ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่เรื่อง ‘พานไหว้ครู‘ จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับชาติ แม้กระทั่ง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาบอกว่า “ต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง เด็กมันจะติดเองได้ยังไง”
นัยหนึ่งก็ประหลาดใจว่าเด็กนักเรียนมัธยมในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายและ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในสังคมหรือประเทศเดียวกันหรือเปล่า และที่น่าประหลาดใจก็คือปรากฏการณ์การแชร์รูปพานไหว้ครูที่รวบรวมได้เมื่อวาน ซึ่งไม่ได้มาจากแค่โรงเรียนในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โรงเรียนเดียวเท่านั้น แต่มาจากหลายโรงเรียนและเป็นไปในทิศทางเดียวกันแทบทั้งสิ้น
นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เราก็เคยเห็นปรากฏการณ์การใช้พื้นที่ในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษาผ่าน ‘ขบวนล้อการเมือง‘ หรือ ‘การแปรอักษร‘ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา–ธรรมศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สังคมไทยรอจับจ้องในทุกครั้งที่งานฟุตบอลประเพณีเวียนมาถึง ปรากฏการณ์พานไหว้ครูล้อการเมืองก็เช่นเดียวกันเพียงแต่ย้ายกลุ่มจากคนรุ่นใหม่วัยมหาวิทยาลัยลงมาสู่วัยมัธยม ซึ่งไม่แน่ว่าในปีหน้าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีกจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติดังเช่นงานฟุตบอลประเพณีก็ได้
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการ ‘ล้อการเมือง‘ ที่ขยายช่วงวัยจากวัยมหาวิทยาลัยมาสู่วัยมัธยมนั้นตอกย้ำให้เราเห็นว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน‘
แม้เด็กวัยมัธยมจะยังไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันถือเป็นก้าวแรกในการใช้สิทธิทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยได้ก็ตามที พานล้อการเมืองครั้งนี้จึงเสมือนเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่า ความคิดเห็นทางการเมือง การกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิใช้เสียงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ตาม แต่เมื่อเราต้องอยู่ภายใต้การเมืองการปกครองเดียวกัน สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองย่อมเป็นของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย จะออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงว่าเรื่องบางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับประชาชน
พานการเมืองของเด็กวัยมัธยมในครั้งนี้จึงเป็นตัวสะท้อนให้เห็นได้อย่างดีว่า แม้จะยังไม่มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดอนาคตของชาติผ่านการเลือกตั้ง แต่เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของพวกเขาด้วย และที่จริงมันเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง
ความน่าสนใจมากกว่านั้นที่ทำให้เรื่องนี้กลายไปเป็นไฟลามทุ่ง ก็คือปฏิกิริยาจากผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทั้งหลาย ทั้งการมีข่าวว่ามีการให้ทหารไปข่มขู่ให้ลบภาพดังกล่าวออกจากโซเชียลมีเดีย ก่อนที่จะแก้ข่าวพัลวันตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการโรงเรียนไปจนถึงสถาบันทหารเลยทีเดียว หรือการที่ นายพิพัฒน์ ศรีสุขพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน พยายามจะอธิบายความหมายของพานเจ้าปัญหาซึ่งเป็นรูปตราชั่ง โดยข้างหนึ่งเป็นรูป ส.ว 250 เสียง และอีกข้างมีรูปธงชาติไทยและเขียนว่าหลายล้านเสียงว่า
“ส่วนพานรูปตาชั่งนั้น แสดงให้เห็นว่า ส.ว.เป็นตัวแทนของคนหลายล้านคนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนด รูปที่ถ่ายออกมาตาชั่งมองดูเอียง เพราะเป็นการถ่ายด้านข้าง ประกอบการติดกาวไม่ดีจึงทำให้เอียง”
ซึ่งแน่นอนว่า…ผิดไปจากความหมายที่ผู้คนในโซเชียลฯ ตีความกัน
หรือแม้กระทั่ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงความกังวลในเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเด็กวัยนี้ชี้นำง่าย ต้องเร่งเปลี่ยนความคิด กลัวจะถูกประชาธิปไตยล้างสมอง
และแน่นอนเมื่อกล่าวถึงคำว่าประชาธิปไตย ประเด็นนี้เรื่องก็ถูกโยงไปยังพรรคอนาคตใหม่ว่ายุ่งเกี่ยวหรืออยู่เบื้องหลังทั้งในเหตุการณ์ครั้งนี้หรือภายใต้แนวความคิดที่แสดงออกผ่านการทำพานไหว้ครูในครั้งนี้
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่คาดการณ์ได้ เพราะเรื่องนี้เกิดจากฝีมือของเยาวชนและที่สำคัญคือเกิดขึ้นในโรงเรียน อย่างที่รู้กันว่าแบบเรียนและโรงเรียนนั้นคือเบ้าหลอมอุดมการณ์ทางความคิดของทุกคนที่เคยผ่านการศึกษาภาคบังคับมาก่อน ผ่านการออกแบบเนื้อหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง วัฒนธรรมหรือสังคม ภายใต้ชุดความคิดเดียวเพื่อสถาปนาแนวคิดเรื่องรัฐชาติที่ต้องมีความเป็นเอกภาพทางสังคม ส่งผ่านแนวคิดนี้ด้วยการปลูกฝังผ่านการศึกษา การท่องจำ การนำไปตอบข้อสอบเพื่อสร้างประชาชนในรูปแบบที่เอื้อต่อการดำรงอยู่อย่างไม่สั่นคลอนของรัฐชาติภายใต้การปกครองของกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการให้มีเพียงอุดมการณ์หรือแนวความคิดเดียวที่สนับสนุนการดำรงอยู่ในอำนาจของตน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยที่พร่ำสอนในแบบเรียนที่เน้นเรื่องระบบระเบียบการปกครองมากกว่าจะทำให้เข้าใจหัวใจหลักของประชาธิปไตยหรือการทำความเข้าใจเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยภายใต้ประเด็นการเมืองการปกครองอย่างได้แท้จริง ที่สำคัญก็คือมันมีเพียง ‘เรื่องเล่าเดียว‘ ที่เอาไว้ท่องเพื่อตอบข้อสอบ ที่เอาไว้ปลูกฝังอุดมการณ์หรือแนวความคิดไม่ให้ผิดไปจาก ‘แบบแผนที่กำหนด‘ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ 2475 การพระราชทานรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ 35 หรือแม้กระทั่งการล้อมปราบในเดือนพฤษภา 53 ยังไม่รวมถึงการปฏิวัติรัฐประหารต่างๆ ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการคิดต่าง การได้รับรู้ข้อมูลในอีกด้าน หรือแม้กระทั่งชุดความคิดอื่นๆ และแน่นอนว่าหากมีชุดความคิดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากที่แบบเรียนในโรงเรียนพร่ำสอนเพื่อออกข้อสอบนั้น คำตอบนั้นถือเป็นคำตอบที่ผิด
มันมีเพียง ‘เรื่องเล่าเดียว‘ ที่เอาไว้ท่องเพื่อตอบข้อสอบ ที่เอาไว้ปลูกฝังอุดมการณ์หรือแนวความคิดไม่ให้ผิดไปจาก ‘แบบแผนที่กำหนด‘
พานไหว้ครูล้อการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเอาเรื่องการเมืองมาอยู่บนพานไหว้ครู ซึ่งถือเป็นวันที่นักเรียนจักต้องแสดงความเคารพต่อครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ อันมีแบบแผนตายตัวว่าจะต้องเป็นพานดอกไม้ ทั้งดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกเข็ม หญ้าแพรก มะเขือเปราะ รวมไปถึงธูปเทียน เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่ถูกกาลเทศะ และไม่เคารพวัฒนธรรมประเพณี อีกทั้งยังรวมไปถึงว่าเด็กไม่ควรจะยุ่งกับการเมือง มีความคิดเห็นทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นผ่านความสร้างสรรค์ผ่านการจัดพานครั้งนี้เป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม เพราะถูกล้างสมองมา
พานไหว้ครูล้อการเมืองของเด็กวัยมัธยมที่กลายเป็นข่าว กลายเป็นประเด็นในสังคมอยู่ในตอนนี้ จึงเหมือนกับเป็นการพยายามที่จะตอบคำถามไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบแผนประเพณี หรือเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองในแบบอัตนัย จากความคิดของผู้ตอบข้อสอบ ซึ่งมันต่างไปจากคำตอบสำเร็จจากบทเรียน จากในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งจาก ‘ผู้ใหญ่‘ ที่พยายามจะทำให้คำตอบในสังคมนี้มีเพียงคำตอบเดียว ในแบบที่พวกเขาคิดและอยากให้เป็นเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจในการปกครอง ไม่ให้ผู้ถูกปกครองที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาและจะมีสิทธิมีเสียงใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศคิดเห็นต่างและสร้างความกระด้างกระเดื่องในอนาคต
บางทีก็อยากจะชวนผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองนี้มาร่วม ‘ตอบผิด‘ ไปด้วยกัน
อ้างอิง
https://www.sanook.com/news/7803286/
https://www.khaosod.co.th/politics/news_2617160
https://waymagazine.org/way_2_read_nationalstate/
Tags: การเมือง, การเมืองไทย, เยาวชน, ล้อการเมือง, คนรุ่นใหม่, พานไหว้ครู