ช่วงเวลานี้เมื่อปี 2558 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘กองทัพบก’ กำลังขะมักเขม้น ดำเนินการเร่งเปิด ‘อุทยานราชภักดิ์’ ศุนย์รงมพระบรมราชานุสาวรีย์ ‘มหาราช’ อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เหตุที่ต้องรีบเร่งดูเหมือนว่าเป็นเพราะ ‘ผู้ใหญ่’ ในกองทัพ ต้องเร่งดำเนินการก่อนจะเกษียณอายุราชการ ในเดือนตุลาคม 2558 และหากทำได้ นั่นหมายถึง ‘มรดก’ ที่เขาทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังและกับกองทัพบก

แต่เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น หลังเปิดดำเนินการไปได้สักระยะ เรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ก็ถูกเปิดโปง ภายหลังผู้บัญชาการทหารบกเปลี่ยนมือ และหลังจากเกิดกรณีของ หมอหยอง-สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ สารวัตรเอี้ยด-พันตำรวจตรี ปรากรม วารุณประภา สองผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกจับ-เสียชีวิตในคุกไม่นาน จนดูเหมือนจะโยงมาถึงกรณี ‘ราชภักดิ์’ ได้

เรื่องไม่ชอบมาพากลที่ถูกแพลมออกมา ตั้งแต่การตระเวนเรียกค่าหัวคิวโรงหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ การทุจริตในโครงการระดมทุนจัดโต๊ะจีน การจัดซื้อต้นปาล์มในราคาแพง ไปจนถึงการที่มีชื่อของนายทหารระดับสูงพัวพันกับขบวนการเหล่านี้

แน่นอน เรื่องนี้กองทัพบกไม่เคยเอาผิดใครได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าทุกอย่างปกติ และคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็บอกว่าไม่มีอะไร

แต่ในคำยืนยันเหล่านี้ ผลปรากฏว่ามีนายทหารอย่างน้อย 2 คน ต้องหนีออกนอกประเทศ ขอลี้ภัยในต่างประเทศ ด้วยข้อหาที่อธิบายไม่ได้

ผ่านมานาน 7 ปี อุทยานราชภักดิ์ยังคงไม่ได้ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง แทบไม่ได้ใช้งานอะไร และพิพิธภัณฑ์ที่วาดแผนไว้สวยหรูก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง การเป็นสถานที่แห่งความจงรักภักดีถึงทุกวันนี้ แต่ละวันแทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน

b-holder ชวนย้อนดู ‘ตำนาน’ ของการก่อสร้าง และบรรดาเรื่องราวไม่ชอบมาพากลในโครงการใหญ่ของกองทัพบก และร่วมกันพยายามแกะรอยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเอาผิดใครไม่ได้สักคน