เมื่อการรัฐประหารกับการเมืองไทยเป็นของคู่กัน สิ่งที่มักเกิดขึ้นในอดีตก็คือเมื่อ ‘ทหาร’ ต้องการวางมือจากการเป็นเผด็จการก็ต้องตั้งพรรคทหารมารองรับ วิธีปฏิบัตินั้นไม่ต่างจากเดิม โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ ‘ไปต่อ’ ฉะนั้นต้องใช้สรรพกำลังทุกวิถีทางเพื่อดึงดูด ส.ส.กลุ่มเดิมๆ เข้า ไม่ว่าจะด้วยกำลังเงิน หรือด้วยโปรโมชันย้ายค่าย-เคลียร์คดี เพื่อให้มี ส.ส.ในมือตุนให้ได้มากที่สุด ส่งผู้นำทหารเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยต่อไป

แต่ว่ากันตามตรง ในอดีตแทบไม่มีพรรคทหารที่ประสบความสำเร็จ และอยู่ได้เกิน 2 ปี ความล้มเหลวอาจแบ่งได้ 2 ประการคือ ผู้นำทหารนั้นความอดทนต่ำ จุดเดือดต่ำ ไม่สามารถทนการต่อรองของบรรดานักการเมืองได้ และอีกส่วนก็เป็นความล้มเหลวของตัว ‘ระบอบการปกครอง’ ใหม่ อันเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยแบบปลอมๆ ที่ถึงที่สุดระบอบการปกครองนั้นก็ไม่ลงตัว กลายเป็นจุดตายของพรรคทหารทุกพรรค

เรื่องที่น่าเหลือเชื่อก็คือ หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ‘พลังประชารัฐ’ ได้กลายเป็นพรรคทหารที่มีอายุยืนยาวที่สุด แต่จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า อนาคตของพรรคทหารก็ยังคงเลือนราง ไม่แน่นอน

b-holder ชวนย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของพรรคทหาร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อตั้ง ไปจนถึงการถอดบทเรียนความสำเร็จ และความล้มเหลวของพรรคเหล่านี้ว่าเป็นมาอย่างไร