดงตัวมีพิรุธ ระหว่างชำระเงินด้วยธนบัตรสิบดอลลาร์ที่รับรองด้วยทองคำ ที่ปั๊มน้ำมันในย่านบรองซ์ของนิวยอร์ก สาเหตุเพราะรัฐบาลของแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ในขณะนั้นออกกฎให้เจ้าของกิจการเอกชนและร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้งเมื่อมีธนบัตรที่รับรองด้วยทองคำผ่านมือ และธนบัตรของชายผู้ต้องสงสัยนั้น มีการสืบทราบในภายหลังว่ามาจากกระเป๋าเงินค่าไถ่ของลินเบิร์ก

          ‘Crime of the Century’ เป็นประโยคเรียกขานของสื่อทุกแขนงในครั้งนั้น 80 กว่าปีผ่านมาในสหรัฐอเมริกาก็ยังคงกล่าวขานถึงคดีอาชญากรรมแห่งศตวรรษ เพียงแต่ว่าใจความปรับเปลี่ยนไป ทุกวันนี้นักวิจารณ์พุ่งประเด็นมาที่การตัดสินโทษประหารจำเลยที่ชื่อ บรูโน ริชาร์ด ฮอปต์มันน์ (Bruno Richard Hauptmann) ช่างไม้ชาวเยอรมัน ถือกำเนิดเมื่อปี 1899 ที่เมืองคาเมนซ์ อพยพเข้าอเมริกาแบบผิดกฎหมาย

          วันที่ 3 เมษายน 1936 ฮอปต์มันน์ถูกประหารด้วยไฟฟ้าขนาด 2,000 โวลต์ ในเรือนจำเทรนตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ร่างที่ถูกมัดบนเก้าอี้ของเขากระตุกอย่างแรง ปากเปิดกว้างราวกับจะแผดเสียงร้อง แต่กลับไม่มีเสียง การช็อตไฟครั้งที่สองทำให้ร่างของเขากระแทกกับเก้าอี้อย่างแรงอีกครั้ง ผู้คุมการประหารลงบันทึกการตายของฮอปต์มันน์เมื่อเวลา 20.47 นาฬิกา

          มีการถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ว่า การพิพากษาคดีของศาลระหว่างที่ฮอปต์มันน์ยังมีชีวิตอยู่ อาจขาดความยุติธรรม อย่างเช่น อีเลียนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt) ภริยาซึ่งมากความสามารถด้านการเมืองของประธานาธิบดี ยังเคยปรารภถึงการตัดสินคดีว่ายังขาดน้ำหนักและหลักฐานที่รัดกุม การสืบและสอบสวนสร้างความแคลงใจให้กับเธอเป็นอย่างมาก

          และที่น่าแคลงใจที่สุดของกระบวนการไต่สวนคดีก็คือ ลินด์เบิร์กขึ้นให้การต่อศาลในฐานะพยานด้วยตนเอง สองปีครึ่งหลังเหตุการณ์ลักพาตัว เขาเล่าว่า ในคืนที่นำเงินค่าไถ่ไปตามที่นัดหมายนั้น เขานั่งรถไปกับนักสืบชื่อ ดร.จอห์น คอนดอน (John Condon) เมื่อไปถึงสุสานในเขตบรองซ์ เขาซ่อนตัวอยู่ภายในรถ ห่างจากคอนดอนซึ่งออกไปเจรจากับโจรเรียกค่าไถ่ราว 70 เมตร เขาจำได้ว่า ชายคนนั้นกล่าวทักทายคอนดอนว่า “เฮ้ ด็อกเตอร์” อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนก่อนการไต่สวนคดีจะเริ่มขึ้นนั้น ลินด์เบิร์กเคยให้การว่าเขาจำเสียงชายผู้นั้นไม่ได้ แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าเขาได้ยินคำทักทายว่า “เฮ้ ด็อก” คณะลูกขุนไม่รู้สึกเคลือบแคลงใจกับคำให้การดังกล่าว เนื่องจากมีหลักฐานมัดตัวฮอปต์มันน์เรื่องเงินค่าไถ่ที่มีการค้นพบอยู่กับเขา จำนวน 15,000 ดอลลาร์ ส่วนหนึ่งถูกซ่อนไว้ในโรงรถ

          แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม การตัดสินคดีความยังสร้างความสับสน ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือของพยาน และการที่ฮอปต์มันน์เป็นผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว เวลาผ่านไป 40 ปี กว่าคดีนี้จะกลับมาเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์อีกครั้งว่า “บรูโน ฮอปต์มันน์บริสุทธิ์” ปี 1976 แอนโธนี สคาดูโต (Anthony Scaduto) นักข่าวเขียนบทความลงในนิวยอร์ก แมกกาซีน รายงานว่าฮอปต์มันน์กลายเป็นแพะรับบาป เพราะตำรวจจำต้องหาตัวคนร้ายให้ได้ตามเสียงเรียกร้องของสื่อ และคนที่เหมาะ-สอดคล้องกับเหตุการณ์มากที่สุดเป็นใครไม่ได้เลย นอกจากหนุ่มเยอรมัน ผู้มีประวัติอาชญากรรมและเคยต้องโทษจำคุกในบ้านเกิดมาแล้ว…ตามที่ตำรวจแห่งนิวยอร์กกล่าวอ้าง

          สคาดูโตมองว่า ฮอปต์มันน์กลายเป็นเหยื่อของการตัดสินคดีโยกโย้ หลักฐานต่างๆ ในสำนวนฟ้องของตำรวจและอัยการล้วนมีการเติมแต่งและปลอมแปลง จากนั้นเขาก็เล่าเรื่องราวในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของฮอปต์มันน์ – ฮอปต์มันน์ให้การในศาลว่า เงินที่ตำรวจไปเจออยู่กับตัวเขานั้น ความจริงแล้วเป็นของเพื่อนและหุ้นส่วนชื่อ อิซิดอร์ ฟิช (Isidor Fisch) ซึ่งเป็นพ่อค้าขนสัตว์ชาวเยอรมัน ที่เพิ่งเดินทางกลับไปเยอรมนีก่อนหน้านั้นไม่นาน และเสียชีวิตลงด้วยวัณโรค เนื่องจากฟิชเป็นหนี้เขาอยู่ เขาจึงถือวิสาสะยึดเงินจำนวนนั้นไว้ และเพิ่งนำออกมาใช้จ่าย

          ภาพและข้อมูลหลักฐานที่สคาดูโตค้นพบ พิสูจน์ได้ถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างฮอปต์มันน์และฟิช นอกจากนั้นอิซิดอร์ ฟิชยังเคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อนการจับกุมตัวฮอปต์มันน์ถึงหนึ่งปี เพราะหลังจากได้รับเงินค่าไถ่มาแล้ว ฟิชพยายามจะปล่อยเงินธนบัตรในย่านบรองซ์ อีกทั้งยังใช้เงินส่วนนั้นจ่ายเป็นค่าเรือโดยสารเพื่อเดินทางกลับไปเยอรมนี หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีปรากฏอยู่ในแฟ้มคดี เพียงแต่ไม่มีการหยิบยกมากล่าวถึงในการไต่สวนคดี

          ตั้งแต่ปี 1982 เริ่มมีการรื้อฟื้นคดีใหม่ ฝ่ายกฎหมายสามารถเข้าถึงข้อมูลคดี รวมถึงเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ทนายของอันนา ฮอปต์มันน์ (Anna Hauptmann) ภรรยาหม้ายของฮอปต์มันน์ ที่เชื่อว่าสามีของตนเองบริสุทธิ์มาโดยตลอด ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในนิวอาร์คเพื่อเอาผิดกับรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทีมเจ้าหน้าที่สืบสวน และทนายอัยการ

          จากแฟ้มคดีของเจ้าหน้าที่สืบสวน ชวนให้สงสัยพยานที่ให้การว่าเห็นจำเลยบริเวณใกล้ๆ กับบ้านของลินด์เบิร์ก เพราะพยานคนดังกล่าวลงทะเบียนเป็นคน ‘กึ่งบอด’ ไว้กับหน่วยงานสาธารณสุขนิวยอร์ก ในขณะที่พยานอีกคนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของลินด์เบิร์ก ให้การกับตำรวจหลังเหตุการณ์ลักพาตัวว่า “ไม่ผิดสังเกตอะไร” แต่เมื่อตำรวจสัญญาว่าจะมอบเงินรางวัลนำจับให้ เขาก็เปลี่ยนคำให้การในเวลาต่อมา ส่วนทนายอัยการก็ให้การปกปิดต่อศาลเรื่องที่นักสืบคอนดอนเดินทางไปที่สถานีตำรวจ แต่ไม่ชี้ตัวฮอปต์มันน์ว่าเป็นคนร้ายที่รับเงินค่าไถ่ในสุสาน ตรงกันข้ามกัน เมื่อทนายอัยการกล่าวต่อคณะลูกขุน เขากลับอ้างว่านักสืบจำได้ว่า ฮอปต์มันน์คือชายคนที่นัดหมายไปส่งมอบเงินค่าไถ่

          ทนายของฝ่ายภรรยาหม้ายระบุลงในคำฟ้องว่าทั้งหมดล้วนเป็นคำให้การเท็จของเจ้าหน้าที่สืบสวนชุดนั้น รวมทั้งร่องรอยนิ้วมือบนซองบรรจุเงินค่าไถ่ ที่แม้จะตรวจพบในห้องแล็บจริง แต่มันไม่ใช่เป็นรอยนิ้วมือของฮอปต์มันน์ นั่นคือข้อมูลหลักฐานจริง ที่คณะลูกขุนและศาลไม่มีโอกาสได้รับรู้ หรือแม้กระทั่งรอยเท้าแตกต่างกันสองรอยที่ตำรวจตรวจพบในที่เกิดเหตุ ทั้งสองรอยนั้นไม่ตรงกับขนาดรองเท้าของฮอปต์มันน์เลย

          อันนา ฮอปต์มันน์ต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของสามีจนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1994 ยืดเยื้อยาวนานแต่ยังประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นคดีลินด์เบิร์กกลายเป็นคดีอาญาที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์กฎหมายของอเมริกา ไม่ว่าฮอปต์มันน์จะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือใครอื่นอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัว ล้วนเป็นที่มาของทฤษฎีต่างๆ มากมาย

          โรเบิร์ต อาร์. ไบรอัน (Robert R. Bryan) ทนายชาวอเมริกัน ยังคงติดตามคดีมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2012 หลังเหตุการณ์ลักพาตัวผ่านพ้นไปแล้ว 80 ปี เขาเดินทางไปยังบ้านเกิดของฮอปต์มันน์ที่ใกล้เมืองเดรสเดน และพูดถึงความไม่ยุติธรรมของศาลที่นั่น เขาเดินทางไปยังเมืองคาเมนซ์ เพื่อค้นหาความจริง และเพื่อให้ชายผู้เป็น ‘แพะรับบาป’ ได้นอนตายอย่างสงบ 

          ไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดการประหาร ฮอปต์มันน์ได้รับข้อเสนอจากคณะศาล จะเปลี่ยนจากโทษประหารเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน หากว่าเขายอมเซ็นรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิด ฮอปต์มันน์ปฏิเสธ เช่นเดียวกับข้อเสนอของหนังสือพิมพ์ ที่จะมอบเงินจำนวน 90,000 ดอลลาร์เป็นค่าเลี้ยงดูภรรยาของเขา ถ้าเขายอมรับผิด

          เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ด้วยการโกหก ฮอปต์มันน์ให้คำตอบ “ผมยอมตายทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดเสียดีกว่า”

อ้างอิง:

Spiegel Online

www.fbi.gov

Roland Dantz & Frank Oehl, Jahrhundertverbrechen: Bruno Richard Hauptmann und die Entführung des Lindbergh-Babys, Ed. Sächsische Zeitung, 2014