ในวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีงานกิจกรรมนักศึกษาที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสื่อมวลชนและสาธารณะเกิดขึ้น ซึ่งก็คืองานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

งานประเพณีนี้ดำเนินมายาวนานต่อเนื่องกว่า 73 ปี เป็นระยะเวลาที่เรียกได้ว่าใกล้เคียง เรียงไล่มากับระยะเวลาที่สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบบประชาธิปไตย จึงอาจจะไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงนัก ถ้าหากเราจะกล่าวว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวโยงกันบางอย่างอยู่

อาจจะเพราะทั้งสองเหตุการณ์อยู่เคียงคู่ สนิทสนมกันมานาน เราจึงมักจะเห็นการกัดจิก ตบหัวลูบหลัง ไม่ว่าด้วยความรักหรือชัง บ่อยครั้งที่เป็นฝ่ายนักศึกษาที่กดคมเขี้ยวฝังลึกลงไปในสังคมที่แน่นิ่งให้ลุกพรวดตื่นตัว แต่ก็มีบางครั้งเช่นกันที่ฝ่ายถือปืนชูอาวุธขึ้นฟ้า ก่อนบรรเลงกระสุน 3 นัด ปัง ปัง ปัง! เป็นประโยคว่า “การเมือง ไม่ใช่ เรื่องของเด็ก”

เพราะ The Momentum เชื่อว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’ เราจึงชวนกัปตันทีมงานล้อการเมือง-สะท้อนสังคมของทั้งสองฟาก ได้แก่ เฟม – ณัฏฐนิช บุญเรือง นิสิตปี 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ประธานขบวนสะท้อนสังคม, ปลาย – ธนวรรณ อนุสนธิ นิสิตปี 4 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ประธานขบวนสะท้อนสังคม และ บีม – ธรรมธวัช ธีระศิลป์ นักศึกษาปี 3 คณะศิลปศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มธ. ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง มาพูดคุยถึงความพร้อม มุมมอง และทัศนความคิด ทั้งในฐานะประธานขบวนพาเหรดล้อการเมือง/สะท้อนสังคม ในฐานะนักศึกษา และในฐานะมืออีกหนึ่งคู่ที่จะสร้างสรรค์อนาคตของประเทศไทย

งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-มธ.

(ซ้าย) เฟม – น.ส.ณัฏฐนิช บุญเรือง ชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปธ.ขบวนสะท้อนสังคม

(ขวา) ปลาย – น.ส.ธนวรรณ  อนุสนธินิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ปธ.ขบวนสะท้อนสังคม

บีม – ธรรมธวัช ธีระศิลป์ ปธ.กลุ่มอิสระล้อการเมือง มธ.

งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีความสำคัญอย่างไร

ปลาย : งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นงานที่ร่วมกันระหว่างสองมหา’ลัย มันฝึกการทำงานของแต่ละมหา’ลัย และก็มาสนุกร่วมกันด้วย มีคอนเสิร์ต มีแสตนด์เชีบร์ มีขบวนสะท้อนสังคม ขบวนล้อการเมือง อะไรต่างๆ คิดว่าเป็นจุดรวมพลคนเลยก็ว่าได้

เฟม : รู้สึกว่าเป็นงานหนึ่งที่ใหญ่มาก และคนจับตามอง รู้สึกว่าข้างในนั้นที่มีกิจกรรมต่างๆ จะสะท้อนและทำให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละมหา’ลัยได้ดี

บีม : เป็นงานที่สองมหาวิทยาลัยของเมืองไทยจะมาเผชิญหน้ากัน แต่ไม่ว่าหลังจากการแข่งขันจะจบยังไง เขาก็จะต้องเป็นมิตรกัน สองมหา’ลัยจะทำงานร่วมกัน จัดงานรื่นเริงด้วยกัน และที่สำคัญคือสังคมคาดหวังในตัวคนจากสองมหาวิทยาลัยนี้ ที่จะก้าวขึ้นไปทำประโยชน์ให้กับสังคมในระยะเวลาต่อไป

เราจะได้เห็นอะไรบ้างจาก จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในงานบอลครั้งนี้

ปลาย : หู๊ววววว ก็เยอะหลายอย่าง ด้วยความที่ว่าปีนี้มีอะไรแปลกใหม่เปลี่ยนไปหลายอย่าง เช่น ขบวนสะท้อนสังคม หลายปีที่ผ่านมาอาจจะทำเชิงล้อเลียนการเมือง แต่ปีนี้อยากทำให้มันสะท้อนปัญหาของสังคมจริงๆ ก็อยากให้รอดูว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน

เฟม : คิดว่าจะได้เจอความแปลกใหม่ เช่น มีอะไรหลายๆ อย่างที่เพิ่มขึ้นมากว่าปีก่อนๆ ให้ทุกคนลองมาติดตามและลุ้นไปด้วยกันว่ามีอะไรบ้าง

บีม : หลายอย่างทั้งแปลอักษร เชียร์ลีดเดอร์ หรือแม้กระทั่งขบวนล้อการเมือง ซึ่งขบวนล้อการเมืองเป็นขบวนที่แสดงออกทางการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ เราไม่ได้มาเป็นม็อบประท้วง แต่เราแค่เป็นเสียงของนักศึกษาว่าเราต้องการอะไร เราจะพูดอะไร แต่เราไม่ได้แสดงออกด้วยการด่า ไม่ได้แสดงออกอย่างหยาบคาย เราแสดงออกผ่านงานศิลปะ คือป้ายผ้า และก็หุ่นล้อครับ

ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา รวมถึงคนรุ่นใหม่ คิดว่าตัวเองมีความเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างกับการเมือง

บีม: นักศึกษาจบไปก็ต้องอยู่ในสังคม เขาเป็นคนนึงที่ต้องหาเลี้ยงชีพ อยู่ในสังคมที่มีรัฐ ทีนี้การเมืองเกี่ยวข้องกับเราทุกคน อย่างปัญหาฝุ่น การเมืองมันก็มีบทบาทว่าเราจะช่วยลดมลพิษยังไง เพราะฉะนั้นการเมืองมันเกี่ยวพันธ์กับชีวิตเรา

อีกอย่างคือ มันมีสุภาษิตโบราณอยู่ว่า ‘ถ้าคนฉลาดไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สุดท้ายจะได้คนโง่มาปกครอง’ อันนี้ไม่ได้อ้างอิงถึงบุคคล หรือประเทศใดประเทศหนึ่งนะ มันเป็นสุภาษิต

ปลาย: การเมืองในทุกวันนี้ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ ถึงแม้บางอย่างอาจจะยังไม่ใช่ขนาดนั้น แต่ว่าอย่างน้อยเราก็พอมีสิทธิ์ มีเสียง ในการปกครองบ้านเมืองบ้าง อย่างเช่น ล่าสุดกำลังจะมีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เราจะได้มีส่วนร่วมกับการเมือง

เฟม: คนรุ่นใหม่เป็นอนาคตของชาติ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่างที่กล่าวมา ถ้ามีการเลือกตั้งก็ต้องออกไปเลือกตั้ง และก็ต้องมีความคิด ตระหนักถึงปัญหาในปัจจุบันให้มากกว่านี้

อาจจะมีบางคนบอกว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่ต้องติดตามข่าวเรื่องนี้ แต่พอลองมาคิดดีๆ แล้ว ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง การเดินทาง มันอยู่ในชีวิตของเรา เหมือนกับว่าการเมืองมันแทรกไปในทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ยังไงเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในการเมือง เพราะฉะนั้นเราต้องใส่ใจให้มากขึ้น

มองภาพสังคมไทยตอนนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ?

ปลาย : ล่าสุดเลยคือ เรื่องฝุ่น PM.2.5 เอาจริงๆ มันมีมานานแล้ว มันแค่มาเยอะขึ้นช่วงนี้ เพราะว่าเป็นช่วงที่สภาพอากาศนิ่ง วิธีการแก้ปัญหามีเยอะมาก ถ้าเบื้องบนลองปรึกษานักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย คนเหล่านี้จะรู้วิธีการแก้ที่ถูกต้อง แต่ว่าถ้าเขาคิดเอง เออเอง เขาอาจจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการแปลกๆ ก็ยังไม่เคยเจอประเทศไหนที่พ่นน้ำใส่ถนนนะคะ

เฟม : การปกครอง ถ้าการปกครองเปลี่ยนไปในรูปแบบที่ถูกต้องและควรจะเป็น ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด เช่น เราพูดว่าเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ตอนนี้มันเป็นแค่ชื่อ เนื้อในของมันไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าเปลี่ยนการปกครอง เปลี่ยนการดำเนินงาน ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมดเลย เพราะตอนนี้คนที่ควบคุมสังคม คือคนที่มีอำนาจ

บีม : เยอะ ในทางการเมือง หลายเรื่องถูกปิดกั้น ความคิดใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นถูกกรอบความคิดเก่าๆ กดเอาไว้ไม่ให้เกิด ทั้งๆ ที่สิ่งที่กดเอาไว้อาจจะเป็นสิ่งที่ตกยุคหรือล้าหลังไปแล้ว สิ่งใหม่ที่ดีกว่ามันจึงไม่มีสิทธิ์จะเข้ามาแทนได้ อย่างในแง่ของเศรษฐกิจ ประเทศนี้กลายเป็นประเทศของคนรวยกระจุกเดียว กับคนจนอีก 99 เปอร์เซนต์ นอนกองอยู่ที่ฐานต้องดิ้นรนต่อไป

ถ้าระบบการเมืองในประเทศเราเป็น ‘ประชาธิปไตย’ คนอย่างผม คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพก็อาจสามารถเข้ามาชี้นำ หรือมีบทบาทในกำหนดนโยบายได้ แต่ถ้าระบบการปกครองเป็นเผด็จการ อำนาจจะอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย การตัดสินใจหรือการบริหาร อยู่ในมือคนหรือองค์กรกระจุกเดียว

คิดว่าคนรุ่นใหม่ รุ่นราวคราวเดียวกับเรา ใส่ใจการเมืองกันพอหรือยัง

บีม:  มันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะไม่สนใจการเมือง มันเป็นสิทธิ์ส่วนตัวเลยแหละ ผมไม่สามารถไปบังคับอะไรเขาได้ แต่ว่าเขาควรจะรู้ว่าการเมืองมันมีผลกระทบต่อชีวิต สังคม และอนาคต อยากให้เขามาสนใจและกระตือรือร้นกับปัญหาเหล่านี้

แต่ผมขอเสริมว่าประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่กับความคิดใหม่ มันไม่เสมอไป เด็กรุ่นใหม่อาจจะมีความคิดเก่า ในทางกลับกัน คนรุ่นเก่าอาจจะมีความคิดใหม่ ฉะนั้นเรื่องพวกนี้ประเด็นมันอยู่ที่ความคิด

ปลาย: ตามความคิดของเรา แต่ละคนก็มีความสนใจด้านการเมืองอยู่ โซเขียลมีเดียในทุกวันนี้มันเร็วมาก พอมีเรื่องอะไร เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง ยิงน้ำจากตึกไบหยก พอมีข่าวอะไรพวกนี้ปุีป ตอนเช้าก็มาเม้าท์กัน มันแสดงให้เห็นว่า คนรอบข้างเราก็สนใจในด้านการเมืองอยู่ แต่ว่าในบางทีอาจจะควรระวังเรื่อง Fake News (ข่าวปลอม) สังคมเราขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว แต่ถ้าถามว่าคนรุ่นใหม่ หรือคนรอบกายสนใจการเมืองไหม ตอบได้เลยว่า สนใจ

เฟม: ของเราก็เหมือนกัน อย่างเดินมาเจอเพื่อนตอนเช้าก็แบบ บ่นนู้นๆ นี่ ก็จะบ่นเรื่องการเมืองเป็นส่วนมาก เพราะว่าทุกคนอยากเลือกตั้ง ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการเมือง แต่ก่อนเพื่อนอาจจะไม่ได้พูดเรื่องนี้กันมากนัก เพราะว่าคนมองว่าการเมืองคือการอยู่ในสภา คุยกันเรื่องทางการที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ และเราคิดว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่สามรถเปลี่ยนอะไรได้ ก็เลยเลือกที่จะเงียบไว้ดีกว่า ให้ผู้ใหญ่เป็นคนจัดการ แต่ว่าปัจจุบันเริ่มตระหนักมากขึ้น เพื่อนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเริ่มใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น

คิดว่าสังคมไทยตอนนี้พร้อม มาก-น้อย แค่ไหนกับประชาธิปไตย

เฟม : คิดว่ายังไม่พร้อมขนาดนั้นสำหรับประชาธิปไตย เพราะว่าหลายคนยังนิ่งนอนใจกับการทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะทุกคนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ประชาธิปไตยคืออะไร

ปลาย: จริงค่ะ อย่างบางคนรอบกายเราก็แบบว่า ไม่ไปเลือกตั้งดีกว่า ถึงเลือกมันก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ดี แต่เอาจริงๆ มันควรจะไป เพราะว่ามันเป็นสิทธิ์เสียงของเรา มันเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เราจะเลือกคนมาบริหารประเทศต่อไป

บีม: ผมคิดว่าประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าพร้อมแล้วถึงจะมี ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศษ การปฏิวัติประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นตอนคนไม่รู้หนังสือ และไม่ได้มีความเจริญเหมือนในทุกวันนี้ แต่ว่าเขาตัดสินใจทดลองผิด-ถูก จนประชาธิปไตยมันเข้มแข็ง ฉะนั้นคำถามที่ว่า สังคมพร้อมไม่พร้อมกับประชาธิปไตยเนี่ย เราควรต้องกลับไปถามว่า เราได้ลองผิด-ถูกจนประชาธิปไตยของเราเดินไปอย่างถูกต้อง และเข้มแข็งหรือยังมากกว่า

อย่างที่ผมบอก เราทดลอง ผิดพลาดแก้ใหม่ ผิดพลาดแก้ใหม่ ถูกต้อง ทำดีแล้วก็เดินต่อไปและทำให้ดีขึ้น ชิกสุกก่อนห่าม เป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อบอกว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมกับประชาธิปไตย คำถามคือ ถ้าเรารอให้พร้อมจริงๆ มันจะไม่มีทางเกิดขึ้น เราต้องให้มีประชาธิปไตยเสียก่อน และฟูมฟักให้ประชาธิปไตยมันเติบโตขึ้น

คำถามที่ว่า สังคมพร้อมไม่พร้อมกับประชาธิปไตยเนี่ย เราควรต้องกลับไปถามว่า เราได้ลองผิด-ถูกจนประชาธิปไตยของเราเดินไปอย่างถูกต้อง และเข้มแข็งหรือยังมากกว่า

มันมีการแปะป้ายบางอย่างระหว่างภาพลักษณ์ของสองมหาวิทยาลัย คิดว่าความแตกต่างตรงนี้ส่งผลดี-ร้าย อย่างไรบ้าง

ปลาย: เอาจริงๆ คนภายนอกหลายคนอาจจะมองว่าเราตีกันหรืเปล่า แต่จริงๆ คือตีกันไหมค่ะ (หันไปถามมธ.และหัวเราะ) มันไม่ได้ทะเลาะกันอะไรขนาดนั้น เราคิดว่ามันเป็นสีสันมากกว่า อย่างการแปลอักษรล้อกันมันคือสีสัน ไม่ใช่การทะเลาะกัน

บีม: ในความแตกต่างมันก็มีความเหมือนนะครับ จุฬาฯ ที่เป็นลิเบอรัล หัวก้าวหน้าก็เยอะ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็เยอะ เพราะฉะนั้น สองมหา’ลัยนี้อาจจะถูกตีตราว่าเป็นคนละขั้ว แต่ความจริงแล้วผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมากหรอกครับ แต่เพราะว่าประวัติศาสตร์ของสองมหา’ลัยมันมาคนละทาง และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราแข่งกีฬากัน มันก็ต้อง ’ขิง’ (แสลงวัยรุ่น แปลว่า ข่ม) กัน ปะทะกัน แต่ไม่ถึงกับลงไม้ลงมือกัน

ในชมพู มีแดงอยู่เสมอ

วาทะ ‘ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’ คำกล่าวนี้ยังคงกล่อมเกลาคนธรรมศาสตร์รุ่นปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน

บีม: โอ้ อันนี้ยากเลย เพราะว่าบางคนอาจจะไม่อิน แต่ถ้าถามตัวผมเอง คำว่าธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน มันทำให้เรารู้ว่า เฮ้ย! เราไม่ได้เรียนเพื่อให้มีความสุข สนุก สบายอย่างเดียวนะ มหา’ลัยของเราเป็นมหา’ลัยของรัฐ เรามีภาษีประชาชนหนุนหลัง เราจบไปจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม เราก็ควรคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ไว้ และตอบแทนพวกเขาเท่าที่เราทำได้

ธรรมศาสตร์มักจะถูกตรีตราด้วยภาพลักษณ์ของวายร้าย ด้วยการจัดขบวนล้อการเมือง การกัดนู่น จิกนี่ รู้สึกอย่างไรและคิดว่าอะไรทำให้คนมองอย่างงั้น

บีม: อะไรทำให้คนมองว่าเป็นวายร้าย อันนี้ผมไม่ค่อยเข้าใจ บางทีเราอาจจะติดภาพว่ามันมีสิ่งดีมันก็มีสิ่งชั่ว เป็นเหมือนขาว-ดำ แต่บางทีมันมีความเทาๆ อย่างขบวนล้อการเมือง ผมว่ามันเป็นอะไรที่ดีมากๆ ทำไมคนมันถึงไม่ยอมรับว่ามันตลกขบขันดี มันเป็นอะไรที่สร้างสรรค์ดี แต่ผมว่าบางทีมันขี้นอยู่กับมุมมองของคน และขึ้นอยู่กับว่าเขามีอคติมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขามีอคติมาก เขาก็จะมองว่าธรรมศาสตร์เป็นวายร้าย สร้างความวุ่นวาย ประท้วงอยู่นั่นหละ จริงๆ มันติดอยู่กับอคติคนล้วนๆ

ผู้คนมักจะมองว่าธรรมศาสตร์เป็นพวกเสรีนิยม ดื้อดึง ไม่เคารพกฎเกณท์ วิจารณ์นู้น วิพากษ์นี่ไปเสียทุกอย่าง คิดอย่างไร

บีม: ผมว่า ‘หัวรุนแรง’ บางทีมันไม่ได้ติดอยู่ว่าคุณจะด่าคนอื่นอย่างเดียว อย่างตอนกาลิเลโอ เขาเสนอว่าจริงๆ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปัจจุบันเราก็รู้ว่ามันจริง มันพิสูจน์ได้ แต่ตอนที่กาลิเลโอพูดเรื่องนี้ เขาถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและก็ถูกขังคุก ทั้งๆ ที่กาลิเลโอไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นศาสนา เขาแค่ต้องการเสนอความจริง เนี่ยล่ะ ธรรมศาสตร์ก็แบบนี้อะครับ บางเรื่องที่เราประท้วง เราแค่อยากจะเห็นประชาธิปไตย เราแค่อยากจะเห็นสังคมเป็นไปอย่างที่เราต้องการ เพียงแค่การแสดงออกบางอย่างอาจจะไม่ค่อยถูกใจคน และคนจำนวนมากอาจจะมองว่า เห้ย! หัวรุนแรงวะ พวกนี้ควรจับไปขัง ถูกปราบให้เด็ดขาดไป ผมว่ามันก็ไม่ถูกต้อง ก็เหมือนอย่างตัวอย่างกาลิเลโอที่ยกไป

สังคมส่วนใหญ่มองว่าจุฬาฯ เป็นผ้าขาวซึ่งถูกรีดไว้อย่างเรียบร้อย คิดว่าอะไรที่ทำให้สังคมมองจุฬาฯ ในภาพลักษณ์นี้

ปลาย: หนูคิดว่าในอดีต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนมหาดเล็กมาก่อน ภาพลักษณ์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงเหมือนคนที่อยู่ในระเบียบ คนที่อยู่ในวัง เราก็เลยคิดว่าคนจึงมองจุฬาฯ เป็นอย่างผ้าพับไว้ แต่ในสังคมยุคใหม่ ความคิดของคนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะไม่ได้เป็นผ้าพับไว้เหมือนอดีตแล้วก็ได้  

เฟม: เรื่องผ้าพับไว้เราก็รู้กันว่ามันไม่จริง แต่ว่าภาพลักษณ์ที่ออกมาอาจจะเรียบร้อยมาก คิดว่าเป็นเพราะมหา’ลัยมีผู้หญิงเยอะ และก็มีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกาย อย่างเช่น ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพในการแต่งตัว แต่ว่าของจุฬาฯ เราต้องใส่ชุดยูนิฟอร์ม เราต้องแบบอยู่ในระเบียบ ทำให้คนอาจจะคิดว่าเรียบร้อย มันเป็นภาพที่คนมองในอดีต เป็นภาพในประวัติศาสตร์ และเป็นภาพที่ติดตาคนมากกว่า ก็เลยตัดสินว่า จุฬาฯ คือผ้าพับไว้

และภาพติดตานี้ เราอยากจะลบหรือเปลี่ยนแปลงมันไหม

เฟม: จริงๆ มันก็ไม่ได้เป็นปัญหา การที่คนจะมองเราเรียบร้อย มันไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่ ไม่ได้คิดจะลบด้วย แค่คิดว่าอยากให้เขาคิดว่าเราก็มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ในกรอบเป็นไข่ในหิน

ปลาย: คิดว่าทุกอย่างมันย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผ้าพับไว้ตลอดเวลา

จริงๆ มันก็ไม่ได้เป็นปัญหา การที่คนจะมองเราเรียบร้อย มันไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่ ไม่ได้คิดจะลบด้วย แค่คิดว่าอยากให้เขาคิดว่าเราก็มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกเหมือนกัน

คิดอย่างไรกับกฎระเบียบเกี่ยวกับการใส่ชุดนักศึกษา

เฟม: เราคิดว่าเราเห็นด้วยถ้าจะใส่ ในส่วนตัวของเราเอง เราขี้เกียจหาชุดทุกวัน เราก็ใส่ชุดนิสิตออกไปเรียนไม่ต้องมานั่งคิดว่าวันนี้ใส่อะไรดี แต่ว่าการที่บอกว่าเครื่องแต่งกายคือความเท่าเทียม อันนี้เราไม่เห็นด้วย เพราะเราคิดว่าเครื่องแต่งกายไม่ได้ทำให้เราเท่าเทียมกัน แต่มันแค่ให้อยู่ในระเบียบ แค่ให้ดูเรียบร้อยเท่านั้นเอง เหมือนแค่เปลือกนอกเท่านั้น

บีม: จากประสบการณฺ์ การไม่ใส่เครื่องแบบไปเรียนทำให้ผมไม่ต้องคิดอะไรมากเลยครับ ตื่นเช้ามา ล้างหน้า แปรงฟัน หยิบอะไรมาก็ได้ เสื้อ กางเกงตัวหนี่ง รองเท้า ไปเรียน อันนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่การไม่มีเครื่องแบบมันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องแบบแบ่งแยก พูดเรื่องแต่งตัวมาอวดกัน วันนี้ใส่อะไรดี วันนี้ใส่อะไรดี ก็เสื้อยืด กางเกงธรรมดานั่นหละครับ เพราะว่าถ้าใส่เครื่องแบบเวลาการแต่งตัวมันจะนานกว่าใส่ชุดปกติ ชุดไปรเวท

แต่ว่ามันก็ควรจะมีขอบเขต บางทีควรทำให้มันสุภาพบ้างอะไรบ้าง ซึ่งการใส่เครื่องแบบมันไม่ได้แปลว่าเป็นคนสุภาพไปหมด อาจจะใส่เครื่องแบบแต่แซงคิวในโรงอาหาร หรือเวลาขับรถอาจจะขับรถได้มารยาทแย่มากก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวินัยที่อยู่นอกเหนือเครื่องแต่งกาย แต่คนเราบางทีมันก็ตัดสินกันที่หน้าตา การกระทำ อันที่จริงในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญที่สุดมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น

เอาจริงๆ แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องทำขบวนพาเหรดที่กัดแซะการเมืองก็ได้ คุณสามารถทำขบวนที่สวยงามได้ ทำไมถึงยังเลือกกัดแซะการเมือง

บีม: ไม่งั้นก็ไม่ใช่ธรรมศาสตร์อะครับ ผู้คนเขาคาดหวังที่จะได้เห็นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์แสดงออกทางการเมืองอย่างไร อยากจะมีอะไรให้สังคมเห็น ล้อการเมืองเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาจะออกมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับการเมืองตอนนี้ พวกเขาอยากล้อ อยากชี้อะไร มันเลยกลายเป็นไฮไลท์หนึ่งของงานฟุตบอลเลยว่านักศึกษาจะทำอะไร

ธรรมศาสตร์จะชูภาพของการล้อการเมืองตลอด และทางฝั่งจุฬาฯ ปีนี้ตั้งใจจะชูภาพอะไร

ปลาย: ขึ้นชื่อว่าขบวนสะท้อนสังคม ก็ตั้งใจจะชูภาพสะท้อนสังคม คือ ไม่ได้อยากแค่ด่า เพราะการด่ามันไม่ช่วยอะไร

เฟม: คำว่าสะท้อนสังคม มันไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว สังคมเรามันมีหลาย issue มาก ที่สามารถหยิบยกมาเล่นได้ ของจุฬาฯ ไม่ใช่บอกเล่าการเมืองอย่างเดียว มีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา และอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ที่คนอาจจะไม่เห็นหรือเห็นแล้วแต่ไม่กล้าถาม เราก็จะเอามาในเวทีของขบวนสะท้อนสังคม

ปีที่แล้ว จุฬาฯ มีหุ่นล้อการเมืองแอบเข้ามาในสนาม ทำให้สังคมเกิดกระแสอย่างมาก เพราะจุฬาฯไม่เคยทำอะไรแบบนี้ มันสร้างผลกระทบอะไรกับภาพลักษณ์จุฬาฯ ไหม และคนในสังคมจุฬาฯ เห็นด้วยไหม ?

เฟม: เราว่าเขาเห็นด้วยค่ะ รู้สึกว่าดีแล้วที่ทำ ดีแล้วที่มีการเปลี่ยน ดีแล้วที่กล้าออกมาทำอะไรใหม่ๆ

ปลาย: หลายคนก็คาดหวัง และติดตามที่จะดูขบวนล้อสังคมต่อไป เหมือนว่าปีที่แล้วก็ทำมาได้สะใจ มันส์มาก ดูแล้วถูกใจ ปีนี้เขาก็คาดหวังเห็นอะไรแบบนั้นเหมือนกัน

ภายใต้การเมืองแบบนี้ หวาดกลัวกันไหม

บีม: ล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ผมคิดว่ามันปลอดภัยกว่าหลายกิจกรรม เพราะว่ามันเป็นกิจกรรมในงานบอล ซึ่งเป็นประเพณี เราไม่ได้ไปประชุมในที่สาธารณะ ในสายตาของเจ้าหน้าที่อาจจะเหมือน แต่มันไม่ใช่ เราไม่ได้ไปชูป้ายด่าใครเสียหายๆ การของล้อการเมืองแสดงออกด้วยหุ่น และป้ายผ้า ซึ่งโดยส่วนตัวผมว่ามันสร้างสรรค์มันคือ ศิลปะ

ปลาย: จริงๆ ไม่กลัวค่ะ เพราะกว่าเราจะได้ไปเดินในสนามตรงนั้นจริงๆ มันต้องผ่านการกรอง การสกรีนมาหลายขั้นตอน ตั้งแต่ผู้ใหญ่ ทีมงานจัดงานฝ่ายต่างๆ มีการกรองหลายขั้นกว่าเราจะได้เดินจริงๆ คิดว่าไม่น่ามีเนื้อหาอะไรที่ทำให้ ‘ถูกจับ’

เฟม: คิดว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะมาจับหรือมาเรียก กิจกรรมนี้ไม่ใช่การประท้วง หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่คิดว่าเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เป็นพลังของนักศึกษามากกว่า

บีม: ถึงจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่เขาก็มีส่งเจ้าหน้าที่มาดูอยู่ดี มาแอบถ่ายบ้างอะไรบ้าง

เขาติดต่อมาหาเราโดยตรง หรือเป็นอย่างไง เล่าให้ฟังหน่อย

บีม: ตอนแรกเขาแอบ แต่ตอนหลังเขาก็ติดต่อผ่านมหา’ลัยเลย คือบางทีผมก็รู้สึกมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา เขาก็บอกว่ากังวลอะไรบ้าง คล้ายเป็นการกดดันเรา แต่ถ้าบางทีนอกเครื่องแบบมาเราก็จะรู้เลย หัวเกรียนๆ แอบๆ ในเงามืด แช๊ะเสร็จ เดินออก มีคนรายงานผมประจำ

ปลาย: เขากลัวเรามากกว่าถึงทำแบบนี้

แล้วทางจุฬาฯ มีเหตุการณ์แบบนี้บ้างไหม

ปลาย: ตอนนี้ยังไม่มีค่ะ คิดว่าคนข้างนอกอาจจะมองว่าจุฬาฯ ไม่น่าจะทำอะไรที่แรงขนาดนั้น เพราะว่าจากภาพหลายๆ ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้ทำในเชิงล้อการเมือง เราทำเชิงสะท้อนสังคม คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าคงไม่มีอะไรที่เสี่ยงขนาดนั้น

เราอยากให้ขบวนพาเหรดครั้งนี้ส่งเสียงอะไรไปถึงสังคม

บีม: พอล้อของหุ่นล้อหมุนออกนอกสนาม ทุกอย่างก็จบ แต่อยากให้ประเด็นของหุ่นล้อมันอยู่ต่อไป อยากให้เป็นแรงบันดาลใจ เฮ้ย! ประเด็นที่เราพูดมันถูก อยากผลักดันเรื่องนี้ต่อยังไง ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่างที่ผมบอกว่า ‘ล้อการเมืองมันจบในสนาม แต่ล้อประชาธิปไตยมันต้องไปต่อ’

ปลาย: อยากจะให้คนที่เห็นขบวนสะท้อนสังคม เห็นแล้วตระหนัก เห็นแล้วสะท้อนคิดกับตัวเองว่า ทุกวันนี้มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราจะแก้ปัญหาต่อไปยังไง เป็นการทำให้ฉุกคิด

เฟม: อยากให้คนที่ดูขบวนคิดว่าเห็นปัญหาตรงนี้เราสามารถแก้อะไรได้บ้าง หรือว่าปลุกใจตัวเองให้คิดถึงเรื่องสังคมให้มากขึ้น ให้คนเห็นว่าในปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้าง อย่างบางคนอาจจะรู้ตอนนั้นเลยว่าในประเทศมีปัญหานี้ๆ ด้วยหรอ บางคนอาจจะไม่เคยติดตามการเมือง ไม่เคยติดตามข่าว และพึ่งมารู้ตรงนี้ เราก็รู้สึกดีใจ ถ้าสุดท้ายแล้วเขาตระหนักถึงปัญหาตรงนั้นขึ้นมาจริงๆ

ในฐานะที่เป็นหัวเรือหลักในการจัดงาน ได้บทเรียนอะไรบ้างจากการทำงาน

บีม: เยอะเลย เวลาพูดอะไรก็ต้องคิดมากขึ้น หรือทำอะไรก็ต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อนเราก็หนึ่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมมหาวิทยาลัย คิดถึงงาน หรืออย่างการทำงาน เราก็เรียนรู้กระบวนการตั้งแต่อยู่ในแบบร่างไปจนถึงสนามมันเป็นยังไง มันต้องเหนื่อยแค่ไหน ต้องใช้คนอย่างไร หลายๆ อย่างครับ เราโตขึ้นมาก

ปลาย: คิดว่าได้หลายอย่างมาก ปกติเราเป็นคนทำกิจกรรมอยู่แล้ว เราก็จะรู้ว่าในแต่ละกิจกรรมได้อะไรบ้าง มันก็ได้เพื่อน ได้ความสัมพันธ์ ได้กระบวนการทำงาน แต่งานนี้เป็นงานที่ เสี่ยง!

คิดว่าการทำงานแต่ละอย่างไม่ใช่เราวางแผนและทำได้เลย แต่ว่ามันต้องผ่านหลายอย่างมาก ต้องผ่านอาจารย์ สมาคม กว่าจะได้ออกมาเป็นชิ้นๆ หนึ่ง และบางอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่มันคือความรับผิดชอบ เราก็ต้องทำ

เฟม: เป็นคนทำกิจกรรมเหมือนกัน แต่งานนี้เป็นงานที่หนักทีสุด และมีความคาดหวังมากที่สุด เพราะต้องคุมคนเยอะมาก และทำงานกับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเพื่อนกันเอง และทุกคนคาดหวัง รู้สึกโตขึ้นนิดนึง และคิดก่อนทำมากขึ้น

Tags: , , , , , ,