ในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมานั้น งบกองทัพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่เฉพาะในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เท่านั้นที่มีการปรับลด ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2.3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 7.6% ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศ นับเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดลำดับที่สี่ โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่ตกเป็นค่างบของบุคลากร (ประมาณ 42%)  โดยปัจจุบัน กองทัพไทยมีกำลังพลราว 300,000 นาย (ทหารเกณฑ์อีกกว่า 100,000 นาย) นายพลราว 1,600 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรสูงกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น คำถามจึงย้อนกลับมาหากองทัพไทยว่า ‘ถึงเวลาหรือยัง สำหรับการเปลี่ยนแปลง?’

เราอาจจะมองได้หลายมุมในประเด็นนี้ ในมิติของความมั่นคง เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นภูมิศาสตร์ทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค มีน่านน้ำที่ต้องคอยสอดส่องดูแลและมีผลประโยชน์มากมายที่ทับซ้อนกันอยู่ แต่ถ้าหากพลิกกลับมองอีกด้านหนึ่ง โลกได้เดินหน้ามาถึงศตวรรษที่ 21 กระบอกปืน แบล็คฮอว์กและเรือดำน้ำ สร้างความมั่นคงได้เพียงมิติเดียว และมีอีกหลายด้านที่ต้องพัฒนาไปควบคู่กันไม่ว่าจะเป็น ความมั่งคั่ง เทคโนโลยี และคุณภาพประชากร

แม้แรกเริ่มจะมีเพียงพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชานิยมเท่านั้น ที่ออกตัวว่ามีแนวคิดปฏิรูปกองทัพ ก่อนที่ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมโหมโรงในประเด็นนี้ มองในอีกแง่หนึ่ง พรรคที่ประกาศตัวว่ายืนฝั่งเดียวกับหลักการประชาธิปไตยต้องการตัดสายสัมพันธ์ของกองทัพกับการเมือง และที่สำคัญเรียกร้องให้หยุดการทำ ‘การรัฐประหาร’ ในทุกๆ กรณี

อย่างไรก็ตาม ไม่มีพรรคไหนปฏิเสธความสำคัญของกองทัพ และ Hard Power เพียงแต่พวกเขามองว่ากองทัพควรจะเริ่มขยับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย ปรับบทบาท ทิศทางการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรของตนให้สอดรับกับโลกศตวรรษที่ 21 และระบบการปกครองประชาธิปไตยให้มากขึ้ัน

The Momentum รวบรวมนโยบายปฏิรูปกองทัพจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อาทิ ใบปลิวแนะนำพรรคการเมืองของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) การขึ้นกล่าวเวทีปราศรัย ข้อมูลจากข่าวแหล่งต่างๆ และรายการพิเศษ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย กับหัวข้อ “ปฏิรูปกองทัพ-ปฏิรูปตำรวจ” ที่จัดขึ้นโดย Thai PBS โดยมี พล.ท.พงศกร รอดชมภู (พรรคอนาคตใหม่), พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ), พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ (พรรคประชาธิปัตย์) และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ (พรรครวมพลังประชาชาติไทย) มาร่วมชี้แจงวิสัยทัศน์

พรรคอนาคตใหม่: คนรุ่นใหม่ x กองทัพนิวเจน

 อนาคตใหม่เป็นพรรคแรกที่ชูนโยบายการปฏิรูปกองทัพ ก่อนที่พรรคอื่นๆ จะค่อยเปิดตัวหนุนการปฏิรูปกองทัพตามๆ กันมา

เราย่อยความคิดของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ผู้นำเสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพจากพรรคอนาคตใหม่ออกเป็น 6 ข้อ ดังนี้

  1. รัฐบาลพลเรือน ควบคุมกองทัพ – อนาคตใหม่สนับสนุนให้คณะรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย ต้องมีอำนาจในการสั่งการกองทัพ โดยใช้ระบบเสนาธิการร่วม ซึ่งผู้รับผิดชอบในหน้าที่นี้ก็คือ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยยังเสนออีกว่า ข้าราชการทหารห้ามวิพากษ์วิจารณ์การเมือง จนกว่าจะเกษียณอายุราชการแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี รวมถึงการซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลพลเรือน

  2. สมัครใจเกณฑ์ทหาร –  อนาคตใหม่ยังเห็นด้วยว่าในภาวะสงคราม การบังคับเกณฑ์ทหารทุกคนยังคงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในสถานการณ์ปกติ พวกเขาสนับสนุนให้ใช้ระบบสมัครใจมากกว่าระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ของชายไทย ซึ่งพวกเขาเสนอให้ขยายระยะเวลาในการเป็นทหารเกณฑ์จาก 2 เป็น 5 ปี แต่จะได้รับค่าตอบแทน ทุนการศึกษาต่อ รวมถึงได้รับการอบรมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในระหว่างถูกฝึกอยู่ด้วย

  3. ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพ – โครงสร้างกองทัพไทยมีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีจำนวนของทหารชั้นผู้ใหญ่มากกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเสียอีก อนาคตใหม่เสนอให้ลดกำลังพลจากในปัจจุบัน 330,000 นาย เหลือเพียง 170,000 นาย และลดจำนวนนายพลจาก 1,600 นาย ให้เหลือ 400 นาย เพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงและความจำเป็นของกองทัพในศตวรรษที่ 21

  4. ปรับโครงสร้างงบประมาณกองทัพ – ลดตรงนี้ เพิ่มตรงนู้น คือแนวทางการจัดการงบประมาณแบบใหม่ที่อนาคตใหม่เสนอ

    1. ลดตรงนี้ – ในกรณีการซื้ออาวุธ ควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็น อีกทั้งเพื่อความโปร่งใส รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ ให้เปลี่ยนไปใช้ระบบเครดิต แทนเงินสด และยกเลิกระบบประมูลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

    2. เพิ่มตรงนู้น – พวกเขาเสนอให้กระทรวงกลาโหมรวบรวมสินทรัพย์ของกองทัพทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน คลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์ กิจการกีฬา เอามารวมกันเพื่อจัดให้เป็นสวัสดิการแก่ทหารชั้นผู้น้อย ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงภัย ถ้าหากเหลือ ต้องนำไปทำกิจการอื่นๆ ที่จำเป็น และสุดท้ายจึงส่งคืนการคลัง

  5. วิทยาการทางการทหาร สำหรับป้องกันประเทศ – การสร้างเทคโนโลยีให้ตัวเอง ‘ทำให้เรายืนด้วยขาของตัวเองได้’ เป็นคำกล่าวของ พลโทพงศกร รอดชมภู ในงานแถลงนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตรงตามหลายๆ นโยบายของพรรคที่มักจะสนับสนุนให้มีการสร้างเทคโนโลยีขึ้นภายในประเทศของเราเอง โดยเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน

  6. ผสานระหว่างระบบอุปถัมภ์และคุณธรรม – พลโทพงศกร ยอมรับว่าอาชีพข้าราชการทหารยังต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์ ในแง่ของความเชื่อไม้เชื่อมือ แต่ต้องมีระบบคัดกรอง ซึ่งเขาได้เสนอให้มีตัวแทนประเมินผลงานของข้าราชการทหารที่จะได้รับการเลื่อนขั้นออกมาเป็นตัวเลขเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปให้ผู้บัญชาการเลือกผู้ที่ได้รับการคัดสรรแล้วในภายหลัง เป็นระบบเดียวกับกองทัพของอเมริกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะช่วยลดการเล่นพรรคเล่นพวกภายในกองทัพ

พรรคเพื่อไทย: ตัดงบกองทัพ สร้างนักธุรกิจหน้าใหม่

 เพื่อไทยออกตัวชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก่อนที่ประเด็นจะถูกโหมให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นเมื่อหนึ่งในแคนดิเดตของพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ขึ้นเวทีปราศรัยกล่าวว่า “จะตัดงบกลาโหม เพื่อนำไปเป็นกองทุนให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจ”

 ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการ คสช. และลูกชายแท้ๆ ของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ออกมาโต้ตอบ ไล่ให้สุดารัตน์ไปฟังเพลงปลุกใจอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ อีกทั้งยังออกมาโชว์การฝึกซ้อมของกองทัพ และทำพิธีกรรมบวงสรวงเพื่อกระตุ้นความฮึกเหิม

พรรคเพื่อไทยในฐานะคู่กรณีหลักอาศัยจังหวะนี้ ประกาศนโยบายปฏิรูปกองทัพในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ

  2. ตัดลดงบกลาโหม 10% หรือราว 20,000 ล้านบาท เพื่อนำไปตั้งกองทุนสำหรับนักธุรกิจหน้าใหม่

  3. เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะ ทหารที่ประจำการพื้นที่่เสี่ยงอันตราย

  4. ลดขนาดกองทัพ

พรรคเสรีรวมไทย: ไม่มีใครทำได้ ถ้าไม่ใช่ เสรีพิศุทธ์

    ประกาศกร้าวกลางเวทีดีเบต ของ The Standard ว่า พร้อมที่จะร่วมกับทุกพรรคที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยขอนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมเท่านั้นพอ ยังไม่รวมถึงการเปิดศึกโจมตีทหารในทุกๆ ครั้ง ที่มีโอกาส

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ประกาศจุดยืนชัดเจน ทั้งในแง่อุดมการณ์และความไม่ลงรอยกับกองทัพ

นโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคเสรีรวมไทย มีดังนี้

  1. ยุบหน่วยงานทางทหารที่ไม่จำเป็น

    1. ยุบกองบัญชาการกองทัพไทย เขากล่าวว่า ยุคสมัยนี้ ไม่มีสงครามอีกแล้ว จะมีกองบัญชาการกองทัพไว้ทำไม

    2. ยกเลิกศาลทหาร – ให้มีเฉพาะช่วงเวลาสงคราม

  2. ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ

  3. มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพได้

  4. ย้ายทหารทุกหน่วยงานออกนอกพื้นที่ กรุงเทพมหานคร

    1. คงเหลือไว้แต่ทหารรักษาพระองค์

    2. เปิดพื้นที่กองทัพ ให้เอกชนเช่า เพื่อนำมาสร้างพื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงพยาบาล สวนสาธารณะ โรงเรียน

    3. ถ้าหากเกิดภาวะสงครามขึ้นมาจริง การมีกองทัพอยู่ในเมืองหลวงก็ย่อมสุ่มเสี่ยง

  5. ตัดวงจรอุบาทว์ และการรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งเขาประกาศว่ามีเขาคนเดียวที่รู้ลึก รู้จริง และกล้าพอ (ขีดเส้นใต้) ที่จะทำได้

  6. ลดขนาดกองทัพ

พรรคประชาธิปัตย์: ยกระดับทหารเกณฑ์อย่างรอบด้าน

    ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์มักจะเลือกยืนอยู่ข้างและเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกองทัพอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่แปลกที่จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์กับการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นประเด็นสงสัยของสังคม แตะหมอกที่ลงหนาก็คลี่คลาย เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. แต่ไม่ปฏิเสธการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ข้อตกลงที่ประชาธิปัตย์ร่าง

    ทั้งนี้ พวกเขาเสนอแนวทางการปฏิรูปกองทัพในมิติที่ครอบคลุมทีเดียว เชิญไปส่องดูนโยบายของพวกเขาพร้อมกัน

  1. ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ

    1. เพิ่มแรงจูงใจให้คนมาสมัครเกณฑ์ทหาร

    2. ระหว่างเกณฑ์ทหารมีการฝึกทักษะอาชีพด้านอื่นๆ

    3. ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่า ลูกหลานที่เกณฑ์ทหารมีความเป็นไปอย่างไร

    4. ยกระดับบุคคลที่ได้รับการเกณ์ทหาร อาทิ มีใบรับรองการผ่านเกณฑ์ทหาร

  2. ระบบอุปถัมภ์ ผนวกระบบคุณธรรม – ยังคงเชื่อว่าระบบอุปถัมภ์เป็นสิ่งจำเป็นในกองทัพ เนื่องจากทหารเป็น ‘บุคคลถือปืน’ ความไว้เนื่อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญ เพียงแต่ระบบตอนนี้ยังไม่ถูกต้อง

  3. ปฏิรูปงบกลาโหม โดยยึดหลักความจำเป็นและเงินในคลัง – ชูว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่สามารถลดงบกลาโหมได้จริง ในปี 2554 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม

  4. ลดขนาดกองทัพ แต่เพิ่มขีดความสามารถ – นำเงินไปเพิ่มสวัสดิการ และทำวิจัยกองทัพ

  5. ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบกองทัพได้

  6. ปรับโครงสร้างการทำงานของกองทัพให้ทันสมัย สั้น กระชับ ขจัดความซ้ำซ้อน

  7. เพิ่มหลักสูตรบริการสังคม (National Community Service) เป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย นอกเหนือจากการเรียนรักษาดินแดน (ร.ด.)

  8. ส่งเสริมหน้าที่ลำดับรองของกองทัพ อาทิ ช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ

  9. ส่งเสริมให้กองทัพปฏิรูปตัวเอง เพื่อความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน

พรรคประชานิยม: เปลี่ยนรถถัง เป็นรถไถ

   ถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคที่ออกตัวว่าสนับสนุนการทำงานต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทางพรรคเองก็เสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครบทั้ง 3 คน ได้แก่ พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย, พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ และนายปฐมฤกษ์ มณีเนตร อีกทั้งยังมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของกองทัพที่น่าสนใจ โดยได้ลงรายละเอียดไว้ในใบปลิวแนะนำพรรคของ กกต. ดังนี้

“หยุดกองทัพซื้ออาวุธ 10 ปี นำเงิน 400,000 ล้านบาท ไปพัฒนาประเทศ เปลี่ยนงบซื้อรถถังไปซื้อรถโดยสารปรับอากาศ 10,000 คัน ไปซื้อรถไถนา, รถดำนา, รถเกี่ยวนวดข้าวประจำหมู่บ้าน และรถตัดอ้อยให้ชาวนาใช้ฟรี”

กระแสฝั่งที่หนุน คสช.

    ถึงแม้ว่าแนวคิดการปฏิรูปกองทัพจะเป็นที่ข้อถกเถียงและเป็นที่จับตาของสังคมในเวลานี้ แต่ยังมีหลายพรรคเช่นกัน ที่ไม่ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพรรคที่ออกตัวอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการทำงานต่อไปของ คสช.

พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปกองทัพเพียงแต่ยืนยันว่าควรเป็นหน้าที่ของกองทัพเองที่จะทำการปฏิรูปตัวเอง อีกทั้งยังยืนว่า ปัจจุบัน กองทัพก็ปฏิรูปตนเองอยู่เรื่อยๆ มาตลอดอยู่แล้ว เขายกคำขวัญของกองทัพที่ว่า ‘ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และประชาชน’ ขึ้นมาเพื่อยืนยันว่า ทุกๆ ครั้งที่กองทัพยื่นมือเข้ามายุ่งกับการเมือง เกิดจากแรงกดดันของประชาชนเอง ที่เรียกร้องให้กองทัพทำการยึดอำนาจรัฐประหาร ดังนั้นแล้ว กองทัพทำเพื่อประชาชน อยู่ภายใต้ประชาชน และเชื่อฟังประชาชนมาตลอด

  อย่างไรก็ตาม พรรครวมพลังประชาชาติไทย เห็นด้วยกับข้อเสนอให้สมัครใจเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ทั้งหมด เพราะพวกเขายืนยันว่า การเกณฑ์ทหารสามารถปรับปรุงนิสัยของผู้เข้ารับการฝึกและช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้ พร้อมทั้งเพิ่มข้อเสนอว่า ควรมีการผลักดันให้คนที่มาเกณฑ์ทหารสามารถเข้าเรียนโรงเรียนนายสิบตำรวจ หรือทหารเหล่าอื่นๆ ได้ด้วย

พรรคประชารัฐ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เคยตอบคำถามสื่อต่อเรื่องปฏิรูปกองทัพไว้ว่า “วันนี้เรื่องการปฏิรูปกองทัพ ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน กองทัพมีการปฏิรูปและพัฒนาของเขาอยู่แล้ว ผมอยากให้เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองจะดีกว่า เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนดีกว่า กองทัพเองก็รับฟังความคิดเห็นต่างๆ และยังมีเวลาไปพูดคุยสิ่งเหล่านี้ อย่าหยิบเอาประเด็นกองทัพมาเป็นประเด็นการเมือง”

ส่วนในเรื่องรัฐประหารเขาให้ความเห็นว่า “รัฐประหารทุกครั้งเกิดจากนักการเมือง ไม่ได้เกิดจากกองทัพ การบอกว่าให้ไปแก้ที่กองทัพเพื่อป้องกันรัฐประหาร เป็นการแก้ที่ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา ทุกครั้งที่รัฐประหารล้วนเกิดจากความล้มเหลวของการเมือง เกิดจากฝ่ายการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ เกิดจากปัญหาการเมืองทั้งสิ้น” สรุปได้ว่า การรัฐประหารทั้ง 13 ครั้งที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากความล้มเหลวของภาคการเมือง ทำให้กองทัพต้องออกหน้ามาเพื่อคุ้มครองประเทศ

อ้างอิง:

https://futureforwardparty.org/about-fwp/our-policies/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E

https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2230578

https://www.thairath.co.th/content/1500955

https://prachatai.com/journal/2018/03/75908

 

 

 

Tags: , , , ,