ขบวนล้อการเมืองงานบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 73 อวดโฉมออกมาแล้วเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สนามศุภชลาศัย นี่เป็นปีแรกของงานบอลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติปลดล็อคทางการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีรายงานถึงการแฝงตัวเข้ามาของเจ้าหน้าที่รัฐที่สวมเสื้องานบอลเข้ามาสังเกตการณ์กิจกรรมนักศึกษา

สัญลักษณ์และภาษาของการล้อการเมืองปีนี้ เน้นไปที่การสะท้อนประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างก็ตั้งคำถามกับความไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจพิเศษของคสช. และเฝ้ารอการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้

ตัวอย่างเช่น ทางฝั่งสแตนด์เชียร์ของฝั่งจุฬาฯ แปรอักษรเป็นบทกลอน: เสียงสับปลับ – เชื่อถือไม่ได้ –

เสียงคนเดียว – ยังกล้าเรียก – ประชาธิปไตย – เสียงที่หายไป – เสียงประชาชน – เสียงของทุกคน – ต้องใช้อีกครั้ง – ปลุกเสียงที่มีพลัง – ให้ดังยิ่งกว่าเคย

จาก https://twitter.com/petitenune/status/1094164434681921536

ส่วนเรื่องที่คนน่าจะเฝ้ารอว่าจะปรากฏอยู่ในการแซวการเมืองครั้งนี้ไหม เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ คือกรณีข่าววันศุกร์ ที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ทรงสนใจลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ 14 ชั่วโมงถัดมาก็มีพระราชโองการว่าราชวงศ์ชั้นสูงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเสียก่อนนั้น เรื่องนี้ ฝั่งสแตนด์เชียร์ของฝ่ายธรรมศาสตร์เปิดคำแปรอักษรออกมาเป็นภาพคล้ายเพจคาราโอเกะชั้นใต้ดินโดยเลือกเพลง “พลิคล็อค”

จาก https://twitter.com/Aquiw_/status/1094145202615287808

จาก https://twitter.com/WarZayzii/status/1094132488593596421

นอกจากนี้ สแตนด์ของฝั่งธรรมศาสตร์ก็แปรอักษร แซวตั้งแต่เหตุการณ์เสือดำ ครูเหยียดเพศ ปัญหาการศึกษา และกรณีพลิคล็อค เช่น พอ9โมงกว่า – ดันมีเซอร์ไพรส์ – ประกาศชื่อใหม่ – ถึงกับไปไม่เป็น – แต่…แม่งูเอ๋ย – สนุกเป็นบ้า – 4ทุ่ม55 หักมุมอีกที – เดาทางไม่ถูก – จะจบแบบไหน – ลุ้นกันต่อไป – TO BE… ซึ่งทางสแตนด์ฝั่งจุฬาฯ ก็ตอบกลับด้วยการแปรอักษรว่า retweeted

ภาพจาก https://twitter.com/whalewhale9x/status/1094187355106246656

สำหรับขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นหุ่นตัวแรกเป็นโต๊ะจีนที่นายทุนใหญ่กำลังกินกันอย่างอร่อย ส่วนที่โต๊ะจีนมีเมนูอาหารเป็นประเทศไทย และเก้าอี้เป็นประชาชนที่ในปากกำลังคาบบัตรคนจนซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

หุ่นตัวที่สองเป็นหุ่นเด็กเลี้ยงแกะที่บอกจะเลือกตั้ง พร้อมกับหุ่นหน้าคล้ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกับจมูกที่ยาวคล้ายพีนอคคีโอ ท้ายขบวนนี้มีการเรียกร้องให้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งด้วย

หุ่นที่สาม เอทีเอ็ม เออรักเออเร่อ สะท้อนว่าเงินภาษีที่เราจ่ายไปให้รัฐ ถูกนำไปพัฒนาประเทศจริงหรือไม่ หรือแค่เอามาเรียกคะแนนให้ตัวเอง คล้ายๆ ตู้เอทีเอ็มที่เออเร่อ นำภาษีออกมาแจกจ่ายประชาชนก่อนจะดูดกลับไปโดยมีโปรแกรมเมอร์ที่ชอบทุ่มโพเดี้ยมและชอบกินข้าวเหนียวมะม่วง

หุ่นที่สี่ เครื่องมือดูดเสียงประชาชน สามารถดูดเสียงของประชาชนที่ต้องการได้ แต่สุดท้ายประชาชนก็มีชัยเหนืออำนาจเครื่องดูดเสียงในที่สุด

สุดท้าย เป็นสัญลักษณ์โทรโข่ง เพื่อแสดงว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นกระบอกเสียงเพื่อประชาชน

ด้านขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์ เปิดมาด้วยขบวนป้ายผ้า และแฮชแท็ก #SaveHakeem และพาสปอร์ตประเทศไทย พร้อมกับป้ายบอกว่า หนีไป! เมื่อพลิกป้ายออกมา เป็นคำว่า “สู้สู้นะ”

หุ่นที่มีลักษณะกัปตันอเมริกา แต่หน้าคล้ายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำของสหรัฐอเมริกา ที่ยืนหน้ากำแพงพร้อมเขียนคำว่า Build the Wall ตามนโยบายกีดกันคนต่างชาติ และมีหุ่นของหมีพูห์ซึ่งหมายถึงนาย สี จิ้นผิง ผู้นำของประเทศจีน

หุ่นต่อมามีหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แปะบนเครื่องสูบน้ำ หมายความถึงการสูบภาษีประชาชน ตามมาด้วยขบวนหีบเลือกตั้งพร้อมข้อความว่า หน่วยเลือกตั้งที่ 44 ล้อเลียนการใช้อำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 พร้อมป้ายข้อความว่า “ไม่กล้าล้อแล้วครับ” ส่วนข้างๆ หีบมีคนนอนเป็นหน้านักการเมือง

หุ่นตัวสุดท้าย เป็นภูเขารัชมอร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศิลาสลักหน้าบุคคลสี่หน้า พร้อมเขียนคำว่า ม. 44 ซึ่ง แต่ละหน้าใส่หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 ด้านหลังเขียนว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี

 

Tags: , , , ,