บิชอปแห่งโรม หรือที่รู้จักกันในนาม ‘สันตะปาปา’ (โป๊ป) ผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลก ในฐานะผู้นำทางศาสนา หน้าที่หลักของโป๊ป คือ 1. เทศน์สั่งสอนให้ข้อคิด 2. รักษาความเป็นเอกภาพของคริสตชนทั่วโลก 3. บริหารจัดการงานของศาสนจักร พร้อมกับคณะทีมงานบริหาร (ในทางเทคนิคเรียกว่า โรมัน คูเรีย – Roman Curia) โดยโป๊ปหรือสันตะปาปาซึ่งทั้งหมดนี้แปลว่า ‘พ่อ’ เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบของเหล่าสมาชิกคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิกทั้งหลาย
นอกเหนือจากเป็นผู้นำทางศาสนา สันตะปาปายังมีฐานะผู้นำรัฐ (รัฐวาติกัน – Holy See) พบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อสานความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งยังประกาศจุดยืนของ Holy-See ในเวทีนานาชาติ การที่สันตะปาปาเป็นทั้งผู้นำทางศาสนาและผู้นำรัฐส่งผลให้สันตะปาปามีความน่าเชื่อถือในเวทีนานาชาติ หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดถือเป็นหลักประกันว่าโป๊ปต้องรักษาคำพูดและมีสัจจะ ทั้งนี้สันตะปาปาองค์ปัจจุบันมีนามว่า ‘ฟรานซิส’ (Francis)
โป๊ปฟรานซิสเป็นโป๊ปองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มาจากทวีปยุโรป โป๊ปฟรานซิสเป็นชาวอาร์เจนตินา เกิดที่บัวโนสไอเรส ในครอบครัวชาวอิตาเลี่ยนที่อพยพหนีความยากจนจากประเทศอิตาลีมาตั้งรกรากในประเทศอาร์เจนตินา ยิ่งไปกว่านั้นโป๊ปฟรานซิสนับเป็นสันตะปาปาองค์แรกที่มาจากคณะสงฆ์เยสุอิต (Society of Jesus) ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็นคณะสงฆ์ที่ ‘pragmatic & practical’ และนำบริบทต่างๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจและปฏิบัติหน้าที่ จากแบบสอบถามที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ Le Monde และ La Vie ของฝรั่งเศสในปี 1990 พบว่าเมื่อกล่าวถึง ‘เยสุอิต’ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งเห็นว่า ‘เป็นผู้มีความรู้ สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนและรู้จักอภิปราย’
ก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็นสันตะปาปา โป๊ปฟรานซิสมีชื่อเดิมว่า ฮอร์เฮ มารีโอ แบร์โกกลีโอ (Jorge Mario Bergoglio) นอกเหนือจากภาษาสเปนและอิตาเลี่ยนแล้ว โป๊ปฟรานซิสสามารถพูดและเข้าใจภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ แน่นอนว่าโป๊ปฟรานซิสก็เหมือนกับชาวอาร์เจนตินาทั่วไป ชื่นชอบแทงโก้และฟุตบอล (อย่างมาก) ซึ่งทีมโปรดของโป๊ปฟรานซิสก็หนีไม่พ้นทีมซาน โลเรนโซ (San Lorenzo) สโมสรบ้านเกิดในกรุงบัวโนสไอเรส
เมื่อย้อนกลับไปมองอาร์เจนตินาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ต่างๆ ที่โป๊ปฟรานซิสเคยเผชิญ ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อแนวคิดและมุมมองของสันตะปาปาฟรานซิสอย่างมาก โดยเฉพาะการให้ความสนใจเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นพิเศษ
ประเทศอาร์เจนตินาซึ่งเคยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในปี 1913 ได้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ยิ่งไปกว่านั้นประเทศอาร์เจนตินายังพบกับรัฐประหารและความไม่สงบทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ปัญหาทุจริตในหมู่นักการเมือง ผนวกกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้กลายเป็นกับดักเชิงโครงสร้างที่ทำให้ประเทศอาร์เจนตินาติดหล่ม คนยากจนจำนวนมากจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในชุมชมแออัดที่ไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานใดๆ หลายคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน ปัญญาชน แม้กระทั่งบาทหลวงเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ และตัดสินใจเข้าช่วยเหลือผู้ยากไร้ในสลัมเหล่านี้เท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านจากรัฐบาลก็ตาม
ในระหว่างการปราบปรามของภาครัฐซึ่งมีทั้งการลอบสังหาร ลักพาตัว ฯลฯ ‘แบร์โกกลีโอ’ (ชื่อเดิมของของโป๊ปฟรานซิส) ตัดสินใจใช้โรงเรียนคอเลจีโอ มาซีโม เดซานโฮเซ่ (Colegio Máximo de San José) โรงเรียนของคณะเยสุอิตเพื่อช่วยผู้ที่ถูกรัฐบาล ‘หมายหัว’ โดยชี้แจงกับฝ่ายรัฐบาลว่าการมาพักที่นี่คือ ‘การฟื้นฟูทางจิต’ (Spiritual Retreat)
ทว่าทุกคนไม่ได้โชคดี เพื่อนใกล้ชิดของโป๊ปฟรานซิส อย่างเอส์เธร์ บาล์เลสตรีโน (Esther Ballestrino) หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Mothers of Plaza de Mayo ซึ่งช่วยสตรีชาวอาร์เจนตินาที่ออกตามหาลูกของพวกเธอที่ ‘หายสาบสูญ’ อย่างลึกลับ ถูกรัฐบาลทหารควบคุมตัวและถูกสังหารด้วยการผลักจากเครื่องบินลงทะเล (Death Flights) สำหรับโป๊ปฟรานซิส เอส์เธร์เป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญ เธอ “สอนให้คิดถึงความเป็นจริงทางการเมือง […] ผมเป็นหนี้บุญคุณเธอมากมาย”
ในปี 1998 เมื่อโป๊ปฟรานซิสยังเป็นเพียงแค่อัครสังฆราช (Archbishop) ประจำกรุงบัวโนสไอเรส โป๊ปฟรานซิสได้เพิ่มจำนวนบาทหลวงในชุมชนแออัดต่างๆ ทั่วบัวโนสไอเรส เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนชุมชนแออัดที่เพิ่มขึ้น และหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศอาร์เจนตินา “ศาสนจักรลงเอยด้วยการทำสิ่งที่รัฐควรจะทำ” ลีเลียน่า บาร์เรโต (Liliana Barreto) หนึ่งในผู้ที่อาศัยอยู่ Villa 31 ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงบัวโนสไอเรส เธอยังเสริมอีกว่าศาสนจักรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยและยากจนได้ดีกว่ารัฐ
ทั้งนี้ทั้งนั้นพิษวิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนตินานั้นทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยหลายคนต้องย้ายไปอยู่ในชุมชนแออัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดำเนินนโยบายเสรีนิยมสุดโต่งของรัฐบาล และการวางนโยบายการเงิน-การคลังที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 2001-2002 วิกฤติดังกล่าวส่งผลให้ชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากต้องตกงาน พร้อมกับขยายช่องว่างระหว่างผู้ที่มีรายได้น้อยกับผู้ที่มีรายได้มาก ในระหว่างเดือนตุลาคม 2002 ประชากรอาร์เจนตินาที่อยู่ในเมืองกว่า 57.5% อยู่ในสภาวะยากจน
ไม่น่าแปลกหากโป๊ปฟรานซิสจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจที่ไร้ความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไม่กี่คนอยู่บ่อยครั้งในเอกสาร เอวานเจลี โกดีอุม (Evangelii Gaudium หรือความชื่นชมยินดีแห่งพระวารสาร ในภาษาไทย) ซึ่งเป็นเอกสารฉบับแรกที่โป๊ปฟรานซิสเขียนแก่คริสตศาสนิกนิกายคาทอลิกในปี 2013 สันตะปาปาฟรานซิสยืนกรานอย่างชัดเจนว่า
“การแก้ไขต้นเหตุของความยากจนนั้นไม่สามารถเลื่อนเวลาได้ […] ความเหลื่อมล้ำเป็นรากฐานของปัญหาสังคม” ทั้งยังกล่าวอีกว่า “เราไม่สามารถไว้ใจพลังและมือที่มองไม่เห็นของตลาด” นอกจากนี้ระหว่างที่โป๊ปฟรานซิสเสด็จเยือนประเทศมาดากาสกา (ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยากจน โดย 3 ใน 4 ของประชากรในประเทศมีรายได้น้อยกว่า 60 บาทต่อวัน) ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โป๊ปฟรานซิสยังพูดถึงข้อจำกัดของระบบเสรีนิยมสุดโต่งที่ซึ่งทรัพยากรของประเทศตกอยู่กับกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว
สิ่งที่น่าสังเกตเมื่อกลับไปไล่ดูเอกสาร เอวานเจลี โกดีอุม จะพบว่าโป๊ปฟรานซิสใช้คำว่า ‘People’ กว่า 164 ครั้ง (นับจากเอกสารเวอร์ชั่นดั้งเดิมภาษาสเปน ภาษาแม่ของโป๊ปฟรานซิส) ในขณะที่เอกสารดังกล่าวมีเพียง 288 ย่อหน้าเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เกินกว่าครึ่งของจำนวนย่อหน้าทั้งหมดในเอกสารเอวานเจลี โกดีอุมจะต้องมีคำว่า ‘People’ ปรากฏอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะชีวิตของผู้คนคือชีวิตของศาสนจักร
อย่างไรก็ดีโป๊ปฟรานซิสได้รับเอาแนวคิด ‘Theology of People’ ที่เน้นความสำคัญของผู้คน ซึ่ง เป็นวิชาเทวศาสตร์แขนงหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินาช่วงศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้ความยากจนและความไม่ยุติธรรมทางสังคม โดย Theology of People ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่จะมองบทบาทและการกระทำของ ‘ผู้คน’ เป็นศูนย์กลาง ยิ่งไปกว่านั้นฮวน คาร์ลอส สกานโนเน่ (Juan Carlos Scannone) หนึ่งในผู้บุกเบิก Theology of People เคยเป็นอาจารย์ของโป๊ปฟรานซิสสมัยที่โป๊ปฟรานซิสยังเป็นเพียงแค่นักเรียน (scolastique) อยู่ในคณะสงฆ์เยสุอิต สกานโนเน่ยังเคยเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณ (spiritual director) ให้กับโป๊ปในช่วงนั้นอีกด้วย นอกจากนี้ทั้งสองเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากอาศัยอยู่ในบ้านพักเดียวกันเป็นเวลาหลายปี
ความคิดเห็นของโป๊ปฟรานซิสเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้หลายคน ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเองมองว่าโป๊ปฟรานซิสเป็น ‘โป๊ปมาร์กซิสต์’ หรือไม่ก็ ‘โป๊ปคอมมิวนิสต์’ นอกจากนี้การที่โป๊ปฟรานซิสแสดงทัศนคติต่อนโนบายการไม่รับผู้อพยพอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งไปกว่านั้นยังกล่าวสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองจนทำให้ดูเหมือนว่าโป๊ปฟรานซิสกำลังเข้ามา ‘ยุ่ง’ เรื่องการเมืองมากเกินไป
อันที่จริงสิ่งที่โป๊ปฟรานซิสกล่าวเป็นเพียงการพูดถึงหลักคำสอนทางศาสนาเกี่ยวกับสังคม (Compendium of the Social Doctrine of the Church) โดยใช้ภาษาที่ไม่อ้อมค้อมและทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีมาร์กซิสต์หรือการเมืองใดๆ และมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนมองสันตะปาปาเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเอล์เดอร์ เกอมาร่า (Hélder Câmara) อาร์คบิชอปชาวบราซิลเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ซึ่งเอล์เดอร์ เกอมาร่าได้ตัดพ้อว่า “พอผมเลี้ยงข้าวคนจน เขาก็พากันบอกว่าผมเป็นนักบุญ แต่พอผมถามว่าทำไมคนจนถึงไม่มีอะไรกิน เขาก็มองผมว่าเป็นคอมมิวนิสต์”
สำหรับโป๊ปฟรานซิส “พวกเราต้องมีส่วนร่วมในการเมือง เพราะการเมืองเป็นหนึ่งในงานจิตกุศลที่สำคัญที่สุด […] มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม” และ “การปกครองคือการรับใช้ (ผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง)” ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นที่สันตะปาปาฟรานซิสต้องการสื่อมีเพียงแค่เรื่องการส่งเสริมความเป็นธรรม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานตามความเชื่อทางศาสนาที่สันตะปาปาฟรานซิสยึดถือ นั่นก็คือ ‘การสร้างอาณาจักรแห่งพระเจ้า’ บนโลก ซึ่งไม่ใช่การทำให้ทุกคนบนโลกใบนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาเดียวกัน แต่กลับเป็นการสร้างอาณาจักรที่ความแตกต่างไม่ได้นำไปสู่ความแตกแยก อาณาจักรที่ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ‘อาณาจักรแห่งความยุติธรรมและสันติสุข’
อ้างอิง
Politique et Société: Pape François, rencontres avec Dominique Wolton (2017)
Notre Histoire n° 77 – Les Jésuites
Etienne Grieu, sj. : Qu’est-ce que c’est la Théologie de la Libération
Pierre de Charentenay, sj. : Le « peuple » de la « théologie du peuple »
IMF: Lessons from the Crisis in Argentina (October 8, 2003)
https://www.ft.com/content/bb85da28-ea27-11e9-85f4-d00e5018f061
ภาพ : Yara Nard, Vatican Media, Mike Hutchings, Magali Druscovich, Alessandro Bianchi/REUTERS
Fact Box
Theology of People เป็นเทวศาสตร์แขนงหนึ่งที่ได้แยกตัวออกมาจาก Theology of Liberation โดยทั้ง Theology of People และ Theology of Liberation ต่างมีพื้นฐานจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมและปัญหาความยากจนในทวีปอเมริกาใต้ช่วงศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ Theology of Liberation ส่วนใหญ่จะวิเคราะห์ในเชิงสังคมวิทยา และบางครั้งใช้แนวคิดการต่อสู้ทางชนชั้นจากหลักการมาร์กซิสม์เพื่ออธิบายเรื่องราวความเชื่อทางจิตวิญญาณ Theology of People ใช้วัฒนธรรมและประเพณีของ ‘ผู้คน’ โดยไม่ใช้ทฤษฎีมาร์กซิสม์ใดๆ อันที่จริงความหมายที่แท้จริงของ ‘People’ ใน Theology of People ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ประชาชน’ มากกว่า ‘ผู้คน’ ในภาษาไทย ด้วยเหตุผลที่ว่านิยามของ ‘People’ ที่ใช้ใน Theology of People มีรากฐานมาจาก ‘Nation - ชาติ’ ซึ่งผู้คนที่อยู่ในชาติและต่างมีจุดร่วมเหมือนกันคือคำจำกัดความของคำว่า ‘ประชาชน’