กระแสข่าวการตั้งพรรคทหารเป็นเรื่องที่พูดถึงกันอยู่เป็นระยะ นับตั้งแต่ คสช. เข้ามาปกครองประเทศ ที่จนถึงตอนนี้ก็กินเวลาสามปีครึ่งแล้ว แม้ข่าวพรรคทหารจะไม่ใช่ข่าวใหญ่โตจนคนทั้งสังคมต้องหันมาสนใจ แต่ก็สังเกตได้ว่า ข่าวพรรคทหารไม่เคยเงียบหาย จะโผล่มาให้ได้ยินเป็นพักๆ ราวกับตั้งใจลองเชิงหรือหยั่งกระแสสังคมเพื่อรอโอกาสอันเหมาะสม

ล่าสุด ข่าวพรรคทหารก็กลับมายึดพื้นที่สื่อได้อีกครั้ง เมื่อมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่างชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และวัชระ เพชรทอง ออกมากล่าวโจมตีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่ากำลังสบคบคิดวางแผนตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนทหาร

โดยนายวัชระกล่าวว่า “พรรคของทหารที่เตรียมจัดตั้ง จะใช้ชื่อว่า พรรคประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคใหม่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้ เพื่อสานต่อภารกิจ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป” (จากรายงานของโพสต์ทูเดย์)

จากกระแสข่าวพรรคทหารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีสิ่งที่น่าพิจารณาอยู่หลายเรื่อง ในบทความนี้จะขอยกมานำเสนอในรูปแบบคำถาม สี่คำถาม

1. พรรคทหารมีลักษณะอย่างไร

ความหมายแบบสั้นๆ ของคำว่า พรรคทหาร ก็คือพรรคที่ดำเนินงานเสมือนเป็นตัวแทนของกองทัพในเวทีการเมือง นั่นคือ แทนที่กองทัพจะเล่นการเมืองเองโดยตรง (ซึ่งปกติแล้วทำไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย) ก็เปลี่ยนเป็นให้การสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคแทน

ดังนั้น สิ่งที่เรียกกันว่า พรรคทหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าทหารจะเข้ามาเป็นสมาชิกหรือเป็นผู้นำพรรคเสียเอง จริงๆ แล้วพรรคทหารก็คือพรรคที่มีสมาชิกเป็นนักการเมืองพลเรือน แต่อยู่ได้ด้วยแรงหนุนจากกองทัพเป็นหลัก ยิ่งถ้าพรรคมีเป้าหมายต้องการจะมีที่นั่งในสภาจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งต้องมองหาคนที่มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วมาเป็นสมาชิก ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าในที่สุดแล้วพรรคทหารจะมีสมาชิกเป็นนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่เรารู้จักกันดี

2. ทำไมต้องตั้งพรรคใหม่ แทนที่จะหนุนพรรคอื่นที่มีอยู่แล้ว

คำถามนี้สำคัญ เพราะการจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงไม่น้อย พรรคการเมืองที่เกิดใหม่ไม่ได้มีผลงานหรือชื่อเสียงที่ประชาชนจะจดจำได้เทียบเท่ากับพรรคที่มีอยู่แล้ว ยิ่งในสนามเลือกตั้ง การจะทำให้ชื่อพรรค รวมถึงสัญลักษณ์ นโยบาย และคำขวัญของพรรคติดตลาดได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นก็น่าคิดว่า ถ้าตั้งพรรคใหม่ต้องใช้ความพยายามมากเช่นนี้ สู้ไปหนุนพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วไม่ง่ายกว่าหรือ

ในเรื่องนี้ พ.อ. สุชาติ จันทรโชติกุล ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยไว้ว่า การตั้งพรรคขึ้นมาใหม่จะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกับทหารมากกว่า ส่วนพรรคที่มีอยู่แล้วอาจจะมีผลประโยชน์บางอย่างของตัวเองอยู่ ถึงทหารจะไปสนับสนุนก็คงมีความสัมพันธ์กันแบบไม่สนิทใจเท่ากับการตั้งพรรคขึ้นมาเอง

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำถามตามมาว่า แล้วพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะเอาฐานเสียงมาจากไหน เพราะถ้าเชื่อตาม พ.อ. สุชาติ ก็แปลว่าพรรคใหม่นี้จะต้องไม่เอานักการเมืองหน้าเก่าที่ห่วงผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าพรรคทหารจะต้องไปแข่งขันกับพรรคเจ้าถิ่นดั้งเดิมที่กุมความได้เปรียบเอาไว้ทุกด้าน

การตั้งพรรคขึ้นมาใหม่จะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกับทหารมากกว่า
ส่วนพรรคที่มีอยู่แล้วอาจจะมีผลประโยชน์บางอย่างของตัวเองอยู่
ถึงทหารจะไปสนับสนุนก็คงมีความสัมพันธ์กันแบบไม่สนิทใจ
เท่ากับการตั้งพรรคขึ้นมาเอง

ขณะเดียวกัน ถ้าประเมินจากเสียงวิจารณ์ของนายชวน นายอภิสิทธิ์ และนายวัชระ ก็เห็นได้ว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์เองก็กังวลไม่น้อยเกี่ยวกับข่าวการตั้งพรรคทหาร เพราะถ้าพรรคทหารชูจุดขายในการต่อต้านทักษิณและสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปดังที่มีการคาดกัน ก็หมายความว่าพรรคทหารจะเข้ามาแย่งคะแนนเสียงของประชาชนกลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณไปจากประชาธิปัตย์ ซึ่งเรื่องนี้น่าคิดว่า ทางฝั่งทหารเองประเมินไว้ดีแล้วหรือไม่ เพราะถ้าพรรคทหารกับประชาธิปัตย์ต้องแย่งคะแนนเสียงกันเองก็กลับอาจจะเป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทย แต่หากทหารจับมือกับประชาธิปัตย์ก็น่าจะมีโอกาสชนะพรรคเพื่อไทยได้มากกว่า

“พรรคของทหารที่เตรียมจัดตั้ง จะใช้ชื่อว่า พรรคประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคใหม่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้ เพื่อสานต่อภารกิจ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป”

3. พรรคทหารจะมีพรรคเดียว หรือหลายพรรค

เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งที่จนถึงตอนนี้ ข่าวเกี่ยวกับพรรคทหารที่เราได้ยินกันนั้น ไม่ได้บอกว่าจะมีพรรคทหารแค่พรรคเดียว แต่มีบุคคลหลายกลุ่มที่มีข่าวเกี่ยวโยงกับแนวโน้มการตั้งพรรคทหาร ข่าวที่ออกมายังชี้ชวนให้เข้าใจว่า จะมีการตั้งพรรคทหารขึ้นมามากกว่าหนึ่งพรรค

สำหรับกลุ่มคนที่มีข่าวพัวพันกับเรื่องการตั้งพรรคทหาร ก็มีตั้งแต่กลุ่มของไพบูลย์ นิติตะวัน กลุ่มของอดีต สปท. (สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ) ที่นำโดย พล.อ. ธวัชชัย สมุทรสาคร แต่กลุ่มที่มีข่าวมากที่สุดในตอนนี้ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีชื่อนักการเมืองดังอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละกลุ่มก็อ้างตัวหรือถูกอ้างว่าจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนบทบาทของกองทัพและ พล.อ.ประยุทธ์ในทางการเมืองต่อไป

ข่าวที่ออกมาเป็นกระแสคนละทิศละทางเช่นนี้ ชวนให้คิดว่า บรรดาบุคคลที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับพรรคทหารน่าจะมีทั้งตัวจริงและตัวหลอก บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการตั้งพรรคจริง แต่ออกมาให้ข่าวด้วยเป้าหมายอะไรบางอย่าง เพราะยากที่จะเชื่อว่า ทุกกลุ่มคิดจะตั้งพรรคทหารขึ้นมาแข่งกันเองให้ลำบากเสียเปล่าๆ นอกเสียจากว่าพวกเขาจะมั่นใจว่าแต่ละพรรคจะรวมพลังกันตัดคะแนนของพรรคเพื่อไทยได้จริง

4. พรรคทหารมีผลเสียต่อประชาธิปไตยอย่างไร

ในสายตาของผู้นิยมประชาธิปไตย พรรคทหารย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะถึงแม้พรรคทหารจะเข้ามาแข่งขันในสนามเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยก็ตาม แต่การที่พรรคทหารเป็นเครื่องมือของกองทัพในการแสวงหาอำนาจทางการเมืองก็เท่ากับว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ต้องกีดกันกองทัพออกจากการเมือง ส่วนในสายตาของพรรคทหารเองก็อาจจะอ้างว่าพรรคเสนอตัวมาให้ประชาชนตัดสินในสนามเลือกตั้ง ดังนั้นถ้าประชาชนลงคะแนนให้ก็จะถูกนำมาอ้างความชอบธรรมได้ ส่วนกองทัพก็อาจจะกล้าแสดงบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผยมากขึ้นถ้าพรรคทหารได้รับความนิยมจากประชาชน

นอกจากนี้ ประสบการณ์จากต่างประเทศยังชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองที่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจจากระบอบเผด็จการยังมักจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของบุคคลที่เคยเป็นใหญ่ในระบอบดังกล่าว เช่น ไม่ดำเนินคดีกับบุคคลที่เคยทำผิดในยุครัฐบาลเผด็จการ ส่วนในประเทศไทยเอง ปัญหาของการที่ผู้มีอำนาจมักจะหลุดรอดจากการถูกลงโทษ หรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) ก็เป็นปัญหาสำคัญมานาน หากไม่มีการลงโทษผู้มีอำนาจได้จริง ก็ไม่เกิดบทเรียนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดอีก

ดังนั้น ถ้าพรรคทหารสามารถขึ้นมามีอำนาจได้ ก็อาจจะช่วยให้บุคคลในระบอบปัจจุบันไม่ต้องรับโทษใดๆ จากความผิดที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้นิยมชมชอบประชาธิปไตยก็น่าจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

Tags: , , , , , ,